โรคมะเร็งรังไข่ น่ากลัวกว่าที่คิด

โรคมะเร็งรังไข่ น่ากลัวกว่าที่คิด


โรคมะเร็งทางนรีเวชในประเทศไทยที่พบบ่อยเป็นอันดับหนึ่งที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี


คงหนีไม่พ้นมะเร็งปากมดลูก ส่วนอันดับสองตกเป็นของมะเร็งรังไข่ ที่น่ากลัวไม่แพ้กัน และหลายคนคงอยากรู้จักมันมากยิ่งขึ้น เพื่อจะหาทางรักษาได้ทันท่วงที



โดย รศ.พญ.สฤกพรรณ วิไลลักษณ์ ภาควิชาสูตินรีเวชฯ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี บอกว่า มะเร็งรังไข่มีอุบัติการณ์เกิดประมาณ 5 คนต่อประชากรสตรี 1 แสนคนต่อปี คิดแล้วในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยมะเร็งรังไข่รายใหม่ประมาณ 1,500 คน ยิ่งสตรีที่มีอายุมากขึ้นโอกาสที่จะเป็นมะเร็งรังไข่ก็สูงขึ้นตามไปด้วย

ปัญหาของมะเร็งรังไข่ คือ ไม่ค่อยจะมีอาการ หรือถ้ามีอาการก็มักจะเป็นอาการท้องอืดท้องเฟ้อ


คนทั่วไปคิดว่าไม่สลักสำคัญอะไร คิดว่าเป็นโรคกระเพาะลำไส้หรืออาหารไม่ย่อย ทำให้คนไข้ไปพบแพทย์และวินิจฉัยโรคได้ช้า โรคมะเร็งรังไข่ถ้าวินิจฉัยได้ตั้งแต่ยังเป็นน้อย ๆ ก็สามารถรักษาให้หายได้ แต่ถ้าเป็นมากโอกาสหายขาดจะยาก



ปัจจัยที่พบว่าเกี่ยวข้องกับการเป็นมะเร็ง รังไข่ ได้แก่ ญาติใกล้ชิด เช่น มารดา หรือพี่น้องเป็นมะเร็งรังไข่ ตัวเองเป็นมะเร็งเต้านม หรือลำไส้ หรือมะเร็งอื่น ๆ อายุมากขึ้น โดยเฉพาะมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป การรับประทานอาหารที่มีไขมัน นมเนยสูง



อาการของมะเร็งรังไข่ ได้แก่ ท้องโตขึ้น เนื่องจากมีก้อน หรือน้ำในท้อง โดยที่ผู้ป่วยอาจคลำก้อนได้


หรือแพทย์เป็นผู้คลำได้ ส่วนน้ำในท้อง มีตั้งแต่น้ำน้อย ๆ จนถึงมีน้ำมาก เหมือนมีลูกแตงโมอยู่ในท้อง ที่ชาวบ้านเรียกว่า ท้องมาร


ผู้ป่วยอาจมีอาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ รู้สึกว่าอาหารไม่ย่อย ท้องผูก อาการของระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อย ขัด เนื่องจากก้อนของรังไข่ไปกดเบียด ผู้ป่วยจะผอมลง เป็นอาการของมะเร็งทั่วไป บางรายอาจมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด




จะเห็นได้ว่าอาการของมะเร็งรังไข่ไม่จำเพาะเจาะจงชัดเจน ดังนั้นเพื่อให้ทราบว่าเป็นโรคโดยเร็วที่สุด

ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตัวเอง ถ้ามีอาการตามที่กล่าวมาในข้างต้นให้ไปพบแพทย์ทันที เพื่อความไม่ประมาท

ถ้าตรวจไม่พบความผิดปกติก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีความผิดปกติก็จะได้ตรวจค้นต่อและรักษาแต่เนิ่น ๆ สตรีที่อายุ 35 ปีขึ้นไป หรืออายุไม่ถึง 35 ปีแต่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรตรวจภายในทุกปี แม้ไม่มีอาการผิดปกติ

ในกรณีที่มีประวัติญาติใกล้ชิด เช่น มารดา หรือพี่น้อง เป็นโรคมะเร็งรังไข่ หรือเป็นมะเร็งชนิดอื่น หรือตัวเองเป็นมะเร็ง เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม จะต้องเฝ้าระวังเรื่องมะเร็งรังไข่ให้มากขึ้น เนื่องจากพบว่าสาเหตุของมะเร็งรังไข่ส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรม


แพทย์จะตรวจพบโรคนี้ได้จากการซักประวัติ ตรวจหน้าท้อง และตรวจภายใน อาจมีการตรวจเพิ่มเติม

เช่น อัลตราซาวด์ คนที่มีก้อนที่รังไข่อาจไม่เป็นมะเร็งรังไข่ก็ได้ เนื่องจากก้ฮนที่รังไข่อาจเป็นถุงน้ำธรรมดา ถุงช็อกโกแลต หรือเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าเป็นก้อนที่ไม่ใช่ถุงน้ำธรรมดาของรังไข่ จะแนะนำให้ผ่าตัด



การวินิจฉัยที่แน่นอนว่าเป็นมะเร็งรังไข่จะต้องได้จากการส่งชิ้นเนื้อจากการผ่าตัดไปตรวจเท่านั้น ในการผ่าตัดรักษาโรคนี้ส่วนใหญ่จะตัดทิ้งมดลูกและรังไข่ทั้งสองข้าง นำน้ำในช่องท้องส่งตรวจเซลล์มะเร็ง และเลาะต่อมน้ำเหลืองส่งตรวจด้วย




ในกรณีเป็นมะเร็งรังไข่น้อย การผ่าตัดรักษาอย่างเดียวก็เพียงพอ แต่ถ้าเป็นมากขึ้นจะ ต้องได้รับการรักษาต่อด้วยยาเคมีบำบัด

ซึ่งยาเคมีบำบัดนี้ก็มีผลข้างเคียงหลายอย่างที่พบบ่อยได้แก่ กดไขกระดูก ทำให้เม็ดเลือดต่ำ คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งแพทย์จะมีวิธีดูแลรักษาที่สำคัญคือ จะต้องมารับยาตามที่แพทย์นัด เพื่อให้ผลการรักษาดีที่สุด หลังการรักษาผู้ป่วยจำนวนหนึ่งหายจากโรค แต่อีกส่วนหนึ่งมีการกลับคืนมาเป็นมะเร็งรังไข่




ดังนั้น...จึงมีความจำเป็นที่ยังต้องตรวจติดตามหลังการรักษา ในกรณีที่มีการกลับคืนมาของโรคมะเร็ง แพทย์ก็จะมีวิธีรักษา

เช่น การผ่าตัดหรือให้ยาเคมีบำบัดชนิดอื่น ซึ่งอาจทำให้โรคหายไปได้ หรือถ้าไม่หายก็ทำให้ยุบ หรือคงขนาดไปชั่วขณะ จนเมื่อไหร่ที่แพทย์พิจารณาแล้ว ว่าควรหยุดการรักษาที่จำเพาะต่อโรค เช่น ผ่าตัด เคมีบำบัด ก็จะบอกให้ผู้ป่วยทราบ หลังจากนั้นก็จะดูแลรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ญาติและผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยจะมีส่วนช่วยเหลืออย่างมากทั้งร่างกายและจิตใจในช่วงนี้.





แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์