ใยบวบ ประโยชน์ที่มากกว่าขัดตัว

ใยบวบ ประโยชน์ที่มากกว่าขัดตัว


นวัตกรรมที่ว่าคือ ก้อนจุลินทรีย์ใยบวบ ผลงานของ อาจารย์ทรัพย์ทวี อภิญญาวาท อาจารย์ผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ โรงเรียนยานนาเวศวิทยาคม ที่บัดนี้ถ่ายทอดสู่นักสิ่งแวดล้อมตัวน้อย และนำไปใช้ฟื้นฟูน้ำเสียอย่างได้ผลแล้วที่คลองวัดไผ่เงิน ค่ะ

ปัญหา อุปสรรค สร้างโอกาสเรียนรู้

   เรื่องเล่าไอเดียสร้างสรรค์นี้ เริ่มต้นจากปัญหาที่คุณครูทรัพย์ทวีตั้งขึ้นให้นักเรียนไปคิดโครงงานที่อยากทำในวิชาวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และมีนักเรียนกลุ่มหนึ่งปรึกษาว่าอยากฟื้นฟูสภาพน้ำเสียของคลองหน้าบ้าน

   “ครูกับนักเรียนจึงเริ่มลงมือเก็บขยะในคลองวัดไผ่เงิน และหาวิธีฟื้นฟูสภาพน้ำเสีย โดยใช้การปลูกพืชน้ำ คือ ผักตบชวา และธูปฤาษีผสมผสานกับการใช้น้ำหมักชีวภาพ หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า น้ำ EM.” 

   “ในช่วงแรก เราเทน้ำ EM. ลงไปในคลองเพื่อกำจัดคราบไขมัน และกลิ่นเหม็น ซึ่งก็เห็นผลนะคะ น้ำในคลองค่อยๆปรับสภาพดีขึ้น แต่คลองนั้นเป็นคลองน้ำไหล ดังนั้น การเทน้ำ EM. ลงไปอย่างเดียวจะสิ้นเปลืองมาก เพราะน้ำ EM. จะไหลตามน้ำไปหมด” 

   “ต่อมาจึงชวนนักเรียนมาปั้นระเบิดน้ำเสียจุลินทรีย์แบบก้อน สำหรับผูก หรือโยนลงในน้ำ โดยดูแบบจากก้อนระเบิดน้ำเสียจุลินทรีย์ที่มีวางขายในท้องตลาด และพยายามปั้นเป็นรูปทรงกระบอก แล้วเจาะรูตรงกลางเพื่อให้ก้อนจุลินทรีย์นั้นมีผิวสัมผัสกับน้ำให้มากที่สุด” 

   “แต่ก็เกิดปัญหาค่ะว่าพอเจาะรูตรงกลาง ก้อนที่ปั้นนั้นจะแตกร่วนจนเจาะรูไม่ได้ เพราะการปั้นด้วยมือเนื้อวัสดุจะไม่แน่นเหมือนการพิมพ์ด้วยเครื่องจักร”

ใยบวบ ช่วยได้ !

   แล้วปัญหาก็ได้รับการแก้ไขด้วยวัสดุธรรมชาติอย่างใยบวบค่ะ “คุณลักษณะของใยบวบเหมาะสมที่จะใช้เป็นแม่พิมพ์ในการปั้นก้อนระเบิดจุลินทรีย์มากค่ะ” อาจารย์ทรัพย์ทวีเกริ่นให้ทราบ

   “ทั้งรูพรุนที่ช่วยให้ส่วนผสมต่างๆเกาะกันแน่นขึ้น แถมยังเป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ ได้เป็นอย่างดี ตลอดจนรูปทรงกระบอกและรูตรงกลางที่ช่วยเพิ่มผิวสัมผัสน้ำ ก็ทำให้บำบัดน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ” 

   “จากผลการทดลองนำก้อนระเบิดน้ำเสียจากใยบวบไปโยนในคลองวัดไผ่เงินและทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ พบว่าน้ำในคลองมีค่าออกซิเจนเพิ่มมากขึ้น และมีค่าความเป็นกรด-ด่าง ลดลง”

   เชื่อรึยังคะว่า เพียงจิตสำนึกเล็กๆ ยังสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ทั้งชุมชน ลองคิดดูสิคะ ถ้าทุกคนมาร่วมมือกัน เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายเพียงใด

ก้อนระเบิดน้ำเสียจากใยบวบ

ส่วนประกอบของก้อนจุลินทรีย์ใยบวบ

  • รำละเอียด 1 ขัน (เส้นผ่านศูนย์กลาง 6 นิ้ว)
  • มูลสัตว์หรือปุ๋ยคอก 1 ขัน
  • แกลบ 1 ขัน
  • กากน้ำตาล 1-2 ช้อนโต๊ะ
  • หัวเชื้อจุลินทรีย์ EM. 1-2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำสะอาด 1 ถัง หรือ 10 ลิตร
  • ใยบวบสะอาด

วิธีการทำ

  1. คลุกรำละเอียดกับปุ๋ยคอกที่บดหรือย่อยเข้าด้วยกัน
  2. นำแกลบเทลงในถังซึ่งใส่น้ำผสมหัวเชื้อจุลินทรีย์ EM. และกากน้ำตาลไว้
  3. นำส่วนผสมทั้งหมดมาคลุกเคล้ากัน แล้วใช้ใยบวบเป็นแม่พิมพ์ปั้นผสมกับส่วนผสมทั้งหมด

Cheewajit

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์