แอโรบิค ไม่ได้มีแค่เต้น

เคยสงสัยไหมว่า การทำงานที่หนักพอๆ กัน แต่ทำไมเพื่อนร่วมงานของคุณยังคงสดสใส กระปรี้กระเปร่า แข็งแรงไม่ป่วยง่าย ขณะที่ตัวคุณเองกลับเหนื่อยอ่อน เจ็บออดๆ แอ๊ดๆ อยู่บ่อยๆ

ไต่ถามไปส่วนใหญ่ก็มักจะได้คำตอบว่า โด๊ปร่างกายด้วยการออกกำลังกายให้ได้ทุกส่วน พร้อมทั้งเลือกกินอาหารที่ดี เมื่อทำทั้งสองสิ่งได้จะถือเป็นการเสริมสร้างสุขภาพทั้งตัวและหัวใจ

เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ นันทิวัต ธรรมหทัย ผู้จัดการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) ร่วมกับโรงพยาบาลเทพธารินทร์

โดย รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ จัดบรรยายและกิจกรรมพิเศษในหัวข้อ “Exercise for Active Lifestyle” เพื่อส่งเสริมการใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงและมีสุขภาพที่แข็งแรง รวมทั้งให้ข้อมูลการเลือกวิธีบริหารร่างกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายและรูปแบบการใช้ชีวิต

รศ.นพ.ปัญญา แนะนำว่า วิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉงไม่อยู่นิ่ง (Active Lifestyle) อย่างที่คนเมืองเป็นอยู่ทุกวันนี้ ควรหมั่นออกกำลังทางกาย
 
เคลื่อนไหวร่างกายในการทำกิจกรรมต่างๆ (Physical Activity) จนกลายเป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่มีความหนักของการออกกำลัง และระยะเวลาที่พอเหมาะสม นอกจากจะได้ผลโดยตรง คือมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังมีผลทางอ้อมคือ ช่วยผ่อนคลายความเครียดและความวิตกกังวลในใจ

"วงการแพทย์ทางด้านเวชศาสตร์การกีฬายอมรับว่า การออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมสุขภาพ สำหรับทุกเพศทุกวัย ควรเป็นกีฬาในกลุ่มของการออกกำลังกายแบบแอโรบิค เป็นการออกกำลังกายที่กระตุ้นให้อวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายได้ใช้ออกซิเจนจำนวนมากๆ อย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม โดยไม่เน้นเรื่องการแข่งขัน ทำให้อวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ปอด หลอดเลือดกล้ามเนื้อ ได้พัฒนาเพิ่มสมรรถภาพสูงขึ้น" รศ.นพ.ปัญญา กล่าว

การออกกำลังกายแบบแอโรบิค มีให้เลือกหลายวิธี ควรเลือกให้เหมาะกับสภาพร่างกาย อย่าง 'เดินเร็ว' เหมาะสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุหรือคนอ้วน เพราะมีแรงกระแทกน้อย การเดินควรเดินแบบเร็วกว่าเดินธรรมดาเล็กน้อย และใช้เวลาประมาณ  30-40 นาทีในการเดินแต่ละครั้ง จึงจะได้ผล นอกจากนี้ การเดินเร็วยังช่วยผ่อนคลายอารมณ์ ชมทิวทัศน์โดยรอบด้วย

แอโรบิค ไม่ได้มีแค่เต้น


ต่อมา 'วิ่งจ็อกกิ้ง' ที่นิยมกันมาก เพราะทำได้ง่ายๆ ควรเลือกใช้รองเท้าสำหรับการวิ่งโดยเฉพาะ จะช่วยลดแรงกระแทกที่เท้าเวลาวิ่ง แต่อาจไม่เหมาะกับคนที่เป็นโรคข้อเสื่อมหรืออ้วนมาก

หรืออาจเลือก 'ถีบจักรยานอยู่กับที่' ไม่มีแรงกระแทกที่เท้า เพราะอานรองนั่งของจักรยานนั้นได้รองรับน้ำหนักตัวตั้งแต่ศีรษะลงมาถึงสะโพก สามารถปรับความหนักได้โดยปรับปุ่มความฝืดของวงล้อและความเร็วในการถีบ ปัจจุบันมีชนิดที่โยกมือจับได้ด้วย ทำให้ได้ออกกำลังกายแขนพร้อมๆ กับขาได้สมดุลดี

วิธี 'เต้นแอโรบิค' เป็นการออกกำลังกายที่สนุกเพลิดเพลิน ผู้ที่ฝึกใหม่ๆ ควรปรับท่าเต้นให้มีการกระโดดน้อยลง สวมรองเท้าที่ผลิตมาเพื่อการเต้นแอโรบิคโดยตรง  ควรเต้นบนพื้นที่เรียบนุ่ม  และเลือกใช้เพลงประกอบการเต้นที่มีจังหวะไม่เร็วมากนัก

นอกจากนี้ยังมีวิธี 'ว่ายน้ำ' เป็นการออกกำลังกายที่ดีมาก เพราะได้บริหารกล้ามเนื้อทุกส่วนไปพร้อมกัน
 
สามารถปรับความหนักเบาของการออกกำลังกายได้ด้วยตัวเองจากความเร็วของการว่าย เนื่องจากน้ำมีแรงต้าน ถ้าว่ายเร็วน้ำ จะมีแรงต้านการเคลื่อนไหวมากตามไปด้วย  นับว่าเป็นการออกกำลังกายที่ลดโอกาสบาดเจ็บได้มาก เนื่องจากน้ำมีแรงพยุงตัวเราไว้ การว่ายน้ำเหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคข้อเสื่อมหรืออ้วนมาก

สุดท้าย รศ.นพ.ปัญญา ยังแนะด้วยว่า คนที่ยุ่งกับหน้าที่การงาน อาจปรับไลฟ์สไตล์ของตนเองให้ได้ออกแรงทำกิจกรรมทางกาย ลดการใช้เครื่องอำนวยความสะดวก โดยทำเป็นประจำสม่ำเสมอ ช่วยให้ร่างกายสดชื่น กระฉับกระเฉง เช่น เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ เดินไปกินข้าวก็เดินให้เร็วมากขึ้น จอดรถไกลสักหน่อยแล้วเดินต่อ หรือทำงานบ้านที่มีการเคลื่อนไหวมากขึ้น.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์