โรคร้ายที่มากับความผอม

โรคร้ายที่มากับความผอม


ภัยร้ายที่คอยคุกคามผู้หญิงอยากผอมทั้งหลายที่สาวๆรู้จักกันดีก็  คือ 


 1.โรคบูลิเมีย 

     ซึ่งเป็นความผิดปกติของพฤติกรรมการกิน โดยจะกินวันละหลายๆ ครั้ง ครั้งละมากๆ  หลังจากกินเสร็จจะรู้สึกไม่สบายใจและรู้สึกผิดที่กินอาหารเข้าไปมากมาย จึงต้องหาวิธีเอาออกโดยอาจล้วงคอให้อาเจียนออกมาจนหมด หรือกินยาระบายอย่างหนัก บางคนถึงขั้นกินยาขับปัสสาวะหรือสวนทวาร คนที่เป็นโรคนี้ไม่ใช่คนเกลียดอาหาร แต่เป็นคนชอบอาหาร เห็นอะไรก็อยากกินไปหมด โดยเฉพาะพวกแป้ง น้ำตาล เช่น เค้ก ไอศกรีม พิซซ่า ฯลฯ  อาจกินวันละหลายๆ ครั้ง แต่เมื่อกินเข้าไปแล้วก็ต้องรีบไปโก่งคออาเจียน 
      สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคนี้เกิดจากการลดน้ำหนักมักเกิดกับผู้หญิงที่มีรูปดีอยู่แล้ว แต่ยังตั้งหน้าตั้งตาลดน้ำหนักเพรร่างาะคิดว่าตัวเองมีน้ำหนักเกินอยู่ตลอดเวลา  โดยเฉพาะวัยรุ่นที่รู้สึกสนุกและภาคภูมิใจที่เห็นตัวเลขในตาชั่งลดลงไปเรื่อยๆ 
     อันตรายของโรคนี้ถึงขั้นเสียชีวิตได้เนื่องจากมีปริมาณอิเล็กโตรไลต์ในเลือดผิดปกติ  คือมีโพแทสเซียมและคลอไรด์ในเลือดต่ำ  เนื่องจากการดึงน้ำออกจากร่างกายโดยใช้ยาขับปัสสาวะหรือยาระบาย  รวมทั้งมีอาการท้องผูก  ความดันโลหิตต่ำ  ต่อมบริเวณแก้มบวม  ต่อมน้ำลายบวมผิดปกติ  รอบเดือนมาผิดปกติ  จนถึงไตวายได้  อีกทั้งการล้วงคอเพื่อให้อาหารย้อนกลับออกมาจะทำให้มีน้ำย่อยในกระเพาะอาหารตามออกมาด้วย  ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลในปากหรือทำให้ฟันผุได้  เนื่องจากน้ำย่อยตัวนี้มีฤทธิ์เป็นกรด


 2.โรคอะนอเร็กเซีย  

      อีกโรคหนึ่งที่พ่วงมากับความอยากผอม มักเกิดกับผู้มีอาชีพที่ต้องใช้รูปร่างที่ผอมบาง อย่างนักแสดง นางแบบ หรือนักกีฬาประเภทที่ต้องควบคุมน้ำหนัก เช่น ยิมนาสติก  ผู้เป็นโรคนี้จะไม่ยอมกินอะไรเลย แต่มีนิสัยชอบทำอาหารมากๆ ทั้งที่ทำแจกคนอื่นและทำซุกเก็บไว้ตามที่ต่างๆ ทั่วบ้าน ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีน้ำหนักต่ำกว่าคนทั่วไปราวร้อยละ 15 รูปร่างผอมจนซูบซีดเพราะขาดสารอาหาร ขี้โมโห ฉุนเฉียวง่าย ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นช้า มีการตอบสนองต่อการควบคุมอาหารต่างจากคนปกติคือ จะไม่รู้สึกอึดอัดเมื่อร่างกายมีแคลอรี่มาก ประจำเดือนขาดเนื่องจากผอมเกินไป มีฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน และคอร์ติซอลผิดปกติ จนเกิดโรคกระดูกพรุนได้ง่าย 
      ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจเข้าใจผิดคิดว่าสามารถกินยาคุมกำเนิดเพื่อชดเชยฮอร์โมนที่ขาดไปเหมือนในผู้หญิงวัยทองได้ แต่จริงๆ แล้วกลไกการหมดประจำเดือนต่างกัน จึงไม่สามารถกินฮอร์โมนชดเชยได้ ผู้ป่วยเป็นโรคอะนอเร็กเซียมักไม่สังเกตตัวเอง และไม่อยากรับการรักษา แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาก็จะมีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เนื่องจากขาดสารอาหาร นอกจากนี้คนไข้ส่วนใหญ่ยังมักเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเพราะปัญหาสุขภาพรุมเร้า


 3.ภาวะโภชนาการบกพร่องแบบแอบแฝง

     เป็นความผิดปกติทางโภชนาการแบบไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด  รวมถึงนิสัยการกินไม่ถูกต้อง  เช่น  กินน้อยกว่าที่ร่างกายต้องการ  ติดออกกำลังกายหักโหม  หรือหมกมุ่นอยู่กับการลดความอ้วน  อาการของโรคนี้จะส่งผลต่อจิตใจก่อน  เช่น  หงุดหงิดง่าย  กระสับกระส่ายนอนไม่หลับ  น้ำหนักไม่คงที่  ไม่สนใจการมีเพศสัมพันธ์  และยิ่งหากละเลยไม่สนใจ  ก็อาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาอีกได้



                   




ขอบคุณข้อมูลจาก : นิตยสาร ELLE

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์