โหงวเฮ้ง ในวิทยาศาสตร์


โหงวเฮ้ง ในวิทยาศาสตร์


ความอันตรายหนึ่งของแนวคิดที่ไม่มีวิทยาศาสตร์รองรับคือ มักจะนำไปสู่ความเสียหายต่อสังคมในวงกว้าง

ตัวอย่างของแนวคิดเช่นนี้คือ "โหงวเฮ้ง" ซึ่งเป็นแนวคิดจีนโบราณที่เชื่อว่า ลักษณะทางหน้าตาของบุคคล สามารถบ่งบอกถึงลักษณะนิสัย หรือบ่งบอกได้ว่า บุคคลนั้นจะประสบความสำเร็จหรือมีบุคลิกที่ดีหรือไม่

แม้แต่บริษัทใหญ่ๆ ในประเทศไทยบางแห่ง ก็ยังใช้โหงวเฮ้งเป็นตัวตัดสินว่า ผู้สมัครงานคนใดจะเหมาะกับงาน 

แนวคิดนี้นอกจากจะไม่มีวิทยาศาสตร์หรือข้อพิสูจน์ใดๆ รองรับ ยังเป็นการกีดกันบุคลากรที่มีความสามารถแต่ลักษณะหน้าตา ไม่ตรงกับความเห็นของซินแส จนอาจจะส่งผลกระทบต่อบริษัทหรือเศรษฐกิจของประเทศเสียเอง 

ทั้งที่เราควรตัดสินบุคคลหนึ่งๆ ที่ผลงานและความสามารถ ไม่ใช่หน้าตา ซึ่งเป็นเรื่องบังเอิญทางชีววิทยา

ตามจริงแล้ว ในหลักสิทธิมนุษยชนสากล การตัดสินคนด้วยสิ่งที่เปลี่ยน แปลงไม่ได้ หรือตัดสินจากสิ่งที่ได้รับมาตั้งแต่กำเนิด ไม่ว่าจะเป็นสีผิว ลักษณะหน้าตา หรือเชื้อชาติ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยซ้ำ

ในยุโรปสมัยกว่า 100 ปีก่อน ก็เคยมีความเชื่อผิดๆ ที่คล้าย โหงวเฮ้งเหมือนกัน โดยเริ่มจากนักกฎหมายชาวอิตาเลียนชื่อ ซีซาเร่ ลอมโบรโซ ที่เสนอว่า อาชญากรสามารถดูได้จากลักษณะโครงหน้าหรือกะโหลก

นายลอมโบรโซอ้างว่า ตนได้บันทึกรูปร่างหน้าตาของบรรดานักโทษในเรือนจำ และสรุปได้ว่า หน้าตาอาชญากรเหล่านี้มักมีลักษณะคล้ายกัน เช่น หูใหญ่ หน้าผากกว้าง กะโหลกสองด้าน ไม่เท่ากัน ฯลฯ 

ลอมโบรโซเสนอด้วยว่า ถ้าหากตำรวจเจอผู้ต้องหาที่หน้าตาเช่นนี้ ก็ไม่ต้องสอบสวนเลย เพราะสรุปได้เลยว่าเป็นอาชญากรตั้งแต่กำเนิดแน่ๆ แน่นอนว่า สุดท้ายแล้วแนวคิดของลอมโบรโซถูกวิจารณ์ว่าไม่เป็นความจริงเลย และมีการแฉว่านายลอมโบรโซเหยียดเชื้อชาติ จึงมักบันทึกรูปร่างของชาวต่างด้าวที่หน้าตาไม่เหมือนคนขาว ให้เป็นอาชญากร

นอกจากนี้ แนวคิดของลอมโบรโซยังเป็นการอ้างว่า คนบางคนเกิดมาเป็นโจร อย่างไรก็ต้องเป็นโจร ราวกับเป็นโชคชะตา

แต่ในความเป็นจริง อาชญากรรมเกิดจากพฤติกรรมและ สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่จากชาติกำเนิด หรือรูปร่างหน้าตาแต่อย่างใด


หักมุมพิศวง โดย ด๊อกเตอร์ บีเกิ้ล khaosod.sci@gmail.com นสพ.ข่าวสด



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์