โรคนิ้วล็อก ภัยเงียบมนุษย์เมือง ป้องกันได้ แค่เปลี่ยนพฤติกรรม

โรคนิ้วล็อก ภัยเงียบมนุษย์เมือง ป้องกันได้ แค่เปลี่ยนพฤติกรรม


มีคนเคยกล่าวว่า เมื่อเทคโนโลยีเจริญขึ้น ความสามารถในทางกายภาพของมนุษย์ จะลดลง กล่าวคือแม้ความก้าวหน้าทางการแพทย์จะทำให้อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ยืนยาวขึ้น


 แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง พบว่ามนุษย์ยุคใหม่นั้นแม้จะตายยาก แต่กลับแก่เร็ว และมีโรคเรื้อรังหลายอย่างคุกคาม ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ ความดัน เบาหวาน หรือโรคอ้วน ทั้งนี้..สาเหตุที่สำคัญเกิดจากวิถีชีวิตที่ เปลี่ยนไปจากมนุษย์ในอดีตหลายประการ

ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกินแบบ "จานด่วน" (FastFood) ที่ออกมาเพื่อตอบสนองชีวิตเร่งรีบของคนยุคปัจจุบัน การเดินทางในเมืองใหญ่ที่ต้องผจญกับปัญหาการจราจรติดขัดและอากาศเป็นพิษ รวมถึง วิถีชีวิตคนเมืองที่ผูกติดอยู่กับเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ ทั้งแท็บเลตและสมาร์ทโฟน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุของปัญหาทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของคนเมืองใหญ่ทั้งสิ้น ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่คนยุคนี้เป็นกันมากคือ "โรคนิ้วล็อก" (Trigger Finger) วันนี้สกู๊ปหน้า 5 จะพาไปรู้จักโรคนี้ รวมถึงวิธีป้องกันซึ่งทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องเจ็บตัวจากการผ่าตัด เผื่อผู้อ่านที่ต้องใช้มือทำโน่น นี่นั่นบ่อยๆ จะได้นำไปใช้รักษามือของตนให้อยู่ในสภาพดีไปนานๆ ได้บ้าง

"นิ้วล็อก" กับพฤติกรรมของคน

"โรคนิ้วล็อก สาเหตุจริงๆ มันเกิดมาจากพฤติกรรมการใช้มือผิดธรรมชาติไป อย่างในสมัยโบราณ โรคนิ้วล็อกนี้จะเรียกกันว่าโรคนิ้วไกปืน คือปืนสมัยโบราณจะเป็นปืนคาบศิลา หรือว่าใหม่หน่อยก็ ปลยบ.88 ซึ่งมีน้ำหนักค่อนข้างมาก ซึ่งคนที่เสี่ยง ต่อโรคนี้คือพวกที่มีอาชีพเกี่ยวกับการยิงปืน อย่างทหารหรือ นายพรานล่าสัตว์ ก็จะมีอาการของนิ้วล็อกเกิดขึ้น"

เป็นเสียงจาก นพ.วัฒนะ พันธุ์ม่วง นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย อธิบายถึงความเป็นมาของโรคดังกล่าว ซึ่งแต่เดิมเป็นกันเฉพาะอาชีพที่ต้องใช้กำลังมือเป็นพิเศษเท่านั้น โดยนอกจากทหาร ตำรวจ หรือนายพรานที่ต้องใช้อาวุธปืนบ่อยๆ แล้ว ก็ยังมีอีกหลายอาชีพที่เสี่ยง เช่น เกษตรกรที่ต้องกำจอบ เสียม เคียวเกี่ยวข้าวเป็นประจำ หรือช่างสาขาต่างๆ ที่ต้องจับเครื่องมือช่างเป็นเวลานานๆ เช่น ค้อน เลื่อย ไขควง ฯลฯ กล่าวโดยสรุป คือโรคนี้เกิดจากการใช้มือทำงานหนักเกินไปนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่าคนเมือง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร ป่วยเป็นโรคนิ้วล็อกกันมากขึ้น ซึ่ง นพ.วัฒนะ อธิบายว่าสาเหตุสำคัญประการแรก มาจากสังคมเมืองที่ผู้คน ส่วนใหญ่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ทั้งการใช้ทำงานหรือเล่นเกม และรวมไปถึงสุภาพสตรีที่ชอบช็อปปิ้ง แล้วถือถุงใส่ของอย่างไม่ถูกวิธีอีกด้วย

"สาวๆ ที่ชอบช็อปปิ้งทั้งหลาย เวลาเราหิ้วถุงก๊อบแก๊ปก็จะคล้องใส่นิ้วแล้วก็ถือกันเป็นพวง บางคนนี่ช็อปเก่งมาก เล่นคล้องใส่กันทุกนิ้วเลย ไม่ใช่ข้างเดียวแต่เป็น 2 ข้างอีกต่างหาก ดังนั้นฝากเตือนแม่บ้าน เตือนคุณสุภาพสตรีทั้งหลายที่ชอบช็อปปิ้งด้วยนะครับ อย่างเวลาเราหิ้วถุง ก็ให้เอาหูถุงคล้องเข้าไปที่ฝ่ามือ คือกลางฝ่ามือเลยนะครับ อย่าไปคล้องที่ข้อนิ้ว กับอีกกลุ่มหนึ่งคือพวกที่ชอบเล่นเกมคอมพิวเตอร์ บางคนเล่นกันทั้งวันทั้งคืนเลย หรือคนที่ทำงาน ตื่นเช้ามาแปดโมงครึ่งถึงห้าโมงเย็น เราจะอยู่หน้าคอมพ์ตลอด แบบนี้ก็เสี่ยงต่อนิ้วล็อกได้เช่นกัน" นพ.วัฒนะ กล่าว

สาเหตุ-อาการและการรักษาในปัจจุบัน

นพ.วัฒนะ เล่าต่อไปให้เราเห็นภาพว่า การใช้มือทำงานหนักเกินไปทำให้เกิดอาการนิ้วล็อกได้อย่างไร โดยระบบกายวิภาคของร่างกายนั้น การที่นิ้วของคนเราขยับได้ เนื่องจากเส้นเอ็นที่เปรียบเสมือนเส้นเชือก วิ่งผ่านฝ่ามือไปที่นิ้ว ซึ่งจะต้องผ่านกระดูกข้อนิ้วที่เปรียบเสมือนลูกรอก ซึ่งถ้าเส้นเอ็นมีอาการบาดเจ็บหรืออักเสบ ก็จะมีอาการบวม ทำให้ไม่สามารถวิ่งผ่านข้อ เหมือนกับเชือกที่เส้นใหญ่กว่าลูกรอก ก็ไม่สามารถวิ่งผ่านลูกรอกไปได้ ก็จะค้างอยู่อย่างนั้น

ส่วนอาการของนิ้วล็อก ส่วนใหญ่จะปวดนิ้ว ปวดข้อนิ้ว ซึ่งเป็นได้ทุกนิ้ว ตั้งแต่โคนนิ้ว ข้อกลางจนถึงปลายนิ้ว แต่อาการ ที่ชัดเจน คือไม่สามารถกำมือให้นิ้วชนกับฝ่ามือได้ หรือกลับกัน บางคน ที่กำมืออยู่ก็ไม่สามารถแบมือได้

ทั้งนี้เราสามารถแบ่งอาการของโรคนิ้วล็อกได้เป็น 4 ระยะคือ

1.ระยะแรก จะเริ่มจากการปวดข้อนิ้วก่อน

2.ระยะที่สอง นิ้วจะเริ่มอ่อนกำลังลง อาจจะมีอาการชาที่ปลายนิ้วร่วมด้วย 3.ระยะที่สาม จะเริ่มมีอาการนิ้วติด กำมือหรือแบมือ ได้ลำบาก โดยอาการจะชัดเจนมากในช่วงเช้าเมื่อตื่นนอนใหม่ๆ

4.ระยะที่สี่หรือระยะสุดท้าย เป็นระยะที่อาการหนักสุด คือนิ้วจะเกร็ง ไม่สามารถกำมือ หรือเหยียดมือได้ เพราะเส้นเอ็น ไม่สามารถผ่านกระดูกที่เป็นลูกรอกได้ ซึ่งผู้ที่เป็นถึงระยะนี้ จะส่งผล ต่อการใช้ชีวิตมาก โดยเฉพาะถ้าเกิดกับมือขวาที่เป็นมือข้างถนัดของคนส่วนใหญ่ทั่วไป ทั้งนี้ สำหรับการแพทย์แผนปัจจุบัน การรักษาอาการนิ้วล็อกนั้นจะเริ่มตั้งแต่ให้ยาแก้ปวด ทำกายภาพบำบัด ฉีดยาแก้อักเสบเข้าที่นิ้ว จนไปถึงการผ่าตัดเป็นวิธีสุดท้าย

"ในแพทย์แผนปัจจุบัน ถ้าไปพบหมอที่เชี่ยวชาญโรคกระดูก ก็จะเริ่มจากการให้ยาแก้ปวด เพราะส่วนใหญ่คนไข้มาด้วยอาการปวด ตั้งแต่พาราเซตามอล ไปยังตัวยาที่แรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีผลข้างเคียง บางคนปวดท้องเพราะยาบางตัวมีฤทธิ์กัดกระเพาะ บางคนแพ้ยามีผื่นขึ้นตามตัว จากนั้นถ้ากินยาแก้ปวดแล้วไม่หาย หมอก็จะให้ไปทำกายภาพบำบัด โดยแช่ในอ่างพาราฟินเหลว ซึ่งพาราฟินจะหุ้มข้อมือ จากนั้นก็ลอกแผ่นพาราฟินออกก่อนที่นักกายภาพจะค่อยๆ ดัดนิ้วไปมา

แต่ถ้ายังไม่หาย คราวนี้ฉีดยา โดยจะฉีดเข้าทางโคนนิ้ว เพราะ สาเหตุมาจากเอ็นที่ข้อนิ้วมันบวม จึงต้องฉีดยาเพื่อลดบวมของเส้นเอ็น คนไข้ก็จะรู้สึกดีขึ้น ปัญหาคือยาฉีดมีฤทธิ์ไม่นาน บางคน อยู่ได้เป็นเดือน บางคนอยู่ได้แค่อาทิตย์เดียว ทั้งนี้ยาดังกล่าวมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ซึ่งมีผลข้างเคียงคือถ้าใช้บ่อยๆ เส้นเอ็น จะเปื่อยยุ่ยง่าย ทำให้ฉีดได้แค่ 2-3 ครั้ง จากนั้นก็จะต้องผ่าตัด ด้วยวิธีกรีดที่โคนนิ้ว เพื่อขูดลอกบริเวณเส้นเอ็นที่บวม หรือที่เรียกกันว่าลอกพังผืด เพื่อให้เส้นเอ็นขยับได้ก่อนจะเย็บแผลกลับคืน" นพ.วัฒนะ กล่าว

เปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรค

อนึ่ง...แม้จะมีการรักษาจนถึงขั้นผ่าตัดลอกพังผืด แต่ผู้ป่วยหลายรายเมื่อกลับบ้านไปสักพัก ก็มักจะกลับมามีอาการนิ้วล็อกเกิดขึ้นอีก ทั้งนี้เพราะพฤติกรรมของผู้ป่วยไม่เปลี่ยนไปจากเดิม คือยังใช้มือทำงานหนักเกินกำลัง หรือใช้มือไม่ถูกวิธีอยู่ ซึ่งเรื่องนี้ นพ.วัฒนะได้แนะนำวิธีดูแลรักษามือของเราแบบง่ายๆ โดยไม่ต้องไปเสียค่าใช้จ่ายซื้อยาแพงๆ หรือไม่ต้องรอให้อาการรุนแรงจนต้องไปผ่าตัดแต่อย่างใด

"เรื่องของพฤติกรรม คือเราต้องใช้มือให้ถูกต้อง คืออาชีพต่างๆ อย่างชาวนากำจอบ กำเสียม ทำได้ แต่พักบ้าง ให้มือมันได้ผ่อนคลาย อย่างในท้องนาจะมีโคลนอุ่นๆ ก็ให้เอามือแช่โคลนบ้าง ความอุ่นของโคลนจะช่วยให้มือรู้สึกผ่อนคลายขึ้นได้ หรืออย่างคน ในเมือง ก็ให้แช่มือในน้ำอุ่น แช่แค่วันละครั้งก็พอ แช่จนน้ำเริ่มเย็น มือจะรู้สึกสบายขึ้น เพราะความร้อนทำให้เส้นเอ็นคลายตัวออก"นพ.วัฒนะ กล่าวทิ้งท้าย

ปัญหานิ้วล็อก แม้จะไม่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม โรคนิ้วล็อกสามารถป้องกันได้ง่ายๆ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้มือ มิให้ฝืนธรรมชาติ จนเกินไป อนึ่ง...การรักษาโรคนิ้วล็อก นอกจากการแพทย์ แผนปัจจุบันแล้ว แพทย์แผนโบราณไม่ว่าไทยหรือจีนก็กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น ไม่ว่าการนวดกดจุดหรือการฝังเข็ม

โดยเฉพาะนวดกดจุดของแพทย์แผนไทย ทางสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย มีงานวิจัยพบว่านวดแผนไทยที่ใช้หลักการไล่ลมปราณที่ติดขัดอยู่ตามข้อ สามารถรักษาโรคนิ้วล็อกได้ เช่นเดียวกัน ล่าสุดเพิ่งจะได้รับรางวัลจากการประชุมวิชาการ ของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2555 ซึ่งในอนาคตอันใกล้ จะมีการตั้งโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยแบบผสมผสาน ระหว่างแพทย์แผนไทย แพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์ทางเลือกอื่นๆ โดยใช้อาคาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เดิม ที่ตั้งอยู่ย่านยศเส ทั้งนี้จะพร้อมให้บริการในเดือนมกราคม พ.ศ.2556

แต่ถึงกระนั้น ไม่ว่าโรคใดๆ ก็ตาม สิ่งที่ดีที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้ป่วย ดีกว่าต้องป่วยแล้วเสียเงิน เสียเวลากับการรักษา และต้องทุกข์ทรมานกับอาการป่วยให้เสียสุขภาพจิตอีกต่างหาก


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์