ไม่อ้วนเอาเท่าไร...!

ไม่อ้วนเอาเท่าไร...!


ปัจจุบันในวงการแพทย์จัดว่าอ้วนเป็นโรคชนิดหนึ่ง ไม่ใช่แค่รูปร่างลักษณะของร่างกายที่ใหญ่กว่าคนปกติเท่านั้น เนื่องจากโรคอ้วนจะเป็นสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บที่ร้ายแรงอีกหลายชนิด เช่นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ปวดเข่า การหยุดหายใจขณะนอนหลับ เป็นต้น

โรคอ้วนนี้จะพบมากในประเทศที่เจริญแล้วและมีอันจะกิน ประมาณว่าในประเทศอเมริกา มีคนที่เป็นโรคอ้วน ถึง 50%ของประชากรในการทำงานของหมอ จะแบ่งคนไข้ที่เกี่ยวกับความอ้วนเป็น 3 ประเภท คือ

  1. อ้วนจริง คือจะดูจากค่าดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index (BMI) ซึ่งจะคำนวณจาก น้ำหนักตัว(กิโลกรัม) หารด้วย ส่วนสูง ยกกำลังสอง (หน่วยเป็นเมตร) ค่าปกติคือ 18.5-24.9 ถ้า 25-30 ถือว่าอ้วนเริ่มต้น ถ้าเกิน 30 ถือว่า อ้วนปานกลาง ถ้าเกิน 40 ถือว่าอ้วนมาก
  2. อ้วนเฉพาะส่วน เช่น อ้วนลงพุง จะดูจากสัดส่วนระหว่างเส้นรอบเอวกับเส้นรอบสะโพก (Waist –Hip Ratio) ในผู้ชายไม่ควรเกิน 1.0 และผู้หญิงไม่ควรเกิน 0.8 กลุ่มนี้ก็จะมีผลกระทบต่อสุขภาพเหมือนกัน
  3. กลุ่มที่คิดว่าตนเองอ้วน กลุ่มนี้จะไม่มีปัญหากระทบกับสุขภาพกาย แต่จะกระทบกับสุขภาพจิต เนื่องจากจัดเป็นกลุ่มที่ต้องการให้ตนเองมีรูปร่างสวยสมบูรณ์แบบ หรืออาจจะเป็นบุคคลที่อยู่ในอาชีพที่ต้องใช้รูปร่างในการทำงาน เช่น ดารา นางแบบ เป็นต้น

การรักษาคนที่เป็นโรคอ้วนนั้น หมอจะทำตามขั้นตอนจากง่ายไปหายาก ดังนี้

  1. ปรับพฤติกรรม
  2. ใช้ยา
  3. ใช้เครื่องมือ
  4. ผ่าตัด

ขั้นตอนในการรักษาโรคอ้วนนั้นมีหลายขั้นตอนคือ
1.ปรับพฤติกรรม        2.ใช้ยา        3.ใช้เครื่องมือ        4.ผ่าตัด

ในโรคอ้วนจริงๆนั้น เราจะใช้การปรับพฤติกรรมใช้ยาและการผ่าตัด เป็นหลัก ส่วนในการรักษาคนที่คิดว่าตนเองอ้วน หรือต้องการปรับปรุงสัดส่วน รักษาเซลลูไลท์ นั้นจะใช้เครื่องมือ ต่างๆ เป็นหลัก  อาจจะเสริมด้วยการผ่าตัด และท้ายที่สุดต้องปรับพฤติกรรมเพื่อให้สิ่งที่เรารักษาไปแล้วคงที่หรือดียิ่งขึ้น


1.การปรับพฤติกรรม


1.1 การรับประทานอาหาร  เบื้องต้นเลย คือต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดแป้ง น้ำตาล ไขมันอิ่มตัว เพิ่มผัก ผลไม้ โปรตีน ที่ดี คือ ปลา,ไข่ดาว,เต้าหู้,ถั่ว ทั้งนี้ต้องไม่ปรุงด้วยความร้อนกว่า 100 C และดื่มน้ำมากๆ งดบุหรี่และแอลกอฮอล์
1.2 ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 ครั้ง/สัปดาห์ ถ้าทำได้ทุกวันจะดีมาก แนะนำให้ออกกำลังกาย แบบแอโรบิคที่ไม่หนักเกินไป เช่น เดินเร็ว วิ่งช้าๆ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เป็นต้น ครั้งละประมาณ 30-45 นาที
1.3 พักผ่อนให้พียงพอ เนื่องจากถ้าพักผ่อนไม่เพียงพอหรือนอนผิดเวลา จะทำให้หิวบ่อย กินจุบกินจิก อยากทานอาหารพวกแป้งและน้ำตาลมากขึ้น
1.4 คลายเครียด เนื่องจากความเครียดทำให้อยากกินอาหารบ่อย ควรหางานอดิเรกทำ จริงๆแล้วการออกกำลังกายก็จะช่วยให้คลายเครียดได้


2. การใช้ยา
นั้น จะเริ่มใช้เพื่อช่วยชั่วคราวนะครับ เนื่องจากยากลุ่มนี้เมื่อใช้ไปนานๆ จะดื้อยา และมีผลข้างเคียงจาการใช้ยาได้ ดังนั้น จะไม่ลงรายละเอียดในที่นี้  ถ้าท่านสนใจให้ไปปรึกษาแพทย์นะครับ


3. การใช้เครื่องมือ
ทางการแพทย์นั้นมีมากมายหลายชนิด บางชนิดก็ได้ผลดี บางชนิดก็ได้ผลน้อย  แต่มีหลักการเบื้องต้น คือ ถ้าต้องการให้ได้ผลดีก็จะมีความเสี่ยงสูงตามไปด้วย จะยกตัวอย่างเครื่องมือที่ได้ผลมาก ไปหาน้อยนะครับ


Vaser Lipo Selection

เป็นการใช้คลื่นเสียงอัลตราซาวนด์ เข้าไปช่วยสลายไขมันใต้ผิวหนังและดูดออกมา อันนี้จะแตกต่างจากการดูดไขมันแบบเดิม ที่เจ็บน้อยกว่า อันตรายน้อยกว่า และได้ผลดีใน การรักษาเพียง 1 ครั้ง


Laser Lipolysis

เป็นการใช้เลเซอร์ เข้าไปช่วยสลายไขมันใต้ผิวหนัง อันนี้แพทย์ส่วนใหญ่จะไม่ดูดออกมา อันตรายน้อย ได้ผลดี แต่ต้องทำประมาณ 3-4 ครั้ง


Carboxy Therapy (คาร์บอกซี่)

เป็นการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ ฉีดเข้าไปใต้ชั้นผิวหนัง จะช่วยให้ไขมันเล็กลงได้ระดับหนึ่ง ช่วยแก้ปัญหาเซลลูไลท์ได้ แต่ข้อเสียคือ เจ็บและต้องทำ 2-3 วัน/ครั้ง ประมาณ 20 ครั้งจึงจะเห็นผล


Radio frequency

เป็นการใช้คลื่นในย่านความถี่วิทยุ ไปช่วยให้ผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังกระชับขึ้น ไม่ได้ผลกับการรักษาไขมันสะสมเฉพาะที่

- อื่นๆอีกมากมาย เช่น อัลตราซาวนด์ภายนอก เครื่องนวด เครื่องอบ พวกนี้ไม่ต้องได้ผลกับการรักษาไขมัน เฉพาะที่ แต่จะใช้ปรับสภาพผิวและลดเซลลูไลท์ได้


4. และสุดท้าย คือการผ่าตัด
ซึ่งจะมี 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

4.1 การดูดไขมัน (Liposuction) เป็นการเจาะรูที่ผิวหนังและดูดเอาไขมันใต้ผิวหนังออก จะเจ็บและต้องดมยาสลบ ในคนที่อ้วนมากๆ ผิวหนังจะหย่อนยาน และมาทำผ่าตัดเพื่อเอาผิวหนังส่วนเกินออก (Lipectomy) ในภายหลัง

4.2 การผ่าตัด ผิวหนังและไขมันส่วนเกินออก (Lipectomy) วิธีนี้จะได้ผลดีในการลดสัดส่วน ให้ดูดีขึ้นตามปรารถนาในครั้งเดียว แต้จะมีแผลเป็นจากการผ่าตัดมาก

4.3 การผ่าตัด ลดขนาดกระเพาะอาหารและประเปลี่ยนทางเดินอาหาร จะใช้รักษาคนที่เป็นโรคอ้วนจริงๆ ที่มี BMI มากกว่า 40 หรือมี BMI มากกว่า 35  และมีโรคที่จะเป็นอันตรายในระยะยาว เช่น เบาหวาน, ไขมันสูง ที่ควบคุมไม่ได้ ปวดข้อเข่ามาก เป็นต้น

จะเห็นว่าวิธีรักษาโรคอ้วน มีมากมายหลายแบบ คนไข้ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีการให้บริการที่ครบวงจรเสียก่อน เพื่อวางแผนการรักษาให้ได้ผลดีที่สุดนะครับ


สนับสนุนข้อมูลโดย :
 นายแพทย์กำธร ศิริพันธุ์
ผู้อำนวยการศูนย์ความงามและชะลอวัย

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์