โรคมะเร็ง 1 (ต่อ)





มะเร็งคืออะไร





[ ขยายดูภาพใหญ่ ]



ก้อน ตุ่ม ไต ที่ผิดปกติที่ปรากฏภายในหรือบริเวณผิวหนังของร่างกายเรียกรวม ๆ กันว่า "เนื้องอก" (neoplasm, neoplasia, new growth, tumour) เนื้องอกนี้เกิดขึ้นมาใหม่จากเนื้อเยื่อของร่างกาย อยู่นอกเหนือการควบคุมของร่างกาย และไม่มีประโยชน์หรือมีโทษต่อร่างกาย
เนื้องอกแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ
๑. เนื้องอกชนิดธรรมดา (benign tumour) โดยปกติจะมีผลต่อร่างกายน้อยมาก นอกจาก
ก. เกิดในอวัยวะที่มีเนื้อที่จำกัด เช่น ภายในสมอง ทำให้เกิดการกดดันต่อเนื้อสมองปกติโดยรอบอย่างมาก ทำให้เสียชีวิตได้
ข. เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ก้อนเนื้องอกที่มีก้านอาจจะบิดตัว ทำให้เกิดความเจ็บปวด เกิดการเน่าตายของก้อนเนื้องอก มีเลือดออก หรือมีการติดเชื้อได้
ค. เนื้องอกที่มีการสร้างฮอร์โมน เช่น เนื้องอกของต่อมใต้สมอง ต่อมหมวกไต ตับอ่อน เป็นต้น ทำให้ร่างกายมีการผิดปกติในระบบฮอร์โมนเป็นอย่างมาก
ง. เนื้องอกชนิดธรรมดาอาจจะกลายเป็นมะเร็งได้
๒. เนื้องอกชนิดร้าย (malignant tumour) หรือที่เรียกันทั่ว ๆ ไปว่า "มะเร็ง" (cancer) นั่นเอง แขนงวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับมะเร็งเรียกว่า "เนื้องอกวิทยา" (oncology) ซึ่งมาจากภาษากรีก onkos แปลว่า tumour หรือ mass และคำว่า cancer แปลว่าปู มะเร็งอาจจะเกิดในลักษณะที่เป็นก้อนมะเร็ง หรืออาจจะเกิดในลักษณะที่เซลล์มะเร็งกระจายไปทั่วระบบอวัยวะนั้น ๆ อาทิ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว เซลล์มะเร็งจะกระจายไปทั่วระบบการไหลเวียนเลือด เป็นต้น
ตารางแสดงความแตกต่างระหว่างเนื้องอกชนิดธรรมดากับมะเร็ง













































 
เนื้องอกชนิดธรรมดา

มะเร็ง
การเจริญเติบโต ช้า เร็ว
ลักษณะของการโต ดันออกไปรอบๆ ข้าง (ecpansion) แทรกซึม (invasion)
การทำลายเนื้อเยื่อปกติ น้อยมากหรือไม่มี มาก
การทำลายหลอกเลือด ไม่มี พบบ่อย
เปลือกหุ้ม (capsule) มี ไม่มี
การแพร่กระจาย (metastasis) ไม่มี มี
ผลที่เกิดต่อร่างกาย น้อยมาก มาก ตาย
หลอดเลือดมาหล่อเลี้ยง น้อย ปานกลางถึงมาก
เน่าหรือแตกเป็นแผล ไม่ค่อยมี มีเสมอ
มีการกลับเป็นอีกภายหลังผ่าตัดเอาก้อนออก ไม่ค่อยมี มีเสมอ

ฉะนั้น มะเร็ง คือ เนื้องอกชนิดร้ายที่เกิดขึ้นมาใหม่จากเนื้อเยื่อปกติของร่างกาย มีการเจริญเติบโตอยู่นอกเหนือการควบคุมของร่างกาย และมีโทษต่อร่างกายเซลล์มะเร็งจะมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดเป็นก้อน หรือเป็นแผลมะเร็งขนาดใหญ่ ลักษณะการโตของก้อนมะเร็งจะเป็นแบบแทรกซ้อน หรือมีส่วนยื่นเข้าไปในเนื้อเยื่อปกติโดยรอบเหมือนขาปู (ฉะนั้นสัญลักษณ์ของมะเร็งหรือเครื่องหมายขององค์การต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งหรือเครื่องหมายขององค์การต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งจึงมักจะใช้รูปปู เป็นเครื่องหมาย) การแทรกซึมเช่นนี้ จึงมีการทำลายหลอดเลือดทำให้มีเลือดออก หรือจากการที่ก้อนมะเร็งโตเร็วมาก จนขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง จึงเกิดการเน่าตายของเซลล์มะเร็งทำให้มีกลิ่นเหม็นเป็นอย่างมาก และลักษณะที่สำคัญของมะเร็งคือ เซลล์มะเร็งจากมะเร็งปฐมภูมิสามารถจะแพร่กระจายไปได้ทั่วร่างกาย ไปเกิดขึ้นใหม่เป็นมะเร็งทุติยภูมิตรงส่วนอื่นของร่างกายที่อยู่ห่างไกลออกไป
มะเร็งแต่ละชนิดจะมีความรุนแรงแตกต่างกันและยังขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์เฉพาะระหว่างมะเร็งนั้นกับตัวผู้ป่วยโดยตรง ความรุนแรงจึงแตกต่างกันในแต่ละบุคคล แต่ละก้อนมะเร็งในคนเดียวกัน หรือแม้แต่มะเร็งก้อนเดียวกันก็ยังมีอัตราการเจริญเติบโตไม่เท่ากันมะเร็งบางชนิดมีการแพร่กระจายได้รวดเร็วมาก แม้ว่าจะเพิ่มเริ่มเป็น เช่น มะเร็งปอด บางชนิดโตช้าและแพร่กระจายช้า ผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่ได้นานหลายปี แม้ว่าจะเริ่มต้นรักษาช้า หรือไม่ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ เช่น มะเร็งของต่อมไธรอยด์ชนิดปุ่ม (papillary) เป็นต้น
มะเร็งแต่ละชนิดชอบแพร่กระจายไปเฉพาะอวัยวะบางอวัยวะเท่านั้น เช่น มะเร็งเต้านม ชอบแพร่กระจายไปที่กระดูกหรือตับมากกว่าอวัยวะอื่น เป็นต้น
ในทางพยาธิวิทยาจะแบ่งความรุนแรงของมะเร็งตามการจำแนกลักษณะของเซลล์มะเร็ง (differentiation) เมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ออกเป็น ๔ ขั้น คือ ตั้งแต่ขั้นที่มีการจำแนกลักษณะของเซลล์ชัดเจน (well differentiation) ซึ่งถือว่ามีความรุนแรงน้อย จนกระทั่งถึงขั้นที่ ๔ ที่เซลล์ไม่มีการจำแนกลักษณะเลย (undifferentiation) ซึ่งมีความรุนแรงมาก
สำหรับด้านการรักษา ได้แบ่งความรุนแรงของมะเร็งตามระยะของโรค โดยอาศัยการลุกลามของโรคออกไปเป็นระยะๆ อย่างคร่าวๆ ดังนี้ คือ
ระยะที่ ๑ มะเร็งยังจำกัดอยู่เฉพาะในที่เริ่มเป็น
ระยะที่ ๒ มะเร็งลุกลามถึงเนื้อเยื่อข้างเคียงหรือลุกลามทะลุผ่านอวัยวะที่เป็นโพรง
ระยะที่ ๓ มะเร็งลุกลามถึงต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง
ระยะที่ ๔ มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ





มะเร็งมีการแพร่กระจายได้อย่างไร



[ ขยายดูภาพใหญ่ ]



นอกจากก้อนมะเร็งจะมีการเติบโตแทรกซึมเข้าไปยังเนื้อเยื่อปกติโดยรอบแล้ว ยังมีการแพร่กระจายไปได้ไกล ๆ เพราะเซลล์มะเร็งมักจะหลุดออกจากกันได้ง่าย เนื้องอกที่ผนังของเซลล์มะเร็งจะมีแคลเซียมไอออนน้อยกว่า และมีประจุไฟฟ้ามากกว่าที่ผนังของเซลล์ปกติ นอกจากนี้ ยังพบว่าในก้อนมะเร็งยังมีน้ำย่อยชนิดที่จะละลายเนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น น้ำย่อยโปรตีน (protease) น้ำย่อยสารไฮอะลิน (hyaluronidase) และน้ำย่อยอะมิโนเปปไทด์ (amino peptidase) เซลล์มะเร็งมักจะเป็นรูปกลมต่างจากเซลล์ปกติ ซึ่งมักจะเป็นรูปแบบ ดังนั้น เซลล์มะเร็งจึงมีส่วนสัมผัสและการยึดเหนี่ยวระหว่างเซลล์น้อย
ทฤษฎีของการแพร่กระจายของมะเร็ง
ในปัจจุบันนี้มีทฤษฎีที่เชื่อกันมาก ๓ ทฤษฎี คือ
๑. ทฤษฎีทางกลศาสตร์ (mechanical theory) โดยเซลล์หลุดจากกันได้ง่าย แล้วแทรกตัวเข้าตามผนังของหลอดเลือดหรือหลอดน้ำเหลือง (diapedsis) เหมือนเม็ดเลือดขาว หรือจากการแตกของหลอดเลือด ทำให้เซลล์มะเร็งเข้าในกระแสเลือดหรือกระแสน้ำเหลืองได้
๒. ทฤษฎีของการเลือกเฉพาะ (selective affinity theory) ลักษณะของอวัยวะที่แพร่กระจายจะมีความสำคัญ และควบคุมลักษณะของการ แพร่กระจาย อวัยวะบางอย่างเหมาะที่จะเป็นตำแหน่งที่แพร่กระจายของมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งของกระดูกมักจะแพร่กระจายไปที่ปอด หรือมะเร็งของปอดมักจะแพร่กระจายไปที่สมอง เป็นต้น
๓. ทฤษฎีการเปลี่ยนรูป (transformation theory) คือ ดีเอ็นเอจีโนม (DNA genome) จะเข้าไปในเซลล์ปกติ และร่วมกับมีการบกพร่องในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เซลล์ปกติเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง
เนื่องจากว่าทฤษฎีแรกมีผู้เชื่อถือกันมากที่สุดฉะนั้น พอจะสรุปวิธีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเมื่อเซลล์มะเร็งหลุดจากก้อนมะเร็งแล้วได้ ๔ วิธี คือ
๑. โดยทางกระแสเลือด เซลล์มะเร็งจะหลุดเข้ากระแสเลือด แล้วไปเจริญเติบโตในอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอด ตับ กระดูก สมอง ฯลฯ
๒. โดยทางกระแสน้ำเหลือง เซลล์มะเร็งหลุดเข้าหลอดน้ำเหลืองแล้วไปเจริญเติบโตในต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง ทำให้ต่อมน้ำเหลืองมีขนาดโตได้มาก ๆ และจากต่อมน้ำเหลืองนี้ เซลล์มะเร็งอาจจะแพร่กระจายเข้าสู่หลอดเลือดอีกทอดหนึ่งก็ได้
๓. โดยการฝังตัวของเซลล์มะเร็ง (implantation) โดยเซลล์มะเร็งหลุดจากตำแหน่งเดิม และไปเจริญที่ส่วนอื่น อาจจะเป็นการหลุดโดยธรรมชาติ หรือการหลุดโดยการกระทำของแพทย์ เช่น ขณะผ่าตัด เป็นต้น
๔. โดยการไปจับหรือรวมตัวตามพื้นผิวของผนังเยื่อบุ (transcoelomic) โดยเซลล์มะเร็งหลุดจากก้อนมะเร็ง และไปงอกตามพื้นผิวของเยื่อบุต่าง ๆ เหมือนกับต้นกาฝากที่แพร่จากกิ่งไม้กิ่งหนึ่งไปยังกิ่งติด ๆ กัน เช่น ตาม พื้นผิวของเยื่อบุช่องท้อง ช่องปอด เป็นต้น







มะเร็งเกิดขึ้นได้อย่างไร




[ ขยายดูภาพใหญ่ ]



ในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ นักชีววิทยาชาวฝรั่งเศส ชื่อ ฟรองซัวส์ แวงซองต์ ราสปายส์ (Francois Vincent Raspail) ได้กล่าวไว้ว่า "เซลล์ของร่างกายมนุษย์ นอกจากจะเป็นรากฐานของการมีชีวิตและสุขภาพแล้ว เซลล์ยังเป็นรากฐานของโรคภัยไข้เจ็บและความตายด้วย" นั่นคือการเกิดมะเร็งก็จะมีจุดเริ่มต้นจากเซลล์เช่นกัน โดยจะเกิดความพิการหรือผิดปกติที่ยีน (gene) ภายในโครโมโซม (chromosome) ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นกรดนิวคลีอิกและเป็นรหัสชีวิตที่จะควบคุมลักษณะและหน้าที่การทำงานของเซลล์และการถ่ายทอดลักษณะทางกรรมพันธุ์ความพิการหรือผิดปกติเช่นนี้ ทำให้เซลล์แบ่งตัวโดยไม่ยอมหยุดอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของร่างกาย นักวิจัยเป็นจำนวนมากทั่วโลกต่างก็ได้พยายามที่จะค้นคว้าวิจัยว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เซลล์ปกติเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง และก็ยังไม่สามารถจะสรุปแน่นนอนได้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไรแน่ แต่ก็พอจะสรุปได้ว่ามีเหตุส่งเสริมที่สำคัญ ๒ อย่างร่วมกัน อันจะทำให้เซลล์นั้น ๆ ทำงานผิดปกติไปคือ
๑. เหตุส่งเสริมหรือปัจจัยที่ขึ้นอยู่กับภาวะภายในร่างกาย ซึ่งได้แก่
ก. ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายของแต่ละบุคคล ซึ่งในแต่ละบุคคลจะมีมากน้อยแตกต่างกัน โดยปกติเซลล์มะเร็งสามารถจะสร้างสารต่างๆ ออกมาในรูปของโปรตีน และโพลีเปปไทด์ (polyepeitdes) หลาย ๆ ชนิด ซึ่งจะพบได้ที่พื้นผิว หรือผนังของเซลล์มะเร็งเรียกว่า ทูเมอร์แอสโซซิ เอตแอนติเจน (tumour associated antigen, TAA) หรือทูเมอร์สเปซิฟิกทรานส์แพลนเตชันแอนติเจน (tumour speciflc transplantation antigen, TSTA) ตามปกติร่างกายของคนเรา สามารถจะรับรู้แอนติเจนชนิดนี้ จึงสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีที่จะมาต้านแอนติเจนนี้ได้ จะโดยสาเหตุใดก็ตามที่ร่างกายไม่สามารถจะค้นพบ หรือไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต้านแอนติเจนนี้ได้ ก็จะเกิดเซลล์มะเร็งขึ้น
ข. เชื้อชาติ ทุกชนชาติเป็นมะเร็งได้เหมือนกัน แต่มะเร็งบางชนิดจะพบมากเฉพาะบางเชื้อชาติ เช่น ชาวญี่ปุ่นเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมาก ส่วนมะเร็งโพรงจมูกพบมากในชาวจีน เป็นต้น
ค. เพศ มะเร็งบางชนิดจะพบมากในเพศชาย เช่น มะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งตับ แต่มะเร็งบางชนิดจะพบมากในเพศหญิง เช่น มะเร็งของช่องปาก มะเร็งผิวหนัง เป็นต้น และมะเร็งบางชนิดก็จะพบได้เท่า ๆ กันทั้งสองเพศ
ง. อายมะเร็งบางชนิดพบมากในคนอายุน้อย เช่น มะเร็งของเนื้อเยื่อที่เรียกว่า ซาร์โคมา (sarcoma) ในขณะที่มะเร็งของเยื่อบุที่เรียกว่า คาร์ซิโนมา (carcinoma) จะพบมากในคนอายุมาก และมะเร็ง บางชนิดก็จะพบเฉพาะในเด็กเท่านั้น เช่น มะเร็งของลูกตาชนิดเรติโนบลาสโตมา (retinoblastoma) มะเร็งของไตแบบวิล์ม (Wilm's tumour) เป็นต้น
จ. กรรมพันธุ์ (genetics) มีมะเร็งหลายชนิดที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกรรมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกัน เช่น มะเร็งของมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งลูกตาชนิดเรติโนบลาสโตมา ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใดเป็นมะเร็งเหล่านี้แล้ว พี่น้องหรือลูกหลานก็จะมีโอกาสเป็นมะเร็งนั้น ๆ ได้มากขึ้น
ฉ. ความผิดปกติต่าง ๆ เช่น ในกรณีที่เป็นไฝ หรือปานดำมีโอกาสจะกลายเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาชนิดร้าย (maligmant melanoma) หรือเนื้องอกชนิดธรรมดาก็อาจจะกลายเป็นมะเร็งได้
๒. เหตุส่งเสริมที่อยู่ภายนอกร่างกาย ได้แก่
ก. สารกายภายต่าง ๆ (physical agents) ส่วนใหญ่เกิดจากการระคายเรื้อรัง เช่น ผู้ที่มีฟันเก เวลาเคี้ยวอาหารฟันจะไปครูดกับเยื่อบุภายในช่องปาก เช่น บริเวณกระพุ้งแก้ม หรือลิ้น นาน ๆ ไปทำให้เกิดมะเร็งของเยื่อบุในช่องปากหรือมะเร็งของลิ้นได้
ฟันปลอมที่ไม่กระชับ เวลาเคี้ยวอาหารจะมีการเสียดสีกับเหงือกหรือเพดานปาก อาจจะทำให้เกิดมะเร็งของเหงือกหรือเพดานปากได้
ก้อนนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้เกิดมะเร็งของระบบทางเดินปัสสาวะได้ การดื่มสุราที่มีดีกรีของแอลกอฮอล์สูง ๆ โดยไม่เจือจางจะทำให้มีการระคายของเยื่อบุบริเวรแอ่งไพริฟอร์ม (pyriform) ข้าง ๆ กล่องเสียง ทำให้เกิดมะเร็งบริเวณนี้ได้
ผู้ที่นิยมรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร้อนจัดจะมีการระคายบริเวณหลอดอาหาร ทำให้เกิดมะเร็งของหลอดอาหารได้
สารต่าง ๆ ที่ฉีดเข้าร่างกายเพื่อการเสริมสวย ก็มีส่วนทำให้เกิดมะเร็งได้จากการระคายเฉพาะที่
อวัยวะเพศชายที่หนังหุ้มปลายไม่เปิด จะเกิดการระคายจากขี้เปียก (smegma) ทำให้เกิดมะเร็งของอวัยวะเพศได้
การกระทบกระแทก การฉีกขาดของปากมดลูก เช่น ผู้ที่มีอาชีพโสเภณี การคลอดบุตรหลาย ๆ คน หรือการมีกะบังลมหย่อยในหญิงสูงอายุ ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ง่าย
รังสีต่าง ๆ (ionizing radiation) การได้รับรังสีในปริมาณน้อย ๆ แต่ได้รับบ่อยเป็นระยะเวลานาน ๆ จะมีโอกาสทำให้เกิดมะเร็งได้เกือบทุกอวัยวะ
ข. สารเคมี (chemical agents) ในปัจจุบันนี้มนุษย์เราโดยเฉพาะชาวไทย นอกจากจะมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษแล้ว มนุษย์เรากำลังลอยคออยู่ในทะเลของสารที่ทำให้เกิดมะเร็งซึ่งเรียกรวม ๆ กันว่า "สารก่อมะเร็ง" (carcinogen) อีกด้วย เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางองค์การอนามัยโลกได้รายงานถึงสารต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็งมากถึง ๔๕๐ ชนิด โดยส่วนใหญ่สารต่าง ๆ เหล่านี้แฝงตัวมาในธรรมชาติในรูปของอาหารพืช หรือสารเคมีต่าง ๆ เช่น เคมีวัตถุประเภทน้ำมันดิน (hydrocarbon) ที่ใช้ทำยารักษาโรค ใช้ในอุตสาหกรรมเคมี ควันไอเสียของเครื่องยนต์ เป็นต้น
การรับประทานหมาก การจุกยาฉุนบริเวณริมฝีปากนอกจากจะมีการระคายเรื้อรังแล้ว ยังมีสารเคมีที่ทำให้เกิดมะเร็งของช่องปากได้
การสูบบุหรี่จัด ควันบุหรี่มีสาร ๓.๔ เบนซ์ไพรีน (3, 4 benzpyrine) ทำให้เกิดมะเร็งปอดได้
สีย้อมผ้าต่าง ๆ เช่น สีอะนีลีน (aniline dye) หรือ สีอะโซ (azo dye) เช่น สีเหลือง [(butter yellow -4, dinethylamino azobenzene)] ซึ่งใช้ย้อมสีเนยเทียม หรือนำไปผสมอาหาร ขนม หรือลูกกวาดต่าง ๆ เพราะมีราคาถูก และมีสีสดสวย แทนที่จะใช้สีซึ่งสกัดมาจากพืชเหมือนสมัยก่อน สีต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เกิดมะเร็งของกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งของทางเดินน้ำดีได้
สารหนู ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของยารักษาโรค เช่น ยาจีนรักษา โรคผิวหนังชนิดเรื้อนกวาง แต่กลับเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งของผิวหนังได้
สารไนโตรซามีน (nitrosamines) ซึ่งพบในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์หมักทุกชนิด เช่น ปลาร้า แหนม หมูส้ม ปลาส้ม หรืออาหารที่เข้าดินประสิว เหล่านี้ทำให้เกิดมะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหารได้ ความร้อนจะทำลาย (denature) สารไนโตรซามีนได้ ฉะนั้นอาหารประเภทนี้ถ้าทำให้สุกเสียก่อนก็จะปลอดภัย
อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์รมควัน หรือเนื้อสัตว์ที่ย่างจนไหม้เกรียม
ดีดีที นอกจากจะมีพิษโดยตรงต่อมนุษย์แล้ว ดีดีที ยังเปลี่ยนสภาพในร่างกายเป็นสารไดโนโตรซามีนซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนไนโตรซามีนซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนไนโตรซามีน อีกด้วย
ค. ฮอร์โมน (hormones) มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านมจะมีความสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนเพศหญิง คือ เอสโตเจน และโปรเจสเตอโรน หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก จะมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน (androgen) เป็นต้น ฮอร์โมนเหล่านี้มักจะอยู่ในยารักษาโรค
ง. เชื้อไวรัส มีไวรัสหลายชนิดเป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ ไวรัสเหล่านี้เรียกว่า "ไวรัสที่ทำให้เกิดเนื้องอกหรือมะเร็ง" (oncogenic viruses, tumour viruses) ซึ่งแบ่งออกเป็นสองกลุ่มตามลักษณะของกรดนิวคลีอิก คือ ไวรัสดีเอ็นเอ และไวรัสอาร์เอ็นเอ เมื่อไวรัสเข้าไปในเซลล์แล้วก็จะมีการเพิ่มจำนวน (productive infection) หรืออาจจะไม่เพิ่มจำนวนก็ได้ แต่จะสามารถทำให้เซลล์มีการเปลี่ยนแปลงในรูปร่างไปได้ (transformation) จากการที่ยีน หรือดีเอ็นเอของไวรัส (viralgnome หรือ viral DNA) ไปแทนที่ดีเอ็นเอของเซลล์
ในปัจจุบันนี้ ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าไวรัสทำให้เกิดมะเร็งในคน แต่ก็มีประจักษ์พยานหลายอย่างที่ทำให้คิดว่า ไวรัสอาจจะเป็นสาเหตุ หรือเกี่ยวข้องกับมะเร็งบางชนิดในคน เช่น ไวรัวอีบีวี (epstein-barr virus) มีความสัมพันธ์กับมะเร็งโพรงหลังจมูกและมะเร็งของต่อมน้ำเหลืองเบอร์คิตต์ (burkitt's lymphoma) หรือไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ ชนิดที่ ๒ (herpes simplex virustype 2) ก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด มะเร็งเต้านมก็มีประจักษ์พยานว่าน่าจะเกิดจากไวรัสเช่นกัน
จ. สารพิษ (toxin) โดยเฉพาะสารอะฟลาทอกซิน (aflatoxin) จากเชื้อราแอสเพอร์จิลลัสฟลาวัส (aspergilus flavus) ซึ่งชอบขึ้นในอาหารประเภทถั่วต่าง ๆ โดยเฉพาะถั่วลิสง อาหารประเภทข้าวต่าง ๆ มันสำปะหลัง นอกจากนี้ยังเคยมีรายงานการตรวจพบสารอะฟลาทอกซินในน้ำนมวัว มะพร้าว และน้ำมันถั่วลิสง สารพิษนี้ทำให้เกิดมะเร็งตับได้โดยตรง
ฉ. พยาธิบางชนิด เช่น พยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งตับบางชนิดได้
ช. ภาวะขาดอาหาร โรคตับแข็งซึ่งเกิดจากการขาดอาหารโปรตีน จะกลายเป็นมะเร็งตับได้ง่าย

มีต่อกระทู้หน้าค่ะ
มะเร็งมีการแพร่กระจายได้อย่างไร

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์