ไดร์เป่าผม...ไม่มีคุณภาพอาจก่อโรคร้าย

ไดร์เป่าผม...ไม่มีคุณภาพอาจก่อโรคร้าย


         กรมควบคุมโรคเตือนภัยผู้ใช้ไดร์เป่าผม-อบผมที่ใช้ฉนวนใยหินในการผลิต อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดและโรคเกี่ยวกับปอดเพราะฉนวนใยหินเป็นสาร ก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง ขณะใช้งานกำลังลมมอเตอร์ของไดร์เป่าผมหรืออบผมจะพ่นอากาศออกมาและมีเส้นใยหลุดปลิวออกมา หากสูดดมเข้าไปอาจเป็นอันตรายต่อปอด เผยทั่วโลกมีคนตายจากแร่ใยหินปีละกว่า 1 แสนคน และกว่า 50 ประเทศทั่วโลกมีกฎหมายห้ามใช้แล้ว เตือนอาชีพเสี่ยงภัยและสินค้าอันตรายกว่า 3,000 ชนิด ขณะที่เครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเตรียมผลักดันให้ประเทศไทยยกเลิกการนำ เข้าและใช้แร่ใยหินภายในปี 2555

        ดร.นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสำนักโรคฯ กำลังทำการสำรวจสถานการณ์ความเสี่ยงต่อการหลุดปลิวของแร่ใยหินจากไดร์เป่าผม และเครื่องอบผมตามร้านเสริมสวยว่าจะมีแร่ใยหิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งฟุ้งกระจายออกมาในระหว่างการใช้งานหรือไม่ และจะเก็บตัวอย่างไดร์เป่าผมที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดโดยเฉพาะในตลาดระดับ ล่างเพื่อสำรวจว่าเป็นฉนวนใยหินหรือไม่ ซึ่งการผลิตอุปกรณ์ให้ความร้อนดังกล่าวมักมีการใช้แร่ใยหินเป็นฉนวนในการผลิตเพราะมีราคาถูก และแร่ใยหินก็ทนต่อความร้อนได้ดี

        โดยพบว่ามีการใช้ฉนวนจากแร่ใยหินทั้งในไดร์เป่าผมแบบมือถือและเครื่องอบผมตามร้านเสริมสวยทั่วไป การได้รับฝุ่นแร่ใยหินที่ปลิวออกมาจากเครื่องเป่าและอบผมขณะใช้งานอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยทำให้เป็นโรคมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอดและโรคปอดอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกาได้มีการห้ามใช้ใยหินเป็นฉนวนในอุปกรณ์ดังกล่าวกว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งผู้ที่ได้รับอันตรายจะเป็นทั้งผู้มีอาชีพให้บริการคือช่างแต่งผมเองและลูกค้า รวมทั้งผู้ที่ใช้ในบ้านเป็นประจำ

         “ที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีผลการสำรวจวิจัยออกมาตั้งแต่ปี 2524 แล้ว จากการตรวจสอบไดร์เป่าผมและอบผมที่ยังอยู่ในสภาพดี 30 ชนิดทั้งที่ใช้ตามบ้านและตามร้านเสริมสวย พบว่ามีปริมาณแร่ใยหินหลุดออกมาในระหว่างการใช้งานเกินกว่ามาตรฐานความ ปลอดภัย ซึ่งมาตรฐานที่กำหนดไว้คือไม่เกิน 0.01 เส้นใยต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร โดยพบว่าแร่ใยหินสามารถหลุดปลิวออกมากว่า 0.11 เส้นใยต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร ทางองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ของสหรัฐอเมริกาจึง มีประกาศเตือนผู้บริโภค และขอความร่วมมือให้บริษัทเรียกเก็บคืนสินค้าที่ไม่ปลอดภัยออกจากท้องตลาด และต่อมาในปี 2532 จึงมีกฎหมายควบคุมการใช้แร่ใยหินในการผลิตฉนวนความร้อนออกมา” ดร.นพ.สมเกียรติกล่าว

        ส่วนผลการสำรวจวิจัยของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพฯ จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนปีหน้า เมื่อได้ผลออกมาเป็นอย่างไรแล้วจะแจ้งให้สาธารณชนได้รับทราบ หากพบว่ามีอันตรายก็ต้องมีมาตรการควบคุมหรือป้องกันต่อไป โดยคาดว่าจะมีการเก็บตัวอย่างไดร์เป่าผมชนิดมือถือจากท้องตลาดประมาณ 30 ตัวอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามาจำหน่ายยังตลาดล่างและมีราคาถูก ไม่มีมาตรฐานรับรองเป็นที่น่าเชื่อถือ ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อได้ว่ามีการใช้แร่ใยหินเป็นฉนวนในการผลิต เนื่องจากเป็นฉนวนที่มีราคาถูกกว่าฉนวนชนิดอื่นๆ

       “ดังนั้นผู้ที่ใช้ไดร์เป่าผมเป็นประจำ รวมทั้งช่างแต่งผมจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ ดูแลรักษาสภาพเครื่องให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดี ไม่ชำรุดทรุดโทรม ใช้บริการช่างซ่อมที่มีความชำนาญเฉพาะเท่านั้น ไม่แกะซ่อมแซมเอง เลือกใช้สินค้าที่มีมาตรฐานหากเป็นไปได้ควรเลือกชนิดที่ไม่ใช้ฉนวนใยหิน ขณะใช้งานควรเปิดให้ห้องมีอากาศถ่ายเทได้ดี ลดระยะเวลาใช้งานให้สั้นที่สุดเท่าที่จำเป็น ใช้งานแต่น้อยไม่ใช้ถี่ ไม่จำเป็นก็ไม่อยู่ในพื้นที่ที่มีใยหินปนเปื้อนในอากาศ การใช้ผ้าเช็ดผมหรือปล่อยให้ผมแห้งเองตามธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้เครื่องเป่าผม เป็นต้น” ดร.นพ.สมเกียรติกล่าว

       
สาวๆ ท่านใดรู้อย่างนี้แล้วก็ควรระมัดระวังในการเลือกซื้อสิ้นค้าที่ไม่มีคุณภาพด้วยนะค่ะ









ที่มา ... วิชาการ.คอม และ สสส.

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์