ไทยติดอันดับ 7 เด็ก-ผู้หญิง ถูกกระทำความรุนแรงทั่วโลกในรอบ 10 ปี

ไทยติดอันดับ 7 เด็ก-ผู้หญิง ถูกกระทำความรุนแรงทั่วโลกในรอบ 10 ปี


สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผยข้อมูลจาก UN Women ในหัวข้อ "2011-2012 Progress of the World's Women: in Pursuit of Justice" พบว่า ประเทศไทยติดอันดับต้นๆ เกี่ยวกับการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง 

โดยเฉพาะในครอบครัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2544-2553) โดยประเด็นความรุนแรงทางเพศต่อคู่ของตนเอง จาก 71 ประเทศ ไทยอยู่ลำดับที่ 7 หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ที่ผู้หญิงถูกทำร้ายจากคนรัก ซึ่งในจำนวนนี้เป็นความรุนแรงทางเพศมากที่สุด


อีกทั้งในเรื่องความเชื่อที่ว่าสามีตีภรรยาเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ประเทศไทยขึ้นแท่นเป็นอันดับ 2 จาก 49 ประเทศ รองจากประเทศแซมเบีย และมาเลเซียก็มีความเชื่อดังกล่าวเป็นอันดับที่ 4 ในโลก ขณะที่ความรุนแรงทางร่างกายต่อคู่ของตนเองอยู่ในลำดับที่ 36 จาก 75 ประเทศ ซึ่งประเทศที่ติดอันดับต้นๆ มักเป็นประเทศด้อยพัฒนาอย่าง กิรีบาติ, คองโก, เอธิโอเปีย, บังกลาเทศและยูกันดา


นอกจากนี้ ข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปี 2553 เด็กและสตรีถูกทำร้ายแล้วมารักษาที่โรงพยาบาลมีจำนวน 25,744 ราย เฉลี่ย 71 รายต่อวัน เท่ากับว่าทุก 20 นาทีจะมีเด็กหรือสตรี 1 รายถูกทำร้ายจากคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นสามีหรือคนในครอบครัว ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า จากปี 2547 ที่มีเด็กและสตรีถูกทำร้ายและมารักษาที่โรงพยาบาลจำนวน 6,951 ราย เฉลี่ยวันละ 19 ราย

แม้ว่าทางรัฐบาลจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ด้วยการเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบตั้งแต่ปี 2528 และพิธีสารเลือกรับในปี 2543 ตลอดจนรับรองอนุสัญญาปักกิ่งและเป้าหมายแห่งสหัสวรรษ รวมทั้งรับรองปฏิญญาว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรีอาเซียน และได้กำหนดให้มีกฎหมาย มาตรการ และกลไกต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ว่า


ที่เป็นเช่นนั้น สมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม. ระบุว่า เหตุปัญหาเกิดจาก เดิมสภาพสังคมไทยมีการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว จนกลายเป็นความเคยชินมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันปัญหาดังกล่าวก็สะสมทับถมเป็นภูเขาน้ำแข็งที่ปรากฏแต่ยอด แต่ที่ซ่อนอยู่ข้างใต้ไม่มีใครกล้านำมาเปิดเผย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมโดยรวมมองว่า 1.ความรุนแรงดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนตัว 2.ค่านิยมดั้งเดิมฝังรากว่าภริยาเป็นสมบัติของสามี ลูกเป็นสมบัติของพ่อแม่ 3.เจตคติทางสังคมก็มีแนวโน้มประณามผู้หญิงและเด็กว่าเป็นผู้สร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง จนผู้เสียหายไม่กล้าเปิดเผยเรื่องราวเพราะรู้สึกผิดหรืออับอาย 4.ตราบาปที่สังคมมอบให้ ทำให้เด็กและผู้หญิงต้องซ่อนเร้นและทนรับสภาพปัญหาเพียงลำพัง ถูกกระทำซ้ำๆ แบบหาทางออกไม่ได้ 5.สังคมส่วนรวมขาดความเข้าใจ และตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เป็นเหตุให้ผู้มีความเสี่ยงสูงไม่ได้รับการปกป้องหรือบรรเทาปัญหา จนลุกลามเกินจะแก้ไขเยียวยา


"ทั้งหมดจึงนำมาซึ่งการโต้กลับด้วยความรุนแรง เช่น ผู้หญิงเฉือนอวัยวะเพศผู้ชาย ภรรยาฆ่าสามีด้วยความคับแค้นที่ถูกทำร้าย เพราะทัศนคติและค่านิยมดังกล่าวยังถูกหล่อหลอมและถ่ายทอดรุ่นต่อรุ่นสู่ปัจจุบัน ผ่านสื่อหลายรูปแบบที่ยังคงเน้นย้ำถึงความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกัน ในบทบาทและสภานภาพของหญิงและชาย จนนำไปสู่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจบนพื้นฐานความแตกต่างทางเพศ หรือ Gender Power Relation ที่ผู้แข็งแรงกว่าจะมีอำนาจในการควบคุมผู้ที่อ่อนแอกว่า ทั้งที่ข้อเท็จจริงใครก็ไม่มีสิทธิ์ทำร้ายหรือกระทำชำเราผู้ใด"


ผอ.สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวต่อว่า จึงเป็นที่มาของนโยบายจาก พม.ที่ต้องการป้องกันเหตุร้ายด้วยการสร้างความเคลื่อนไหวทางสังคม ด้วยการสร้างกระแสของการไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว พร้อมทำให้เกิดการรับรู้ว่าปัญหานี้เป็นเรื่องของทุกคนทุกฝ่าย และส่งเสริมให้ครอบครัวมีความเข้มแข็ง อบอุ่น เช่น ใช้เวลาเรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกันอย่างมีคุณภาพ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดความรุนแรงในครอบครัวซึ่งหากพบเห็นความรุนแรงในลักษณะที่ว่า ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมช่วยเหลือและเฝ้าระวัง และมีหน้าที่แจ้งต่อเจ้าพนักงงานทั้งตำรวจ ปลัดอำเภอ กำนัน แม้กระทั่งผู้ใหญ่บ้าน หรือช่องทางการรับแจ้งเหตุ เช่น ศูนย์ประชาบดี 1300 โทร.ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง มูลนิธิเพื่อนหญิง ศูนย์พึ่งได้ของ สธ. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น


ท้ายนี้ สมชายเชิญชวนคนไทยร่วมกิจกรรมติดเข็มกลัดริบบิ้นสีขาว สัญลักษณ์สากลที่แสดงถึง "การไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว" และตื่นตัวต่อเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้น ตามมติของคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้เดือน พ.ย.ของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคร่วมกันจัดกิจกรรม เพื่อสร้างกระแสให้เกิดความตระหนักต่อปัญหา และนำไปสู่การรวมพลังยุติความรุนแรงทุกรูปแบบต่อเด็กและสตรี



ขอบคุณ ไทยโพสต์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์