แนะอุบัติภัยจากพายุฤดูร้อน..ป้องกันได้ ถ้ารู้จักรับมือ

แนะอุบัติภัยจากพายุฤดูร้อน..ป้องกันได้ ถ้ารู้จักรับมือ

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคมของทุกปี หลายพื้นที่ของประเทศไทยมักเกิดพายุฤดูร้อน ซึ่งจะมีลักษณะของสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างรวดเร็ว พายุฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง และฟ้าผ่า สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)ขอแนะวิธีรับมือและวิธีปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันอันตรายจากพายุฤดูร้อน ดังนี้

ก่อนเกิดภัย ตรวจสอบสภาพบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง โดยเพิ่มที่ค้ำยันยึดติดประตู หน้าต่างและหลังคาเรือน เพราะหากเกิดลมพายุพัดอย่างรุนแรง จะทำให้หลังคาบ้านได้รับความเสียหาย สำรวจต้นไม้บริเวณรอบบ้าน ตัดแต่งกิ่งไม้ หากพบต้นไม้ที่ไม่แข็งแรง เช่น โคนรากลอย ไม่ยึดติดหน้าดิน ต้นไม้ที่มีอายุมาก และอยู่ในสภาพยืนต้นตาย เป็นต้น ให้จัดการโค่นทิ้ง เพราะเมื่อโดนพายุจะหักโค่นได้ง่าย จึงเสี่ยงต่อการล้มทับบ้านเรือน นอกจากนี้ควรร่วมเป็นหูเป็น หากพบป้ายโฆษณา สิ่งปลูกสร้างในพื้นที่สาธารณะหรือริมข้างถนนอยู่ในสภาพไม่ปลอดภัย เสาไฟฟ้าใกล้ล้ม สายไฟฟ้าขาดพาดกิ่งไม้ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินการแก้ไขต่อไป ตลอดจนหมั่นติดตามสภาวะอากาศและคำเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา หากมีประกาศเตือนภัยพายุฤดูร้อน ให้รีบจัดเก็บสิ่งของที่มีน้ำหนักเบา และสามารถปลิวตามลมได้ไว้ในที่มิดชิด

ขณะเกิดภัย ให้เข้าไปหลบในอาคารหรือบ้านเรือนที่มั่นคงแข็งแรง ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท เพื่อป้องกันแรงลมหอบพัดบ้านเรือนพังเสียหายและสิ่งของปลิวเข้ามากระแทกหากอยู่ในที่โล่งแจ้ง ควรอยู่ให้ห่างจากต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพราะนอกจากจะได้รับอันตรายจากการถูกล้มทับแล้ว ยังเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าอีกด้วย ไม่สวมใส่เครื่องประดับที่เป็นโลหะ เช่น เงิน ทองคำ ทองแดง ห้ามอยู่ใกล้หรือใช้อุปกรณ์ที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์สาธารณะ รวมถึงห้ามประกอบกิจกรรมทุกประเภทในที่โล่งแจ้ง เพราะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่า กรณีพบเสาไฟฟ้าล้มทับหรือสายไฟฟ้าขาด ห้ามเข้าใกล้เสาไฟฟ้า ห้ามสัมผัสหรือใช้ไม้เขี่ยสายไฟฟ้าเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิต ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้ามาดำเนินการแก้ไขโดยด่วนต่อไป


ขอบคุณ วิชาการ ดอทคอม

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์