ไผ่ วัตถุดิบศตวรรษ 21

ไผ่ วัตถุดิบศตวรรษ 21


ใครๆ ก็รู้ว่าไผ่เป็นพืชมหัศจรรย์สารพัดประโยชน์ อยู่เคียงข้างประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเรามาหลายพันปี  พัวพันกับชีวิตตั้งแต่จากครรถ์มารดาสู่เชิงตะกอน อุแว้ออกมาก็ใช้มีดไผ่คมกริบตัดสายสะดือ พอตาย ก็เอาแคร่ไม้ไผ่หามร่างเอาไปเผา เผลอๆ อาจได้ไฟจุดจากไม้ไผ่ผ่าซีกอีก

แม้ว่าไผ่จะขึ้นกระจายกว้างไกลอยู่ทั่วโลก แต่คนเอเชียมีวัฒนธรรมไผ่โดดเด่นกว่าใคร จนไผ่กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งเอเชีย เป็นความงาม เรียบง่าย เต๋า เซน และเศรษฐกิจพอเพียง

เนื่องจากเรามักจะมองเศรษฐกิจพอเพียงเป็นวิถีชีวิตแสนสุขของคนมักน้อยแห่งวันวาน พอให้นึกถึงไม้ไผ่ เราก็จะเห็นแต่ภาพเครื่องจักสานและกระท่อมโย้ปลายนา  ถ้ารวยเก๋มีรสนิยมวิไล ก็อาจนำไปประกอบบรรยากาศสปารีสอร์ต เพื่อชื่นชมได้ปลื้มกับสัมผัสรักษ์ธรรมชาติเรียบๆ ง่ายๆ ของตัวเองในราคาหลักหมื่น

แต่ถ้าคุณกูเกิ้ลเข้าไปค้นหาแบมบูแก็ตเจ๊ต และนวัตกรรมโมเดิร์นจากไผ่ คุณจะพบว่าไผ่กำลังเป็นวัตถุดิบที่ฮ๊อตที่สุดในยุคโลกร้อน


ไผ่ วัตถุดิบศตวรรษ 21


เราไม่พูดถึงกระบุงตะกร้า เก้าอี้ดีไซเนอร์ ชิ้นส่วนตกแต่งภายใน หรือแม้แต่ฝาปิดคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปของเอซัสที่ทำจากไผ่  แต่ขอบอกว่าสินค้าไผ่ยุคนี้กำลังก้าวล้ำพรมแดนวัสดุอื่น 


รายการกูเกิ้ลจึงมีกางเกงในและบราเซียผ้าใยไผ่  พลาสติกเขียวมิตซูบิชิ จักรยานไม้ไผ่ และกระดานโต้คลื่นรางวัลชนะเลิศ ด้วยคุณสมบัติเหนือกระดานไฟเบอร์กลาสชนิดเทียบแทบไม่ติด

ไผ่เป็นหญ้ายักษ์โบราณที่มีความแข็งแรงของไม้และความโอนอ่อนของต้นหญ้าผสมผสานในเนื้อเดียวกัน เหนียว แกร่ง เบา มีสปริงยืดหยุ่นไปพร้อมๆ กัน  อันนี้เป็นคุณสมบัติของยอดบู๊ลิ้ม เป็นเคล็ดลับของศิลปะการต่อสู้ตะวันออก ที่วิศวกรและสถาปนิกทั่วโลกกำลังหลงไหล ไซมอน เวเลซ สถาปนิกชาวโคลัมเบีย ผู้สร้างโครงสร้างไม้ไผ่กว้างใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อปีที่แล้วที่เม็กซิโกซิตี้ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 55,000 ตารางฟุต ถึงกับตั้งสมญานามไม้ไผ่ว่า "Vegetal Steel" - เหล็กกล้าพืช พร้อมกับบอกว่า "ลืมเหล็กกล้าและคอนกรีตไปได้เลย วัสดุก่อสร้างของศตวรรษที่ 21 ดูท่าว่าจะเป็นไม้ไผ่"

ที่สำคัญ ไผ่เป็นพืชบกที่โตเร็วที่สุดในโลก บางชนิดโตได้เกือบ 1 เมตรต่อวัน และสามารถปลูกเป็นสวนป่าใช้งานได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี โดยไม่ทำลายดิน มันจึงเป็นวัสดุที่สามารถจัดการให้ยั่งยืนได้ไม่ยาก เพราะผลิตหมุนเวียนในพื้นที่จำกัดได้เร็ว

ไผ่จึงตอบโจทย์การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนในยุคคนล้นโลก ป่าหดหาย น้ำเป็นพิษ แผ่นดินปนเปื้อน ภูมิอากาศแปรปรวน ได้ดีกว่าวัตถุดิบอื่นๆ ที่เราใช้ๆ กันอยู่

เนื้อเยื่อของไผ่สามารถนำมาทำเป็นผ้าคุณภาพดี ใส่สบายพอๆ กับผ้าลินินและผ้าฝ้าย แถมไม่ใช้สารเคมีปลูกอย่างไร่ฝ้ายส่วนมาก และมีคุณสมบัติพิเศษฆ่าเชื้อแบคทีเรีย คนผิวขี้แพ้ใส่ได้สบาย

ผ้าใยไผ่จึงกำลังเป็นที่ฮือฮาในวงการแฟชั่น โดยเฉพาะในหมู่ดีไซเนอร์หัวใจเขียวอย่าง แคทเธอรีน แฮมเน็ต และลินดา เลาวเดอร์มิลค์  เชื่อว่าเมื่อกระบวนการผลิตพัฒนาขึ้น เราจะเห็นผ้าใยไผ่กันมากกว่านี้


ไผ่ วัตถุดิบศตวรรษ 21


จุดอ่อนของไผ่ที่ทำให้คนยุคโมเดิร์นศตวรรษ 20 ไม่คิดใส่ใจมันมากนัก อยู่ที่ปัญหาอายุการใช้งาน ราชสีห์แพ้หนูฉันใด ไผ่ก็แพ้แมลงฉันนั้น  โจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรไม่ให้บ้านไม้ไผ่ผุพังภายใน 5-6 ปี

แต่สัตว์ฉลาดอย่างมนุษย์ ขอให้ตั้งใจเสียอย่าง ทำได้อยู่แล้ว เทคโนโลยีการทรีตไม้ไผ่จึงก้าวหน้าขึ้นมากในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา

การทรีตไม้ไผ่ในปัจจุบันมีอยู่หลายวิธีและหลายขั้นตอนรวมเบ็ดเสร็จราว 3 เดือน บางวิธีใช้สารเคมีที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมเท่าไหร่ แต่ที่น่าสนใจคือการใช้ความร้อนอุณหภูมิไม่สูงมาก วิธีนี้ต้องใช้มือทำ ค่อยๆ ลนไฟลำไม้ไผ่ทีละท่อน ละท่อน แต่ละท่อนใช้เวลา 20-30 นาที  พี่ชายวิศวกรของฉันเพิ่งสร้างบ้านในฝันครึ่งหลังด้วยวิธีนี้ เป็นกระบุงยักษ์ที่สานเป็นฝาผนังแผ่ขึ้นมาเป็นหลังคา กะว่าอยู่ได้ถึง 30 ปี

เรื่องงานก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ด้วยไม้ไผ่ในรูปแบบใหม่ๆ เป็นเรื่องที่เราเออออคล้อยตามได้  แต่ไอ้ที่นึกไม่ออกเลยก็เจ้ารถจักรยานไม้ไผ่ที่กำลังเป็นข่าวในยุโรป

มันจะขี่กันเข้าไปได้ยังไงกัน



ไผ่ วัตถุดิบศตวรรษ 21


ผู้สื่อข่าวหนังสือพิทพ์เดอะการ์เดียนที่ทดลองขี่แล้วรายงานให้อิจฉาเล่นว่าสุดยอด ทั้งเบา และซับแรงสั่นสะเทือนได้ดีกว่าจักรยานโลหะ แถมพรรณาว่า "ให้พลังและความรู้สึกเหมือนเมื่อเราเล่นหวดไม้เรียวไม้ไผ่ในอากาศตอนเด็กๆ"

สนนราคาคันที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์อย่างเครก คาลฟี ก็แค่สามพันปอนด์เท่านั้นเอง!

ในขณะที่จักรยานไม้ไผ่เป็นได้เพียงของเล่นคนรวยในยุโรป ที่แอฟริกามันกำลังเป็นพาหนะทางเลือกของคนจน  เป็นผลงานของโครงการจักรยานไม้ไผ่ (Bamboo Bike Project) ริเริ่มโดยกลุ่มนักศึกษาวิศวะมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย  ล่าสุด มีการคิดประดิษฐ์เครื่องลนไฟไม้ไผ่ ไม่ต้องนั่งทำมือทีละท่อนอีกแล้ว ที่สำคัญ มอเตอร์เครื่องลนไฟนี้ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

นับว่าโครงการนี้รวมสัญลักษณ์การพัฒนายั่งยืนไว้ได้ครบแทบทุกมิติ ทุกขั้นตอน

เอช.จี.เวลส์ นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์รุ่นปู่ เจ้าของคำพูดคลาสสิค "เมื่อผมเห็นผู้ใหญ่ขี่รถจักรยาน ผมมีความหวังกับอนาคตของมนุษยชาติ" จะดีใจขนาดไหนเมื่อได้เห็นผู้ใหญ่ขี่จักรยาน ทำด้วยไม้ไผ่ ซึ่งถูกทรีตด้วยเครื่องจักรพลังงานแสงอาทิตย์




ที่มา greenworld.or.th

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์