โลกคือปากกาแต่ตัวเราคือดินสอ

โลกคือปากกาแต่ตัวเราคือดินสอ


เพราะบางช่วง เบื่อหน่ายโลกแห่งการยัดเยียดข่าวสาร ผมจึงชอบเล่นทวิตเตอร์ว่า อยากจะกลับไปใช้มือถือรุ่น “อาม่า” ราคาถูกๆ หรืออามือสิบล้อใช้ ที่เอาไว้แค่ “รับ” และ “โทรออก”(จบ)

แต่แค่ทวีตเล่นๆ ก็มีเพื่อนๆ รอบตัวมารุมล้อมทางความคิดบ่นว่า มันเป็นไปไม่ได้เพราะนี่คือโลกแห่งความคลั่งข่าวสาร ผมก็ยิ้มๆ บอกว่า ไม่ว่าโลกจะเป็นอย่างไรมีทางเลือกมาให้แค่ไหน คนก็สามารถจะเลือกอะไรได้อยู่ดี
     
ผมยกตัวอย่างนักเขียนรุ่นพี่คนหนึ่ง ที่สามารถซื้อรถออดี้คันละ 8 ล้าน ด้วย “เงินสดๆ” แต่เขาปฏิเสธการเล่น social media โดยให้เหตุผลว่า นิยมชมชอบการโทรศัพท์คุยกับเพื่อนฝูงและคนรักมากกว่า เพื่อนคนนี้เล่าว่า รอบตัวเขาไม่มีใครไม่เล่น social media แต่เขาก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร(โดยไม่ต้องพยายามนี่นา)
     
จากทวิตผมเรื่องใช้มือถือ “อาม่า” มาจนถึงแนวคิดดีๆ ของรุ่นพี่คนนี้ มันก็สะท้อนไปยังภาพใหญ่ๆ เหมือน “ปากกากับดินสอ” ตอนเด็กๆ เราก็เหมือนดินสอ ซึ่งมีอยู่ “สีเดียว” มีด้ามที่ไม่หลากหลายเหมือนปากกา ภาพจำเกี่ยวกับดินสอของคนเรา ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก มันไม่เหมือน “ปากกา” เพราะนอกจากมีรูปแบบมากมายหลายอย่าง มันยังมี “สี” ทุกสี มีสไตล์ของปากกาการกดใช้ให้ตื่นเต้น มีแบรนด์เนมของปากกา (ขณะที่ดินสอไม่ค่อยมีแบรนด์มากนักในเชิง “ความหรูหรา”) การที่ “ปากกา” มีเรื่องของความแพงถูกมากกว่า “ดินสอ” จึงทำให้ปากกา มี “สถานะทางสังคม” มากกว่า หมายความว่า เวลามันปรากฏ “อยู่ในมือ” ของคนอ่านข่าวทางทีวี หรือในนิ้วของเซเลบนั้นๆ ยี่ห้อของปากกา ก็จะทำหน้าที่ในการบอก class ของคนใช้ด้วย (อาจารย์เจิมศักดิ์คงไม่ใช้ปากกาบิ๊กแท่งราคา 3 บาท ออกทีวีในสมัยก่อน)
     
ในยุคสมัยหนึ่งและสมัยนี้ “ปากกา” ยังทำหน้าที่เป็นเครื่องประดับ เป็นเฟอร์นิเจอร์ เมื่อมันถูกเหน็บอยู่ในเสื้อ เพื่อบอกถึงรสนิยมและสถานะบางอย่าง ขณะที่ “ดินสอ” ไปได้เต็มที่ มันก็แค่สิ่งของทางอารมณ์ที่อยู่ในห้องนอน หรือบนโต๊ะทำงาน ที่เสมือนสิ่งนอบน้อมถ่อมตัว โลกก็คงเหมือน “ปากกา” และตัวเราในบางคน ก็คงคล้ายกับ “ดินสอ” (อย่างน้อยก็ตัวของรุ่นพี่ผมคนนั้น) โดยสถานะหรือความพร้อม เขาสามารถเป็นใช้ชีวิตเป็น “ปากกาด้ามแพง” ได้ แต่ก็เต็มใจในการจะมีชีวิตแบบดินสอถูกๆ มากกว่า (ไม่ใช่ “ดินสอสี”) มีบางคนนะครับ ที่ทำตัวเรียบๆ ไม่ออกงานสังคมทั้งที่มีบัตรเชิญจากทุกห้างมาวางเป็นตั้งๆ มีแสงสีสจากสปอตไลท์ที่พร้อมจะส่องแสงและสาดไฟมา ถ้าเขาจะออกงาน (นี่หมายถึงคนอื่นๆ)
     
แต่สุดท้าย เขาก็เข้าใจตัวเองว่า ชีวิตที่เป็นตัวเราโดยหัวใจของเราเอง (ไม่ใช่โดยโฆษณาของมือถือมาบอก) อันนั้นสิ เป็นความงามอย่างหนึ่ง และเมื่อเลือกมันแล้ว เลือกจะเป็นดินสอแล้ว ก็ไม่ได้น้อยใจเพื่อนฝูงที่อยากเป็นปากกา เพราะในมุมหนึ่ง บทความนี้ก็ไม่ได้บอกว่า เป็นปากกานั้นผิดหรือเป็นดินสอสิถูก เพราะมันเท่ากัน ไม่มีอะไรดีกว่ากัน เพียงแต่เราควรเลือกสิ่งที่เป็นตัวตนเราจริงๆ ไม่ใช่เป็นตัวตนที่การตลาดหรือใครอื่น ตะโกนผ่านมาเข้าหูว่า “ต้องเป็น”
     
ในโลกที่รวดเร็ว เร่าร้อน รุนแรง ถ้าเราจะอ้อยสร้อยและอ้อยอิ่งบ้าง ก็ไม่เห็นว่าจะเชยตรงไหน ปากกากดตรงหัวเขียนแรงๆ มันก็คงไม่หัก แต่ถ้าเป็นดินสอ กดเขียนแรงหน่อย ก็ต้องเหลาใหม่ แต่ในความเปราะบางและอ่อนไหวนั้น มองดีๆ ก็มีความนุ่มนวล อ่อนช้อย ให้รู้จักใช้อยู่ในมือคนเขียน ช้าบ้าง อ้อยอิ่ง เว้าวอนบ้าง ก็เพื่อได้เห็นอะไรเพิ่ม เขียนผ่านปากกาและดินสอแล้ว ก็นึกถึง “บ้านไม้เก่าหลังหนึ่ง” ริมทะเลหัวหิน ที่รอบๆ ตัวถูกซื้อไปทำเป็นรีสอร์ตและโรงแรมหรูหมดแล้ว แต่ตายายคู่นั้น ก็เลือกที่จะอยู่กันในบ้านไม้ ไม่ได้เงินมากจากนายทุน แต่ก็มีมั่งคั่งความสุข จากการได้อยู่ในบ้านเก่าๆ มานานในหลังนั้น 
     
ถ้าฟูลฟีลเสียแล้ว ก็ไม่ต้องถามอะไรอีก ดังกับรวย ไม่ได้หมายถึงฉลาดคิดทุกคน ด้วยนี่นา เช่นนี้เอง, ถ้าเป็นปากกามา ก็อยากเป็นดินสอบ้าง

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์