ไขรหัสลับ เชอร์ล็อก โฮลมส์

ไขรหัสลับ เชอร์ล็อก โฮลมส์


            เชอร์ล็อก โฮลมส์ (Sherlock Holmes) เป็นนวนิยายสืบสวนหรือรหัสคดี ประพันธ์โดยนักเขียนและนายแพทย์ชาวสก็อต คือ เซอร์อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ตัวละคร เชอร์ล็อก โฮลมส์ เป็นนักสืบชาวลอนดอนผู้ปราดเปรื่องที่มีชื่อเสียงโด่งดังด้านทักษะการประมวลเหตุและผล โดยอาศัยหลักฐานและการสังเกตอันคาดไม่ถึงเพื่อคลี่คลายคดีต่างๆ

เชอร์ล็อก โฮลมส์ มีชื่อเต็มว่า วิลเลียม เชอร์ล็อก สก๊อต โฮลมส์ เป็นชาวอังกฤษ เกิดเมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1854 มีนิสัยรักสันโดษ แต่ก็ยังไม่สันโดษเท่าพี่ชาย คือ ไมครอฟต์ โฮลมส์ ที่คอยช่วยเหลือเขาในบางคดี โฮลมส์มีรูปร่างสูง ผอม จมูกโด่งเป็นสันเหมือนเหยี่ยว มีความรู้รอบตัวในหลาย ๆ ด้านทั้ง เคมี ฟิสิกส์ และความรู้เกี่ยวกับพืชมีพิษตระกูลต่าง ๆ แต่เขาไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับดาราศาสตร์เลย และเขายังเก่งเรื่องเล่นไวโอลินอีกด้วย

โฮลมส์มีอารมณ์แปลก ๆ บางครั้งก็เศร้าซึม พูดน้อย บางครั้งก็ร่าเริง หมอวัตสัน เพื่อนคู่หูของเชอร์ล็อก โฮลมส์ ได้บรรยายถึงลักษณะต่าง ๆ ของโฮลมส์เอาไว้ในบันทึกคดีคราวต่าง ๆ กัน เช่น ในเวลาที่กำลังครุ่นคิดเรื่องคดี โฮลมส์จะไม่ทานข้าวเช้า (จาก ตอน ช่างก่อสร้างเจ้าเล่ห์ (the Norwood Builder) ) โฮลมส์ชอบทำการทดลองเคมี แล้วทิ้งข้าวของในห้องกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ (จาก ตอน ปริศนาลายแทง (Musgrave Ritual) ) โฮลมส์สูบไปป์จัดมาก มักกลั่นแกล้งตำรวจโดยการให้ข้อมูลปลอมหรือปกปิดหลักฐานบางอย่าง แต่ก็มีความเป็นสุภาพบุรุษและให้เกียรติแก่สตรีอย่างสูง (จาก ตอน นายหน้าขู่กิน (Charles Augustus Milverton) ) แต่นิสัยที่หมอวัตสันเห็นว่าเลวร้ายและยอมรับไม่ได้เลย คือ การที่โฮลมส์ชอบเสพโคเคนกับมอร์ฟีน ซึ่งวัตสันเห็นว่าเป็นความชั่วประการเดียวที่โฮลมส์มี


แผนผังบ้านเลขที่ 221 บี ถนนเบเกอร์ แผนผังบ้านเลขที่ 221 บี ถนนเบเกอร์


แม้โฮลมส์จะชอบกลั่นแกล้งตำรวจ แต่เขาก็เป็นมิตรที่ดีของสก๊อตแลนด์ยาร์ดโดยเฉพาะสารวัตรเลสเตรด และมักยกความดีความชอบในคดีให้แก่ฝ่ายตำรวจอยู่เสมอ ในตอน สัญญานาวี โฮลมส์เคยบอกว่า ในบรรดาคดีที่เขาสะสาง 53 คดี เขายกความสำเร็จให้เพื่อนตำรวจไปเสีย 49 คดี คงมีแต่เพียงหมอวัตสันที่บรรยายถึงความสามารถของเขาผ่านทางบันทึกเท่านั้น

โฮลมส์มีศัตรูตัวฉกาจ ชื่อ ศาสตราจารย์เจมส์ มอริอาร์ตี้ ศาสตราจารย์ผู้มีมันสมองปราดเปรื่องในด้านอาชญากรรม อีกทั้งยังเป็นตัวการเบื้องหลังในบางคดีที่เกิดขึ้นอีกด้วย คำพูดของโฮลมส์ที่ติดปากกันดี คือ "ถ้าเราตัดสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ทั้งหมดออกไป สิ่งที่เหลืออยู่ ไม่ว่ามันจะดูเหลือเชื่อเพียงใด แต่มันก็เป็นความจริง"



โคนัน ดอยล์ แต่งเรื่องเชอร์ล็อก โฮลมส์ ไว้ทั้งสิ้นเป็นเรื่องยาว 4 เรื่อง และเรื่องสั้น 54 เรื่อง เกือบทุกเรื่องเป็นการบรรยายโดยเพื่อนคู่หูของโฮลมส์ คือ ดร. จอห์น เอช. วัตสัน หรือ หมอวัตสัน ในจำนวนนี้ มี 2 เรื่องที่โฮลมส์เป็นผู้เล่าเรื่องเอง และอีก 2 เรื่องเล่าโดยบุคคลอื่น เรื่องสั้นสองเรื่องแรกตีพิมพ์ใน Beeton's Christmas Annual ในปี ค.ศ. 1887 และ Lippincott's Monthly Magazine ในปี ค.ศ. 1890 แต่หลังจากที่ชุดเรื่องสั้นลงพิมพ์เป็นคอลัมน์ประจำใน นิตยสารแสตรนด์ เมื่อปี ค.ศ. 1891 นิยายเรื่องนี้ก็โด่งดังเป็นพลุ เหตุการณ์ในนิยายอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1878 ถึง ค.ศ. 1903 และคดีสุดท้ายเกิดในปี ค.ศ. 1914

เมื่อถูกถามว่า เชอร์ล็อก โฮลมส์มีตัวตนจริงหรือไม่ โคนัน ดอยล์ มักตอบว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างเชอร์ล็อก โฮลมส์ มาจากนายแพทย์โจเซฟ เบลล์ ผู้ซึ่งดอยล์เคยทำงานด้วยที่โรงพยาบาลเอดินเบิร์กรอยัล นายแพทย์เบลล์มีความสามารถในการหาข้อสรุปจากความสามารถในการสังเกตรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่นเดียวกับเชอร์ล็อก โฮลมส์ นอกจากนี้นายแพทย์เบลล์ยังมีความสนใจในอาชญากรรมและเคยช่วยเหลือตำรวจในการคลี่คลายคดีต่างๆ ด้วย


Sherlock Holmes โดยการสวมบทบาทจากนังแสดงหลายต่อหลายท่าน Sherlock Holmes โดยการสวมบทบาทจากนังแสดงหลายต่อหลายท่าน


ความโด่งดังของเชอร์ล็อก โฮลมส์ ทำให้ผู้อ่านจำนวนมากเชื่อว่าเขามีตัวตนจริงและพากันเขียนจดหมายไปหาเขาตามที่อยู่ในหนังสือ มีพิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮลมส์ ตั้งขึ้นในตำแหน่งที่น่าจะเป็นบ้านในนวนิยายของเขาในกรุงลอนดอน นับเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกที่สร้างขึ้นสำหรับตัวละครในนิยาย เรื่องราวของเชอร์ล็อก โฮลมส์ มีการนำไปดัดแปลงและแต่งเพิ่มเติมขึ้นใหม่อีกโดยนักเขียนคนอื่น ทั้งที่เขียนร่วมกับทายาทของโคนัน ดอยล์ และเขียนขึ้นใหม่เป็นเอกเทศ บทประพันธ์ของโคนัน ดอยล์ และนวนิยายที่แต่งขึ้นใหม่ ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ละครวิทยุ และสื่ออื่นๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน จนกระทั่งเชอร์ล็อก โฮลมส์ ได้รับการบันทึกจากกินเนสส์บุ๊คว่าเป็น "ตัวละครที่มีผู้แสดงมากที่สุด" ภาพลักษณ์ของโฮลมส์กลายเป็นสัญลักษณ์ของนักสืบ และส่งอิทธิพลต่อวรรณกรรมและการแสดงในประเภทรหัสคดีจำนวนมาก


ไขรหัสลับ เชอร์ล็อก โฮลมส์


เชอร์ล็อก โฮลมส์ ตอนแรกที่ลงตีพิมพ์ใน Beeton's Christmas Annual คือตอน แรงพยาบาท (A Study in Scarlet) โดยบทแรกเล่าถึงการพบกันครั้งแรกระหว่างโฮลมส์กับวัตสัน ทั้งสองมาเช่าห้องพักร่วมกันที่บ้านเลขที่ 221 บี ถนนเบเกอร์ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1881 แต่เนื้อเรื่องใน แรงพยาบาท เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1884

เวลานั้นโฮลมส์เป็นนักสืบอยู่แล้ว ส่วนหมอวัตสันเพียงต้องการพักผ่อนหลังจากเกษียนตัวเองจากสงครามอัฟกานิสถาน ในช่วงแรกหมอวัตสันรู้สึกว่าโฮลมส์ช่างเป็นคนแปลกประหลาด แต่ต่อมาเมื่อคุ้นเคยขึ้น วัตสันจึงเข้าใจและมองเห็นความสำคัญของสิ่งที่โฮลมส์ทำ นับแต่นั้นหมอวัตสันได้ร่วมในการสืบสวนคดีของโฮลมส์หลายต่อหลายครั้ง และเขียนเป็นบันทึกเก็บไว้อ่าน เนื้อเรื่อง เชอร์ล็อก โฮลมส์ ที่โคนัน ดอยล์ ประพันธ์นั้น สมมุติขึ้นว่าเป็นการเล่าเรื่องจากสมุดบันทึกของหมอวัตสัน ซึ่งเขาส่งให้หนังสือพิมพ์ตีพิมพ์บ้างบางตอน เพราะต้องการเผยแพร่กิตติคุณความสามารถของโฮลมส์ให้โลกรู้



(แรงพยาบาท : A Study in Scarlet ในการตีพิมพ์ครั้งแรก)


Sherlock Holmes & Dr.Watson ในภาพยนตร์ล่าสุด สวมบทบาทโดย โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ และ จู๊ด ลอว์Sherlock Holmes & Dr.Watson ในภาพยนตร์ล่าสุด สวมบทบาทโดย โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ และ จู๊ด ลอว์


ในเรื่องยาว แรงพยาบาท (A Study in Scarlet) หมอวัตสันเคยประเมินทักษะต่าง ๆ ของโฮล์มส์ไว้ ดังนี้

1.ความรู้ด้านวรรณกรรม — น้อยมาก
2.ความรู้ด้านปรัชญา — ไม่มี
3.ความรู้ทางดาราศาสตร์ — ไม่มี
4.ความรู้ด้านการเมือง — น้อยมาก
5.ความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ — ไม่แน่นอน ชำนาญพิเศษด้านพืชมีพิษและฝิ่น แต่ไม่รู้ด้านการทำสวน
6.ความรู้ด้านธรณีวิทยา — ชำนาญ แต่มีข้อจำกัด สามารถบอกความแตกต่างระหว่างดินแต่ละชนิด เช่นหลังจากออกไปเดินเล่น สามารถระบุตำแหน่งที่ได้รับรอยเปื้อนดินบนกางเกงได้ว่ามาจากส่วนไหนของลอนดอน โดยดูจากสีและลักษณะของดิน
7.ความรู้ด้านเคมี — ยอดเยี่ยม โฮลมส์ได้รับตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์จากสมาคมเคมีแห่งราชสำนักอังกฤษ
8.ความรู้ด้านกายวิภาค — แม่นยำ แต่ไม่เป็นระบบ
9.ความรู้ด้านอาชญวิทยา — กว้างขวาง ดูเหมือนจะรู้จักเหตุสะเทือนขวัญอย่างละเอียดทุกเรื่องในรอบศตวรรษ
10.เล่นไวโอลินได้ดีมาก และยังเป็นเจ้าของไวโอลินสตราดิวาเรียส อันมีชื่อเสียง
11.
เป็นนักมวยและนักดาบ
12.
มีความรู้กฎหมายอังกฤษเป็นอย่างดี



ขอบคุณ ข้อมูลจาก : wikipedia

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์