โรคกลิ่นตัวเหม็น

โรคกลิ่นตัวเหม็น


โรคกลิ่นตัวเหม็น

คอลัมน์ พบหมอรามา
ศ.ดร.อำนวย ถิฐาพันธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี


สัตว์โลกทุกชนิดรวมถึงมนุษย์ต่างก็มีกลิ่นตัวด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งเกิดจากสารเคมีที่ร่างกายขับออกมาทางเหงื่อ น้ำลาย ลมหายใจและทางปัสสาวะ สำหรับคนนั้น บางคนมีกลิ่นตัวหอมซึ่งนับว่าโชคดี แต่คนที่โชคร้ายคือคนที่มีกลิ่นตัวไม่สู้จะดีนัก

คนที่โชคร้ายและน่าสงสารที่สุดคือคนที่มีกลิ่นตัวเหม็น ถ้าเป็นมากเรียกว่า "โรคกลิ่นตัวเหม็น" หรือ Primary Trimethylaminuria เพราะจะมีกลิ่นตัวเหม็นคล้ายกลิ่นปลาเน่าและยังมีลมหายใจที่มีกลิ่นไม่พึงปรารถนาอีกด้วย จึงมักถูกเรียกว่า โรคกลิ่นปลาเน่า (Fish-Malodor Syndrome) ถูกสังคมและครอบครัวรังเกียจ บ่อยครั้งบุคคลเหล่านี้จะซึมเศร้าหรืออาจคิดฆ่าตัวตายได้

โรคกลิ่นตัวนั้นมีมานานแล้ว ในแถบยุโรปมีอุบัติการณ์เกิดโรคนี้ไม่น้อยกว่า 1% สำหรับประเทศไทยยังไม่ทราบอุบัติการณ์เกิดโรคนี้แน่นอน แต่มีผู้ป่วยมาพบแพทย์อยู่เรื่อยๆ บางรายแพทย์ต้องให้ยากล่อมประสาทยาคลายเครียด ซึ่งยาประเภทนี้นอกจากจะไม่ทำให้อาการของโรคทุเลาลงแล้ว กลิ่นตัวยังจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นด้วย

อาการกลิ่นตัวเหม็นของผู้ป่วยเกิดจากสารเคมีชื่อว่า "TMA" (Trimethylanine) ซึ่งได้มาจากอาหารบางชนิด สารตัวนี้จะระเหยได้ง่าย มีจุดเดือดเพียง 3 องศา และส่งกลิ่นแพร่ไปได้แม้มีปริมาณน้อยก็ตาม เมื่อเรารับประทานอาหารเข้าไป อาหารจะย่อยโดยจุลินทรีย์ (Bacteria) ที่มีอยู่มากบริเวณลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ แล้วเปลี่ยนไปเป็น TMA จากนั้นจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เข้าสู่ร่างกายไปถูกทำลายที่ตับ ในคนปกติตับจะใช้เอนไซม์ชื่อ FMO3 เปลี่ยน TMA ให้เป็น TMA-O ซึ่งละลายน้ำได้และไม่มีกลิ่นเหม็น และถูกกำจัดออกจากร่างกายตามเหงื่อ น้ำลาย ปัสสาวะ เป็นต้น

โรคกลิ่นตัวเหม็น เป็นโรคทางพันธุกรรมถ่ายทอดสู่ลูกหลานโดยวิธี autosomal recessive transmission ซึ่งเมื่อ FMO3 จะไม่ทำงานทำให้ TMA ไม่ถูกทำลาย มันจะถูกขับออกมาทางเหงื่อ และปัสสาวะส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว

วิธีรักษาที่ดีที่สุดคือ GENE THERAPY โดยขบวนการตัดต่อยีนส์แล้วนำ FM03 GENE ที่ตัดต่อได้ใส่เข้าไปในผู้ป่วย แต่เทคนิคนี้เพิ่งได้รับการพัฒนา ซึ่งคาดว่าในอนาคตน่าจะนำมาใช้ได้ ดังนั้น ในขั้นต้นสามารถบำบัดรักษาได้ดังนี้

1.ควบคุมอาหารโดยหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นแหล่งของ TMA เช่น ไข่แดง ตับ ถั่ว เนื้อสัตว์ สะตอ และทุเรียน

2.รับประทาน Fiagyl (Metronidazole) ขนาด 250 ม.ก. วันละ 3 ครั้งในเวลา 2 สัปดาห์ และรับประทาน Yakult หรือนมเปรี้ยว วันละ 2 ขวด เช้าและเย็น ซึ่งจะช่วยให้กลิ่นตัวเหม็นลงได้ แต่ยังไม่หายขาด ต้องรับประทานเป็นช่วงๆ ตามความจำเป็น

นอกจากนี้ต้องดูแลเรื่องสุขอนามัยของตนเองให้ดี หลีกเลี่ยงยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยาคลายเครียด ซึ่งจะทำให้กลิ่นตัวของผู้ป่วยทวีความรุนแรงมากขึ้นเพราะจะไปยับยั้งการทำงานของ FMO3 ซึ่งการทำงานของมันในผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์