แนะวิธีแยกตัวเงินตัวทองกับจระเข้ รับสถานการณ์น้ำท่วม

แนะวิธีแยกตัวเงินตัวทองกับจระเข้ รับสถานการณ์น้ำท่วม

แนะวิธีแยกตัวเงินตัวทองกับจระเข้ รับสถานการณ์น้ำท่วม


หากลองถามหลายๆ คนว่าช่วงน้ำท่วมแบบนี้กลัวสัตว์ชนิดใดมากที่สุด? แน่นอนว่า“จระเข้”ต้องเป็นคำตอบยอดฮิตอันดับต้นๆ แน่นอน

เนื่องจากทัศนคติที่เราได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ ทั้งพ่อ แม่ และสื่อในช่องทางต่างๆ บวกกับรูปลักษณ์และอุปนิสัยของเจ้าจระเข้ที่ไม่น่ารักและเชื่องเท่ากับสัตว์ชนิดอื่น  เมื่อมีข่าวออกมาว่า “จระเข้”หลุด ก็ไม่แปลกที่ประชาชนจะวิตกกังวล บางรายได้ยินเสียงกระเพื่อมของน้ำก็ใจเสียแล้ว แต่ก่อนที่เราจะตกใจไปก็อย่าลืมว่านอกจากจระเข้แล้วยังมีสัตว์ทั้งมีพิษละไม่มีพิษปะปนมากับกระแสน้ำเช่นกัน ดังนั้นจึงควรสังเกตและตอบตัวเองให้ชัวร์ก่อนว่าสัตว์ที่คุณเห็นนั้น “คืออะไร”

ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง บอกว่า  ที่ผ่านมามีผู้พบเห็นจระเข้และโทรแจ้งเข้ามาที่ศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมประมง จำนวนมากแต่เมื่อกรมฯจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปซุ่มดู กลับพบว่าจระเข้ที่โทรแจ้งนั้นแท้จริงแล้วเป็นตัวเงินตัวทอง (เหี้ย) นั่นเอง อีกทั้งบางสถานที่ที่ได้รับแจ้งเจ้าหน้าที่ได้สอบถามชาวบ้านว่า เห็นตัวจระเข้ชัดเจนเลยหรือไม่ บ้างตอบว่า เห็นลอยหัวครู่เดียวก็ดำน้ำหนีไปบ้างก็บอกว่าเห็นไกลๆ เป็นลูกจระเข้ว่ายน้ำเร็วมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการให้ผู้พบเห็นแน่ใจว่าสิ่งที่คุณเห็นเป็นจระเข้จริง ทางกรมประมงขอแนะวิธีสังเกตเบื้องต้นอย่างง่ายๆ ดังนี้

พฤติกรรม จระเข้      
       
1. ขณะว่ายน้ำ ตัวนิ่ง มีเฉพาะส่วนหางเท่านั้นที่เคลื่อนไหว

2. ขณะหยุดนิ่ง (ช่วงเวลาที่อยู่ในน้ำ) จะมีเฉพาะส่วนจมูก (ก้อนขี้หมา) และตาเท่านั้นที่โผล่เหนือน้ำ      

3. บริเวณที่มักพบ พบได้ง่ายในเวลากลางคืน     

พฤติกรรม ตัวเงินตัวทอง (เหี้ย)

1. ขณะว่ายน้ำ เคลื่อนไหวทั้งตัว เป็นรูปตัว Sระหว่างว่ายน้ำหัวจะมองซ้าย-ขวา ตลอดเวลา และแลบลิ้นเป็นระยะๆ

2. ขณะหยุดนิ่ง (ช่วงเวลาที่อยู่ในน้ำ) สามารถมองเห็นส่วนหัวทั้งหมดได้อย่างชัดเจน

3. บริเวณที่มักพบ จะพบเห็นได้ทั้งวันตามแหล่งอาหารโดยเฉพาะตามแหล่งอาหารที่เน่าเปื่อยหรือบริเวณต้นไม้ (เนื่องจากสามารถปีนต้นไม้ได้)
     
สำหรับจระเข้ที่หลุดนั้นจากการตรวจสอบและที่รับแจ้งมามักจะอยู่ตามกองไม้ พงหญ้า หรือบ้านที่ถูกกระแสน้ำพัดจนพัง 

หากเราพบเจอจระเข้ช่วงกลางวันไม่ค่อยมีปัญหาเพราะถ้ามันเห็นคนก็จะตกใจและหนีไปเอง แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือช่วงเวลากลางคืนเพราะสัญชาตญาณจระเข้จะออกหากินในเวลากลางคืน  อยากเตือนประชาชนว่าตอนกลางคืนหากไม่จำเป็นไม่ควรเดินลุยน้ำเข้าไปในบริเวณพงหญ้าหรือกองไม้   เมื่อสังเกตจนมั่นใจแล้วว่าเป็นจระเข้ขอให้ผู้พบเห็นรีบโทรแจ้ง ศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมประมง โทร.02 -562-0546 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์