ไวรัสตับอักเสบ เพชฌฆาตเงียบในตัวคุณ

ไวรัสตับอักเสบ เพชฌฆาตเงียบในตัวคุณ



ใครรู้บ้างว่า วันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นวัน "ตับอักเสบโลก" ครั้งแรกในโลก !!

ทั้งนี้ ที่ประชุมองค์การอนามัยโลกได้มีมติเมื่อเดือนพฤษภาคม 2533 กำหนดให้ทุกวันที่ 28 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันตับอักเสบโลก เช่นเดียวกับวันโรคหัวใจ หรือวันงดสูบบุหรี่ ที่มีต่อเนื่องกันทุกปี

เพื่อแสดงถึงความสำคัญของ "ตับ" ซึ่งเป็นอวัยวะในร่างกายเพียงหนึ่งเดียว เช่นเดียวกับ "หัวใจ" ที่มีเพียงหนึ่งเดียวเช่นกัน

สำหรับประเทศไทยแล้ว ตับอักเสบ ถือเป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิตของประชาชนชาวไทยได้อย่างที่หลายคนไม่รู้ตัว

รศ.น.พ.ธีระ พิรัชวิสุทธิ์ นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย และ

ผู้อำนวยการสถาบันโรคทางเดินอาหารและตับ เล่าถึงสถานการณ์ของโรคว่า ตับอักเสบ คือภาวะที่มีการอักเสบของเซลล์ตับ ซึ่งบ่อยครั้งมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเอ บี ซี ดี และอี

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค คือตับอักเสบเรื้อรังเกิน 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งอาจจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ หรือการกระตุ้นด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น ดื่มสุรา ทานยา หรือมีไขมันสะสมในตับ โดยเซลล์ตับถูกทำลายต่อเนื่อง จะเกิดพังผืดขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุของตับแข็ง และเป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งตับ ตับวาย

จากข้อมูลขององค์กรอนามัยโลกระบุว่า ประชากร 1 ใน 12 คน มีผลกระทบต่อไวรัสตับอักเสบ โดยจำนวนประชากรโลกในปัจจุบัน 6,000 ล้านคน มี 300-400 ล้านคน ที่ติดเชื้อตับอักเสบเรื้อรัง และในจำนวนนี้ 25-40% หรือประมาณ 160 ล้านคน ติดไวรัสตับอักเสบมาตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งจะมีผลให้ตายจากโรคตับแข็ง และมะเร็งตับได้

สำหรับเอเชีย-แปซิฟิกแล้ว มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงถึง 250 ล้านคน เนื่องจากประชากรในประเทศจีนและอินเดีย มีจำนวนผู้ป่วยสูงที่สุดถึง 120 ล้านคน โดยมีไวรับตับอักเสบบีและซี ที่มีผลกระทบกับภูมิภาคนี้มากที่สุด

ในส่วนของเมืองไทย มีประชากร 67 ล้านคน 4.5 ล้านคน เป็นตับอักเสบเรื้อรัง โดยมีสาเหตุจากไวรัสบี ประมาณ 3.5 ล้านคน และไวรัสซี ประมาณ 1 ล้านคน

ผู้ป่วยจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องมาน มีน้ำในช่องท้องเยอะ มีอาการซึม และอาการทางสมอง ทำให้หลับบ่อย และยังมีเส้นเลือดดำในกระเพาะอาหารโป่งพอง ถ้าเส้นเลือดแตก ก็ทำให้เลือดออกในกระเพาะได้ สุดท้ายก็คือมะเร็งตับ

สำหรับผู้ป่วยชาวไทยนั้น ปัจจุบันมีคนไข้กว่า 6 หมื่นคนต่อปี ต้องตายจากมะเร็งตับ ซึ่งถือเป็นโรคอันดับหนึ่งของสาเหตุการตายจากโรคมะเร็งในชายไทย ส่วนผู้หญิงนั้นอยู่ในอันดับที่ 2-3

โดยผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตที่แย่มาก มีน้ำในท้อง ทำให้ท้องโต อาเจียนเป็นเลือด เข้าออกโรงพยาบาลบ่อย เป็นภาระของครอบครัว และค่าใช้จ่ายที่

สูญเสียไป นั่นแสดงให้เห็นว่า โรคตับอักเสบ ทำลายคุณภาพชีวิตได้เช่นเดียวกับโรคร้ายแรงอื่น ๆ

ดังนั้นทางสมาคมจึงพยายามกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับตับอักเสบมากขึ้น โดยเฉพาะในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยมาก แต่ยังขาดความตระหนักและความเข้าใจในเรื่องของโรค และคนไข้

ส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อจะไม่ค่อยมีอาการ จึงไม่มีการตรวจรักษา ปล่อยให้โรคดำเนินไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเป็นตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด นอกจากนั้นยังกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อในชุมชนโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย

"ผู้ติดเชื้อกว่า 70% จะไม่มีอาการของโรค แต่อาจจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ช่วงบ่ายจะไม่ค่อยมีสมาธิ หรือง่วงนอน โรคนี้จะแสดงอาการต่อเมื่อเป็นมากแล้ว และเมื่อตรวจวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็งตับ ส่วนใหญ่จะรักษาไม่ได้ ถ้าเป็นแล้วจะอยู่รอดได้ไม่เกิน 4-6 เดือนเท่านั้น"

สิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันจากโรคนี้ คือการตรวจร่างกายอย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งการฉีดวัคซีนในเด็ก ซึ่งช่วยป้องกันได้ถึง 90% รวมทั้งหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ

นี่คืออีกหนึ่งภัยเงียบ...ที่กำลังคุกคามชีวิตโดยไม่รู้ตัว...

ในวันตับอักเสบโลก 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไวรัสตับอักเสบได้เริ่มกระตุ้นให้รัฐบาลและประชาชนภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกได้ตระหนักถึงภัยร้ายแรงของภาวะตับอักเสบ โดยมีการก่อตั้งกลุ่มเฉพาะขึ้นมา เรียกว่า "พันธมิตรเพื่อกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก" หรือ CEVHAP (Coalition to Eradicate Viral Hepatitis in Asia Pacific) เมื่อเดือนตุลาคม 2553 โดยมีแพทย์

ผู้เชี่ยวชาญโรคตับอักเสบและไวรัสวิทยาที่มีชื่อเสียงของโลกมารวมตัวกัน เพื่อนำเสนอปัญหาที่องค์กรต่าง ๆ ขาดการรับรู้และความ

ตั้งใจด้านนโยบายที่จะจัดการแก้ปัญหาโรคไวรัสตับอักเสบต่อไป


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์