โรคเกลียดตัวเอง







เมื่อวงการแพทย์ก้าวหน้าขึ้น โรคร้ายต่างๆ ก็ดูจะอุบัติมากขึ้นเรื่อยๆ และโรคหนึ่งที่อาจจะยังไม่แพร่หลาย แต่ก็เป็นความผิดปกติทางจิตใจที่สำคัญ และอาจจะทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิต ก็คือ อาการผิดปกติ หมกมุ่นกับปัญหารูปลักษณ์ (Body Dysmorphic Disorder - BDD)


โดยผู้ป่วยทางจิตแบบนี้จะเอาจริงเอาจังกับภาพลักษณ์ของตัวเองที่ปรากฏออกมาอย่างมากเกินไป และจะมีปฏิกิริยากับสิ่งบกพร่องในร่างกายตัวเองมากจนผิดปกติ


โรแบร์โต โอลิวาร์เดีย ผู้ร่วมเขียนเรื่อง 'ปมอาโดนีส' (อาโดนีส เป็นหนุ่มหล่อ ที่อโฟรไดท์ หลงรัก) กล่าวว่า " โรคบีดีดี เป็นความหมกมุ่นกับภาพลักษณ์ของร่างกาย และบ่อยครั้งความหมกมุ่นดังกล่าว จะมุ่งไปที่ความบกพร่องทางภาพ ซึ่งคนๆ นั้นมองเห็นอย่างชัดเจน ในขณะที่คนอื่นมองไม่เห็น"


ความผิดปกติเล็กน้อย เช่น แผลเป็นเล็กๆ น้อยๆ หรือผมร่วงไปกระหย่อมหนึ่ง หรือจมูกใหญ่ หรืออ้วน เหล่านี้จะทำให้คนที่เป็นโรคเหล่านี้กังวล และครุ่นคิดอยู่แต่เรื่องข้อบกพร่องนี้ จนกระทั่งหลีกหนีสังคม เก็บตัว และหาวิธีซ่อนเร้นข้อบกพร่องดังกล่าว เหล่านี้ล้วนเป็นอาการที่เข้าข่ายโรคบีดีดี


อีริคก้า ไพคอร์ ผู้ป่วยคนหนึ่งบอกว่า " มันคือการมองตัวเองในกระจก แล้วไม่สามารถบอกตัวเองได้ว่า โอ.เค." โดยก่อนหน้านี้เมื่อหลายปีก่อน เธอจะต้องใช้เวลาหน้ากระจกเป็นชั่วโมงๆ เพื่อตรวจดูตัวเองในกระจก และในที่สุดก็กลายเป็นคนเก็บตัว


อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เธอได้รับการบำบัดหายดีแล้ว เธอก็บอกว่า " โรคนี้ ทำให้ดิฉันรู้สึกว่า สูญเสียอะไรไปหลายอย่างมาก... โดยเฉพาะสูญเวลาของชีวิต เพราะแทนที่จะเอาไปทำอะไรได้ตั้งหลายอย่างที่ดิฉันชอบ แต่กลายเป็นว่า ดิฉันจบลงด้วยการไม่ชอบอะไรอีกเลย"


แม้ว่าความผิดปกติดังกล่าวนี้จะได้รับการพูดถึงมากว่า 100 ปีแล้วก็ตาม แต่ชื่อโรค 'บีดีดี' นี้ เพิ่งจะปรากฏในตำราแพทย์เมื่อปลายทศวรรษ 2523 (1980) นี่เอง กระนั้นมันก็ยังเป็นโรคที่ไม่รู้จักกันแพร่หลาย และมักจะได้รับการวินิจฉัยผิดๆ เป็นประจำ


โอลิวาร์เดีย ซึ่งตั้งกลุ่มบำบัดผู้ป่วยโรคนี้ ที่โรงพยาบาลแม็คลีน ในเมืองเบลมองท์ รัฐแมสซาชูเซตต์ กล่าวว่า " ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ที่มาหาผม ต้องผจญกับอาการของโรคบีดีดีมาก่อนหน้านั้นหลายปีแล้ว และหลายๆ คนก็ต้องอยู่กับโรคนี้ โดยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า"


ส่วนคนอื่นๆ ที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคบีดีดีอย่างรุนแรง ก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคผิดปกติทางจิตอย่างอื่น หรือเป็นโรคกินผิดปกติ-อโนรีเซีย (anorexia) ยิ่งกว่านั้นบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยโรคบีดีดีนี้ จะไปหาศัลยแพทย์ผ่าตัดเสริมความงาม แทนที่จะไปหาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต
    คุณเป็นบีดีดีหรือเปล่า มีวิธีสังเกตดังนี้

   1. ชอบเปรียบเทียบภาพลักษณ์ของตัวเองกับของผู้อื่น คอยสังเกตรูปร่าง-หน้าตาของคนอื่น

   2. คอยตรวจภาพลักษณ์ของตัวเองในกระจก หรือคอยมองรูปร่าง-หน้าตาของผู้อื่นที่สะท้อนกระจก หรือวัสดุผิวมันสะท้อนแสงทั้งหลาย

   3. คอยปกปิดจุดบกพร่องของตัวเอง ด้วยเสื้อผ้า, เครื่องสำอาง, หมวก, มือ, ท่าทาง หรือด้วยวิธีอื่นๆ

   4.ไปพบศัลยแพทย์, แพทย์ผิวหนัง หรือการบำบัดอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทางจิต เพราะมีแพทย์ หรือคนอื่นบอกว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ต้องไปหาจิตแพทย์หรอก

   5. ชอบถามเกี่ยวกับตัวเอง เพื่อหาความมั่นใจกับจุดบกพร่องของตัวเอง หรือพยายามโน้มน้าวให้ผู้อื่นเห็นว่า จุดบกพร่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าเกลียด

   6. ใส่ใจกับความสวยความงามจนเกินพอดี เช่น คอยหวีผม, โกนหนวด, หรือปะแป้งไม่หยุดหย่อน เป็นต้น

   7. ไม่ชอบส่องกระจก และหลีกเลี่ยงการส่องกระจก

   8. ชอบจับจุดบกพร่องดังกล่าวมากเป็นพิเศษ

   9. ชอบหยิกตัวเอง

   10. ชอบวัดร่างกายส่วนที่ตัวเองไม่ชอบ

   11. ชอบอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับร่างกายส่วนที่ตัวเองรู้สึกว่าบกพร่องมาก

   12. ออกกำลังกาย หรืออดอาหารมากเกินไป

   13. ใช้ยา เช่นยาบำรุงต่างๆ เพื่อให้มีกล้ามเนื้อมากขึ้น หรือผอมลง

   14. เปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อยๆ เพื่อให้ตัวเองดูดีขึ้น

   15. เลี่ยงงานสังคมที่จะทำให้จุดบกพร่องดังกล่าวเด่นชัด

   16. รู้สึกกระวนกระวาย เมื่อต้องถูกห้อมล้อมด้วยผู้คน เพราะเกรงว่าผู้อื่นจะมองเห็นความบกพร่องดังกล่าว



โดยโอลิวาร์เดีย กล่าวว่า " แน่นอนที่สุด ผู้ป่วยเหล่านี้จะต้องคิดว่า วิธีแก้ปัญหา ก็คือจะต้องเปลี่ยนส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ไม่สวย ไม่งามเหล่านี้เสียใหม่ กระนั้นผมก็ยังไม่พบผู้ป่วยโรคนี้ รู้สึกพอใจร้อยเปอร์เซ็นต์กับผลที่ได้หลังการผ่าตัด"


อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การวินิจฉัยโรคโรคบีดีดีนี้ทำได้ยากมาก ก็เพราะผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะเก็บตัวมาก ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกาแห่งเดียว มีผู้ป่วยเป็นโรคนี้แล้ว 5 ล้านคน ซึ่งก็ยังนับว่า น้อยกว่าความเป็นจริง


ดร.แคธเทอรีน ฟิลลิปส์ ผู้อำนวยการโครงการภาพลักษณ์ทางกายภาพ ที่โรงพยาบาลบัตเลอร์ในเมืองโปรวิเดนซ์ รัฐโรดไอร์แลนด์ กล่าวว่า " มันเป็นความผิดปกติที่ลึกลับมาก เพราะคนที่เป็นโรคนี้จะรู้สึกกระดาก และละอายกับข้อบกพร่องที่พวกเขา/พวกเธอเป็น ดังนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่ไปรับการรักษา และนั่นก็เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก เนื่องจากมันเป็นโรคที่รักษาหายได้"


โอลิวาร์เดีย กล่าวว่า " 17% ของผู้ที่ป่วยเป็นโรคบีดีดีนี้จะพยายามฆ่าตัวตาย เนื่องจากหมกหมุ่นกับข้อบกพร่องของตัวเองมาก ดังนั้น การใช้ยาให้ถูกกับโรคจึงสำคัญมาก"


ทั้งนี้ อาการโรคบีดีดีนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับความผิดปกติทางจิตอื่น เช่น โรคหมกมุ่น (obsessive compulsive disorder) ดังนั้น ยาที่ใช้จึงเหมือนกัน เช่น ยาโปรแซค (Prozac), หรือโซลอฟต์ (Zoloft) ส่วนวิธีการรักษาแบบอื่นๆ ก็จะได้แก่ การทำความเข้าใจและปรับการรับรู้ และการปรับพฤติกรรม เพื่อควบคุมความคิดเชิงลบเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตัวเอง และค่อยๆ เลิกพฤติกรรมหมกหมุ่น จนขัดขวางวิถีชีวิตทางสังคมตามปกติ


ผู้เชี่ยวชาญยังมองอีกว่า ปัญหานี้อาจจะเกิดจากการมีปัญหาในงาน เช่น รู้สึกไม่นับถือตัวเอง, กระวนกระวาย หรืออารมณ์เสีย, หรือมีภูมิหลังจากครอบครัวที่มีปัญหา และหลายๆ คนที่เป็นโรคบีดีดีนี้ ก็สามารถเรียนรู้ ที่จะอยู่กับความรู้สึกอันนี้ได้ หรือเรียนรู้ที่จะคิดในเชิงบวกกับข้อบกพร่องดังกล่าว


โอลิวาร์เดีย บอกว่า " บางคนแม้จะรู้สึกว่าตัวเองน่าเกลียด แต่ก็สามารถที่จะออกจากบ้าน และทำงานตามปกติได้ รวมทั้งมีกิจกรรมทางสังคมได้ โดยคนเหล่านี้จะต้องท้าทายความคิดของตัวเองเกี่ยวกับตัวที่เกิดขึ้น"


ฟิลลิปส์ กล่าวว่า การที่คนเรารู้ว่าตัวเองเป็นโรคอะไรอย่างถูกต้องนั้น จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับปัญหาได้อย่างถูกต้อง และจะช่วยให้เกิดการศึกษาในเรื่องนี้มากขึ้นด้วย และไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ที่ทำให้คำพูดนั้นหลุดปากออกมา ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะอย่างแรกเลยนั้น คนเราต้องยอมรับก่อนว่า เราเป็นอะไร และจะได้รับความช่วยเหลือที่ถูกต้องจากผู้ที่รู้ว่าจะต้องทำอย่างจริงๆ กับปัญหานั้น




เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์