ไขปริศนาวิกฤติน้ำท่วมใต้ เหตุใดหายนะหนักกว่าเดิม?

ไขปริศนาวิกฤติน้ำท่วมใต้ เหตุใดหายนะหนักกว่าเดิม?

พลันที่ประเทศไทยเริ่มสัมผัสลมหนาว นั่นเป็นสัญญาณถึงอีกด้านของภูมิประเทศอย่าง “ภาคใต้” เตรียมก้าวสู่ฤดูมรสุม   โดยห้วงปีหลังมานี้มักพบปริมาณฝนตกหนักถึงหนักมากจนเกิด “อุทกภัย” ในหลายพื้นที่ด้ามขวาน ซึ่งขณะนี้พายุฝนก็ได้ถล่มหลายพื้นที่ของจังหวัดภาคใต้ อย่างหนักหน่วงจนจมบาดาล เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น วันนี้ Special Report มีข้อมูลทางวิชาการ ให้ความกระจ่างได้ว่า น้ำท่วม และความรุนแรงขณะนี้ ก่อตัวได้อย่างไร

ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าสภาพการแปรปรวนของภูมิอากาศแบบผกผันในประเทศไทยช่วงปี 2553-2554 นั้น ก่อให้เกิดสภาพฝนไม่ตกตามฤดูกาล อีกทั้ง รูปแบบฝนตกได้เปลี่ยนไปจากอดีตค่อนข้างมาก กล่าวคือ ตกครั้งละมาก ๆ บางพื้นที่ฝนตกต่อเนื่องหลายวัน แต่บางครั้งฝนก็ทิ้งช่วงยาวนาน หรือ บางพื้นที่ไม่น่าจะมีฝนในบางช่วงเวลา กลับตกหนัก ทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยหลายภูมิภาค ด้วยอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และความชื้นมาก ทั้งยังอยู่ในช่วงของปรากฎการณ์ลานีญา ทำให้เกิดร่องความกดอากาศต่ำ และมรสุม ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า สภาพอากาศแบบลานีญาที่พบในประเทศไทยนั้น เกิดถี่มากขึ้น จาก 4.6 ปีจะวนมา 1 ครั้ง แต่ขณะนี้เหลือ 2.6 ปีต่อ 1 ครั้ง

“สำหรับฤดูฝนของภาคใต้ปีนี้ เป็นปีลานีญาที่ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ซึ่งเมฆฝน กลุ่มเมฆ และความชื้นมาก ประกอบกับการศึกษาลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และความชื้น ข้อมูลทางวิชาการบ่งชี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดอุทกภัยใกล้เคียงกับปี 2543 ซึ่งปัจจัยดังกล่าว เอื้อให้เกิดพายุ และฝนตกหนัก ทั้งนี้ เดือนตุลาคมถึงมกราคมเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูกาล จะทำให้ลมมรสุมเกิดความแปรปรวน และอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย โดยเฉพาะเดือนพฤศจิกายน

สิ่งที่เป็นห่วงคือ ปีที่ผ่านมา บางพื้นที่ชั้นดินอุ้มน้ำเยอะ แล้วมีการปริจนเกิดถล่ม แต่บางพื้นที่ยังไม่ถล่ม หากปีนี้ลักษณะฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยจึงควรเตรียมพร้อมรับมือ ระวังอันตรายที่อาจเกิดจากฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม” ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าว

ด้าน การวิเคราะห์แบบจำลองภูมิอากาศ และวิธีทางสถิติ ของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศ ราย 3 เดือน (พฤศจิกายน 2554 ถึง มกราคม 2555) พบว่ามรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะพัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้เกือบตลอดช่วง โดยมีกำลังแรงเป็นระยะ ๆ ส่วนมากในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม นอกจากนี้ บางช่วงร่องความกดอากาศต่ำจะพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง และตอนล่าง ในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคมตามลำดับ ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุก และฝนหนักถึงหนักมากบางพื้นที่“โดยเฉพาะด้านฝั่งตะวันออก ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป”อ่าวไทยจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร หากเป็นช่วงมรสุมกำลังแรงจะมีคลื่นสูงประมาณ 2-4 เมตร ส่วนทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูงประมาณ 1-2 เมตร

โดยมีข้อควรระวังคือ “เดือนพฤศจิกายน” มีโอกาสสูงที่พายุหมุนเขตร้อน (พายุดีเปรสชัน พายุโซนร้อน หรือ ไต้ฝุ่น) จะเคลื่อนเข้ามาใกล้ หรือ เคลื่อนผ่านประเทศไทยบริเวณภาคใต้ ซึ่งจะส่งผลให้บริเวณดังกล่าว มีฝนตกเพิ่มขึ้น และอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากบางพื้นที่ รวมทั้งอาจเกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศ และคำเตือนเรื่องพายุหมุนเขตร้อน จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น “เดือนธันวาคม และมกราคม”อาจมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงเคลื่อนผ่านภาคใต้ตอนล่าง ทำให้มีฝนตกเพิ่มขึ้น และอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากบางพื้นที่

ทั้งนี้ ภาคใต้ฝั่งตะวันออก (ฝั่งอ่าวไทย) ใน “เดือนมกราคม” ปริมาณ และการกระจายของฝนจะเริ่มลดลง กับตอนเช้าจะมีอากาศเย็นหลายพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนของภาค ส่วนตอนล่างของภาคจะยังคงมีฝนตกชุก และฝนหนักได้เป็นบางวัน และตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป จะมีฝนบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันตก (ฝั่งทะเลอันดามัน) ตั้งแต่ “เดือนธันวาคม” เป็นต้นไป ปริมาณ และการกระจายของฝนจะลดลงอย่างมาก อยู่ในเกณฑ์บางพื้นที่

ทั้งนี้ สิ่งบอกเหตุ “ดินถล่ม” จะมี “ปริมาณน้ำฝน” เป็นตัวกระตุ้นสำคัญ ดังนั้น เมื่อฝนตกหนักถึงหนักมาก (มากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน) ติดต่อกันบนภูเขาหลายวัน จนถึงระดับชั้นดินหมดขีดความสามารถอุ้มน้ำ จะทำให้บริเวณพื้นที่เสี่ยงปรากฏระดับน้ำในห้วยสูงขึ้นรวดเร็ว สีของน้ำเปลี่ยนเป็นสีดินบนภูเขา มีเสียงดังอื้ออึงผิดปกติมาจากภูเขา และลำห้วย มักเกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินไหล ดินถล่ม โคลนถล่มพังทลายลงมาพร้อมต้นไม้

นอกจากนั้น ในบริเวณกระแสน้ำไหลหลาก ไม่ควรสัญจรผ่าน เพราะอาจประสบอุบัติภัยจากภาวะไหลเชี่ยว ทั้งนี้ ควรหาสถานที่หลบภัย-จุดนัดพบที่สูง มั่นคง แข็งแรง วางแผนเส้นทางอพยพ เตรียมสิ่งของเครื่องใช้เวชภัณฑ์จำเป็น เพื่อการเดินทางที่สะดวกรวดเร็ว และคอยรับฟังข้อมูลเตือนภัย หรือ รายงานสถานการณ์ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

ยามนี้การรับสารเพื่อตระหนัก พึงระวัง เตรียมป้องกัน ลดความเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้นจากอุทกภัยอย่างรู้เท่าทัน และพร้อมรับมือ จึงจำเป็นสำหรับการปรับตัว และวางแผนรับมือในอนาคต ในขณะที่ การสร้างระบบแก้ปัญหาที่ดีจากผู้เกี่ยวข้องก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์