​คนกับเต่ามีอะไรเหมือนกัน?

คนกับเต่าอาจจะดูต่างกันเยอะในปัจจุบัน แต่เชื่อหรือไม่ว่านักวิทยาศาสตร์ที่ออสเตรียได้ค้นพบว่า คนกับเต่าเคยมีบรรพบุรุษร่วมกันเมื่อ 310 ล้านปีก่อน

เลโอโพลด์ เอ็คฮาร์ต นักชีววิทยาโมเลกุลผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง และทีมงานเปิดเผยข้อมูลจากการเปรียบเทียบจีโนมระหว่างคนกับเต่าและพบว่า ยีนของโปรตีนผิวหนังที่สำคัญที่คนกับเต่ามีร่วมกันนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยมีบรรพบุรุษร่วมกันเมื่อ 310 ล้านปีก่อน

กระดองเต่า ถือเป็นสิ่งที่เป็นสุดยอดของวิวัฒนาการของระบบการปกป้องร่างกาย ทำให้เต่ามีความแตกต่างไปจากสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่น ในการศึกษาครั้งนี้ เลโอโพลด์ เอ็คฮาร์ต และทีมงานได้ศึกษาว่า  ยีนที่เกี่ยวข้องกับชั้นผิวหนังในกระดองเต่ากับยีนของผิวหนังมนุษย์นั้นคล้ายคลึงกันมากน้อยเพียงใด

จากการศึกษาพบว่า กระดองที่แข็งของเต่ามาจากกลุ่มของยีนที่เรียกว่า Epidermal Differentiation Complex หรือ EDC และเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลจีโนมกับสัตว์เลื้อยคลานหลายๆ ชนิดแล้วพบว่า เต่าเริ่มแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างกับสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่นๆ เมื่อ 250 ปีก่อน

แต่สิ่งที่สำคัญคือ กลุ่มยีน EDC นี้มีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมือนกันในเต่ากับมนุษย์ และทำให้นำไปสู่ข้อสรุปว่า ยีน EDC ในยุคแรกนั้นพัฒนาขึ้นในบรรพบุรุษที่คนกับเต่ามีร่วมกัน ซึ่งบรรพบุรุษนี้มีชีวิตอยู่เมื่อ 310 ล้านปีก่อน และมีลักษณะคล้ายกับสัตว์เลื้อยคลานของยุคนี้

ในกรณีของเต่านั้น ยีนได้เกิดการพัฒนาจนสร้างเป็นโปรตีนที่ทำให้เต่ามีชั้นนอกของผิวหนังที่แข็งและกลายเป็นกระดองในเวลาต่อมา ส่วนในมนุษย์ ยีน EDC ได้พัฒนาจนกลายมาเป็นระบบที่ป้องกันการแทรกซึมของจุลินทรีย์และสิ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ต่างๆ

การศึกษาวิวัฒนาการครั้งนี้นับว่าเป็นการศึกษาเพื่อการปกป้องมนุษย์รวมไปถึงเต่าในอนาคต เชื่อกันว่าการเปรียบเทียบผิวหนังของคนกับเต่าจะทำให้เราเข้าใจอันตรกิริยาของโปรตีนเหล่านี้มากขึ้น และความรู้นี้ก็อาจจะนำไปใช้ในเชิงการแพทย์ เช่น การปรับปรุงวิธีการรักษาโรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) ที่พบว่าเกิดมาจากการกลายพันธุ์ของยีน EDC นี้เอง



ที่มา : vcharkarn.com

​คนกับเต่ามีอะไรเหมือนกัน?

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์