โรคเซ็งเรื้อรัง ภัยบั่นทอนพลังชีวิต

โรคเซ็งเรื้อรัง ภัยบั่นทอนพลังชีวิต




หญิงเป็นมากกว่าชาย4เท่า


วันนี้ ดูเหมือนไปที่ไหนๆ ก็จะพบผู้คนที่ยิ้มแห้งๆ และบอกว่า "เซ็ง"โดยเป็นที่รู้กันว่า คำว่า "เซ็ง" กินขอบเขตไปถึงเรื่องอะไรบ้าง แต่ในความหมายของโรคเซ็งเรื้อรังที่มีการพูดถึงมากในวงการแพทย์ขณะนี้คือ กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง หรือ
Chronic Fatigue Syndrome (CFS) ซึ่งในที่นี้ขอเรียกว่าโรคเซ็งเรื้อรัง เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย

 

          'เซ็ง' เป็นเรื่องธรรมชาติพวกเราคงเคยมีความรู้สึกเซ็งๆ หรือเบื่อหน่าย อ่อนเพลีย ไม่อยากลุกไปทำงานหรือกิจวัตรประจำวัน เมื่อคิดว่าต้องไปพบกับอะไรกันมาบ้างแล้ว แต่อาการเซ็งของเราจะเป็นๆ หายๆ ตามสภาวะแวดล้อมซึ่งไม่เป็นอยู่นานนัก

 

          ผู้ที่ป่วยด้วยกลุ่มอาการ "เซ็งเรื้อรัง"ที่ว่านี้จะมีอาการอ่อนเพลียและเหนื่อยอ่อนอยู่เป็นระยะเวลานาน อาจเป็นเดือน หลายเดือน หรือเป็นปี ภายหลังจากที่ต้องพบกับภาวะเครียดอย่างรุนแรง หรือภายหลังการเจ็บป่วย เช่นไข้หวัดใหญ่ ท้องเดินอย่างแรง เป็นต้นอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรงของคนปกติมักจะหายไปภายหลังการได้พัก หรือนอนหลับให้เต็มที่ สัก 2-3 วัน แต่ผู้ที่เป็นโรคเซ็งเรื้อรัง ไม่ว่าจะพักผ่อนขนาดไหนหรือบำรุงร่างกายมากเพียงใด ก็ยังมีอาการอ่อนเพลียอย่างมากอยู่ โดยที่ไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติได้

 

          'เซ็งเรื้อรัง' อาการเกินธรรมดา นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ กล่าวว่าโรคเซ็งเรื้อรัง หรือ CFS นี้ มีผู้รายงานในชื่อของอาการอื่นมานานกว่า 1 ศตวรรษโดยในปี ค.ศ. 1860 นพ.จอร์จ เบียร์ดเรียกชื่อกลุ่มโรคนี้ว่า Neurasthenia โดยเชื่อว่าเป็นโรคประสาทชนิดหนึ่งที่มีอาการอ่อนเปลี้ย เหนื่อยง่ายโดยไม่พบสาเหตุ แพทย์อีกหลายคนวินิจฉัยผู้มีอาการเหล่านี้ว่าเป็นโรคโลหิตจางบ้างหรือน้ำตาลในเลือดต่ำบางครั้งเลยไปถึงคิดว่า เป็นโรคเชื้อราแคนดิดาทั้งตัวก็มี

 

          ต่อเมื่อวิวัฒนาการทางการแพทย์เลยเจริญขึ้น ในกลางทศวรรษที่ 1980 โรคนี้ถูกขนานนามว่าเป็น "Chronic EBV"โดยเชื่อว่าเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอ็บสไตน์ บาร์ แต่ในปัจจุบันทฤษฎีนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก เพราะเราสามารถตรวจพบระดับแอนติบอดีของไวรัสอีบีวี ที่เพิ่มขึ้นทั้งในผู้มีอาการและคนปกติ และในทางกลับกันผู้ที่มีอาการกลับไม่พบระดับของไวรัสอีบีวีแอนติบอดี หรือไม่เคยติดเชื้อไวรัสอีบีวีเลย

 

          ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเซ็งเรื้อรัง มักจะมีอาการอย่างรวดเร็ว เริ่มต้นโดยอาการปวดศีรษะ เจ็บบริเวณต่อมน้ำเหลือง ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และขาดสมาธิ เป็นอาการที่คล้ายกับไข้หวัดใหญ่แต่คงจะอยู่นานกว่า ส่วนใหญ่จะมีอาการภายหลังการเจ็บป่วยด้วยโรคทางกาย เช่น ไข้หวัด หลอดลมอักเสบตับอักเสบ บางรายอาจเกิดขึ้นหลังจากมีอาการของโมโนนิวคลีโอซิส หรือโรคจูบ(Kissing Disease) ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้พละกำลังของวัยรุ่นถดถอยลงไปชั่วระยะหนึ่ง ในบางรายอาการจะค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน ผู้ป่วยบางรายบอกว่า เริ่มมีอาการหลังจากพบกับความเครียดมากๆ

 

          น่าแปลกที่ว่า โรคเซ็งเรื้อรังจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2-4 เท่า อย่างไรก็ตาม แพทย์ทั่วไปยังคิดถึงโรคนี้น้อยกว่าที่ควร เนื่องจากการวินิจฉัยค่อนข้างยากเพราะมีอาการที่อาจเป็นได้หลายโรคแพทย์ต้องวินิจฉัยแยกโรคทางกาย ที่มีอาการอ่อนเพลียคล้ายๆ กันไปก่อน เช่นLupus หรือ Multiple Sclerosis ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นว่า โรคเซ็งเรื้อรังอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของโรคที่เป็นติดต่อกันโดยมีภาวะอ่อนเพลียเป็นอาการสำคัญ

 

          โรคเซ็งเรื้อรังยังไม่มีการรักษาที่เฉพาะลงไปได้ มีการให้ยาต้านไวรัสยาต้านอารมณ์เศร้า ยาเพิ่มภูมิคุ้มกันรวมทั้งการให้อิมมูโนโกลบูลินในขนาดสูงๆ บางรายใช้ยาสงบประสาทพวกBenzodiazepine ร่วมด้วย เพื่อลดอาการวิตกกังวลและช่วยให้หลับ นอกจากนี้ ยังใช้ยาเพื่อรักษาอาการ เช่น ยาระงับปวด หรือยาแก้โรคภูมิแพ้

 

          อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำว่า ผู้ที่มีอาการเรื้อรัง ควรพยายามรักษาสุขภาพของตนเอง รับประทานอาหารและพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายพอสมควร ที่จะไม่ให้เกิดอาการอ่อนเพลียอีก ผู้ป่วยควรรู้จักที่จะดูแลตนเองให้เหมาะทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา เพราะความเครียดจะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น

 

          ในยุคที่ชีวิตแวดล้อมด้วยเรื่อง "ชวนเซ็ง" อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเช่นนี้ การรู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง และชวนคนรอบตัวหันไปมองเรื่องดีๆ ที่ให้กำลังใจ ประกอบกับศึกษาหลักความเป็นธรรมดาของโลกน่าจะเป็นวัคซีนที่ดีที่สุดในการป้องกันตนเองและคนรอบตัวให้ปลอดภัยจากโรคที่ไม่มียารักษา แต่มีอานุภาพบั่นทอนสุขภาพได้อย่างรุนแรง

 

          เหนือขึ้นไปกว่านั้น การคิดและทำในสิ่งที่ดี บนหลักของการไม่เบียดเบียนและให้ความเคารพต่อเพื่อนร่วมสังคมอยู่เสมอ จะช่วยสร้างภูมิต้านทานการแพร่ระบาดของ "โรคเซ็งเรื้อรัง" ให้แก่สังคมไทยของเราทุกคน

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์