แพลงกิ้ง ข่าวฮิตวัยรุ่น เล่นสร้างสรรค์ แบ่งปันไอเดีย

'แพลงกิ้ง' ข่าวฮิตวัยรุ่น เล่นสร้างสรรค์ แบ่งปันไอเดีย


ข่าว“แพลงกิ้ง” ถูกวิจารณ์อย่างหนาหูในโลกออนไลน์ ถึงความอันตรายและกาลเทศะของการแชะภาพ แต่จากความนิยมในไทยได้สะท้อนภาพแฟชั่นที่ยังเป็นเพียงเปลือกนอกซึ่งรับมา สิ่งหนึ่งที่ยังขาดคือเนื้อในอันแฝงอยู่และน่าส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในแก่นแท้เพื่อส่วนรวม   
   
พงศกร อารีศิริไพศาล อาจารย์ประจำภาควิชาการโฆษณา คณะนิเทศ ศาสตร์ ม.กรุงเทพ มองว่า การถ่ายภาพ “แพลงกิ้ง” ต้นกำเนิดมาจากวัยรุ่นในประเทศอังกฤษถ่ายเล่นเพื่อความสนุกสนาน จากกระแสดังกล่าวในประเทศยุโรปทำให้แพร่กระจายมาสู่เอเชีย เช่น ออสเตรเลีย และไต้หวันที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อรณรงค์เรื่องสุนัขจรจัด
   
จากกระแสดังกล่าวที่เข้ามาในไทยเป็นผลจากแฟชั่นและมีคนต้นแบบที่มีชื่อเสียงถ่ายภาพลงในโลกออนไลน์ สิ่งที่ยังขาดคือ การสร้างเรื่องราวอย่างสร้างสรรค์ เช่น ไต้หวันนิยมไปถ่ายตามแหล่งท่องเที่ยวเพื่อเชิญชวนให้คนที่เห็นไปเที่ยวในสถานที่นั้น ผิดจากไทยที่รับกระแสมาเพื่อคลายเครียดเสียส่วนใหญ่ ปัญหาที่ตามมาคือการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ซึ่งผู้ที่ให้ลงภาพในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ควรมีข้อความเตือนให้ผู้ที่เข้ามาชมนำไปถ่ายเล่นโดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นหรือเป็นอันตรายต่อตัวเอง ขณะเดียวกันองค์กรภาครัฐ เช่น การท่องเที่ยวน่าจะใช้โอกาสนี้โปรโมตแหล่งท่องเที่ยวให้กับวัยรุ่น โดยจัดการประกวดถ่ายภาพ “แพลงกิ้ง” ประเภทต่าง ๆ
   
“ท่าแพลงกิ้ง คือ ท่านอนราบแขนชิดแนบลำตัวเหมือนเป็นการทำตัวแข็งตรง จะมีกฎของแต่ละกลุ่มที่กำหนดไว้โดยส่วนใหญ่จะเป็นการนอนเหมือนแกล้งตาย โดยส่วนประกอบภาพที่สำคัญ เช่น สถานที่จะถ่ายหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่นำมาเป็นส่วนประกอบ ระยะแรกที่ได้ความนิยมเนื่องจากมีการแข่งขันกันถ่ายลงเฟซบุ๊กเป็นที่สนุกสนานจนสามารถแพร่กระจายไปทั่วโลก”
   
จากกระแสความไม่เห็นด้วยที่ผ่านมาถือเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องรับฟัง ทุกอย่างขึ้นกับ ตัวผู้ที่ไปถ่ายที่จะต้องมีสำนึกในการไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น สำหรับผู้ใหญ่เองควรแนะนำลูกหลานไม่ให้ไปถ่ายในที่อันตราย ไม่ควรต่อต้านอย่างรุนแรงเพราะวัยรุ่นสมัยนี้ไม่ชอบการต่อต้าน เนื่องจากยิ่งต่อต้านมากเด็กจะแสดงออกอย่างรุนแรงมากขึ้น
   
ศิลปะของการถ่ายภาพ “แพลงกิ้ง” คือ ต้องใช้ความคิดมาก ตั้งแต่ก่อนถ่ายว่าจะไปถ่ายที่ไหนในมุมมองอะไร โดยผู้ที่ถ่ายต้องมีแนวคิดในการจับภาพในทิศทางที่มีมิติไม่ใช่แค่ภาพแนวขวาง ซึ่งพอถ่ายเสร็จแล้วต้องตั้งชื่อรูปแล้วจึงโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ให้เห็นว่ากว่าจะได้รูปนี้สักภาพต้องใช้ความคิดและไอเดียสูง เพราะภาพแบบนี้จะไม่เห็นหน้า แต่ต้องมีส่วนประกอบอื่น ๆ เข้ามาเสริมเพื่อให้ภาพเกิดลูกเล่นใหม่ ๆ
     
“การเตรียมตัวก่อนถ่ายภาพต้องมีการประเมินถึงสถานที่เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อตนเอง และต้องไม่ใส่เสื้อผ้าที่เมื่อลงไปนอนจะไม่เรียบร้อย จากความนิยมของท่าแพลงกิ้งทำให้เริ่มมีท่าใหม่เกิดขึ้นอย่างท่าสะพานโค้งที่จะเกิดกระแสฮิตเท่าหรือไม่ต้องคอยดู”
     

แพลงกิ้ง ข่าวฮิตวัยรุ่น เล่นสร้างสรรค์ แบ่งปันไอเดีย


ด้าน พิชชาภา กาเตชะ ผู้ดูแลเว็บไซต์ FACEDOWN.in.th ซึ่งเปิดขึ้นเพื่อโพสต์ภาพ “แพลงกิ้ง” บอกว่า เว็บไซต์ได้เปิดขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีใครรู้จักการนอนคว่ำ (แพลงกิ้ง) มีคนเข้ามาชมเว็บประมาณ 80-100 คน/วัน รูปนอนคว่ำที่โพสต์ลงเว็บจะมาจากทางบ้านเป็นส่วนน้อย เนื่องจากยังไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก แต่ก็ทำเว็บมาเรื่อย ๆ จนมาถึงจุดที่มีข่าวว่า ชายชาวต่างชาตินอนคว่ำแล้วตกตึกตาย ตอนนั้นคนเข้าชมเว็บเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,000-1,500 คน/วัน แต่สิ่งที่ตามมาคือความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยเช่น เป็นเรื่องไร้สาระ หรือสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน
   
“แรก ๆ ส่วนใหญ่เป็นชื่อเสียมากกว่าชื่อเสียง แต่ระยะ    หลัง ๆ นี้ ความนิยมเพิ่มขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก จากที่ไม่ค่อยมีใครส่งรูปเข้ามาก็มีมากขึ้น ประมาณวันละ 10-20 รูป คิดว่าหลังจากนี้ น่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น พร้อมกับไอเดียการนอนคว่ำในสถานที่ใหม่ ๆ ที่หลากหลายขึ้น”
   
เสน่ห์ของการถ่ายภาพโดยการนอนคว่ำอยู่ตรงที่เวลามีคนมาดูรูปนอนคว่ำตามสถานที่ต่าง ๆ แล้วชวนให้สงสัยว่า
ทำไปทำไม หรือกล้าได้อย่างไร คนที่อยากถ่ายรูปนอนคว่ำต้องมีความพร้อม 2 สิ่งคือ ความกล้าและกล้องพร้อม แล้วลงไปนอนถ่าย
    
หลักการโพสท่าที่ปฏิบัติตามกันมาคือ ผู้ถูกถ่ายต้องอยู่ในท่านอนคว่ำ มือแนบลำตัว ขาชิดกัน แต่สำหรับบางคนท่าไหนก็ได้ ขอให้อยู่ในลักษณะหน้าคว่ำลงไปก็พอ
   
หากพูดถึงลูกเล่น ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่ไปถ่าย ยกตัวอย่าง เช่น คนหนึ่งนอนถ่ายหน้าบ้านจะดูเป็นการนอนคว่ำธรรมดา เปรียบเทียบกับอีกคนหนึ่ง ไปถ่ายในสถานที่ที่คนพลุกพล่าน หรือถ่ายในท่ายากจะมีคนโหวตให้
   
ส่วนข้อควรระวังจะเกี่ยวกับความเสี่ยงของสถานที่ที่ไปถ่าย อย่างเช่น บนตึกสูง บนระเบียง บนถนน หรืออะไรก็ตาม   ที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ และอีกอย่างคือ ที่ที่คนพลุกพล่าน บางทีเราไปถ่ายอาจจะเกะกะทางเดินคนอื่น หรือไปทำให้ใครเดือดร้อน จึงขอให้ระมัดระวังตรงนี้ด้วย
   
อนาคตคนที่นิยมนอนคว่ำยังเป็นแค่คนกลุ่มเล็ก ๆ แต่มีแนวโน้มว่าจะมีคนรู้จักมากขึ้น ซึ่งน่าจะมีคนนิยมเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่ความจริงอย่างหนึ่งที่ต้องตระหนักก็คือ กิจกรรมแบบนี้ มักเป็นกิจกรรมที่นิยมทำกันเพียงระยะเวลาแค่ช่วงหนึ่ง พอมีกิจกรรมใหม่ ๆ เข้ามา อาจทำให้ความนิยมลดลงก็เป็นได้
   
ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีด้านบวกและด้านลบขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ ซึ่งความสุขในการแสดงออกสำคัญอย่างยิ่ง แต่ควรอยู่ในกรอบที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น.

นัยของ 'แพลงกิ้ง'

การทำท่าแพลงกิ้งในหมู่สาวไต้หวันส่วนหนึ่งเพื่อรณรงค์ให้ผู้คนหันมาสนใจสุนัขจรจัด และแหล่งท่องเที่ยวในไต้หวัน ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีในอินเทอร์เน็ต  
   
กฎเหล็ก 3 ข้อในการทำท่านี้คือ ไม่รบกวนชาวบ้าน ไม่เสี่ยงอันตราย       ไม่ทำลายสิ่งของสาธารณะ ซึ่งการนอนราบคว่ำหน้าบนพื้นที่แปลก ๆ คล้ายกับคนเสียชีวิตเป็นการทำท่าที่ยากพอสมควร เพราะต้องมีการจัดความสมดุลของร่างกายให้พอดี จากนั้นก็ถ่ายภาพ จนกลายเป็นเกมอย่างหนึ่งที่เล่นกันสนุกสนานแพร่หลายในโลกออนไลน์

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์