‘บทเพลงอมตะรักแม่’ ขับขานซึ้งใจ รำลึกพระคุณอันยิ่งใหญ่

‘บทเพลงอมตะรักแม่’ ขับขานซึ้งใจ รำลึกพระคุณอันยิ่งใหญ่


วันแม่แห่งชาติตรงกับวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี ในวันนี้เป็นวันสำคัญและเป็นอีกโอกาสอันดีของลูก ๆ ที่จะแสดงความรัก ความกตัญญูรำลึกในพระคุณของแม่

วันแม่แห่งชาติตรงกับวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี ในวันนี้เป็นวันสำคัญและเป็นอีกโอกาสอันดีของลูก ๆ ที่จะแสดงความรัก ความกตัญญูรำลึกในพระคุณของแม่

นอกเหนือจากบรรยากาศแห่งความรัก ภาพชวนประทับใจที่มีให้เห็นเสมอมาไม่ว่าจะเป็นการกอดกราบแม่ มอบดอกมะลิ การ์ดอวยพรหรือพาแม่ไปพักผ่อนท่องเที่ยวทานข้าวพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว ฯลฯ ช่วงเวลานี้ยังได้ยินได้ฟัง หลากหลายบทเพลงรักที่เกี่ยวกับแม่ ร้องบรรเลงขับขานมอบความอบอุ่น ซาบซึ้งใจกันในวันนี้และบทเพลงอมตะที่คงความนิยมไม่เสื่อมคลาย หนึ่งในนี้มีชื่อเพลง “ค่าน้ำนม” บทเพลงที่ ครูไพบูลย์ บุตรขัน ประพันธ์คำร้องและทำนองไว้ โดยเนื้อหาสื่อสารชัดเจนถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของแม่ บอกเล่าความรัก ความเสียสละ ปกป้องดูแลลูก โดยเมื่อลูกเติบโตขึ้นพึงให้ระลึกถึงพระคุณแม่ ฯลฯ

“ใครหนอ” อีกบทเพลงอมตะที่นำมาร้องขับขานกันเสมอในวันนี้ โดยผลงานเพลงดังกล่าว ครูสุรพล โทณะวณิก ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2540 สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์เพลงไทยสากล) ท่านได้ประพันธ์คำร้อง ทำนองไว้ โดยส่วนหนึ่งในหนังสือศิลปินแห่งชาติกล่าวถึงผลงานของท่าน โดยเฉพาะเพลง “ใครหนอ” บทเพลงที่กล่าวถึงแม่ได้อย่างลึกซึ้งกินใจตรงความหมาย ผลงานเพลงของท่านสร้างสรรค์ไว้อย่างยอดเยี่ยมเป็นเพลงที่มีความไพเราะ ก่อเกิดแรงบันดาลใจแก่ผู้ฟัง ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมี “อิ่มอุ่น” อีกบทเพลงผลงานของ ศุ บุญเลี้ยง ที่นิยมนำมาร้องเป็นส่วนหนึ่งในการแสดง สื่อถึงความรักระหว่างกัน และอีกหลากหลายเพลงที่ศิลปินมีชื่อร้องขับขานถ่ายทอดไว้ บทเพลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา 12 สิงหาคม 2557 “รัก...แม่” อีกบทเพลงโดยกระทรวงวัฒนธรรมผสานความร่วมมือกับหลายหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านดนตรีและการขับร้องร่วมกันเผยแพร่จัดทำบทเพลงดังกล่าวขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบทเพลงรักชาติร่วมสมัย โดยบทเพลงชุดแรกประกอบด้วย 12 บทเพลงทรงคุณค่า มีเพลงอมตะ ค่าน้ำนม เพลงใครหนอ และเพลงอิ่มอุ่น รวมอยู่ ผลงานทั้งหมดได้นำมาเผยแพร่โดยสามารถดาวน์โหลดฟังได้จากเว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรม


‘บทเพลงอมตะรักแม่’ ขับขานซึ้งใจ รำลึกพระคุณอันยิ่งใหญ่

เศรษฐา ศิระฉายา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2554 หนึ่งในศิลปินร่วมถ่ายทอดบทเพลงอมตะใครหนอกล่าวถึงเพลงดังกล่าวว่า เพลงที่ถ่ายทอดความรัก ความผูกพันเกี่ยวกับแม่มีหลายเพลง แต่ที่ได้ยินมายาวนาน คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ร้องกันอย่างกว้างขวางไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก ๆ หรือศิลปินนักร้องที่นำมาร้อง มี 

ใครหนอ เพลงที่ครูสุรพล โทณะวณิก ศิลปินแห่งชาติท่านได้เขียนไว้ โดยแม้จะผ่านวันเวลามาเนิ่นนานแต่ยังคงความไพเราะเป็นหนึ่งในบทเพลงอมตะ

“ความทรงจำในเพลงดังกล่าวสำหรับตนเองจดจำได้ขึ้นใจนับแต่วัยเด็ก เนื้อเพลงทุกตัวอักษรถ่ายทอดให้เห็นถึงความรักความเมตตาของแม่และพ่อไว้อย่างชัดเจน บอกถึงความรัก การเลี้ยงดู ความรักที่แม่มีให้ไม่ใช่แค่เพียงรูปกาย แต่เป็นความรักอย่างสุดหัวใจ ยิ่งช่วงท่อนฮุกยิ่งชวนฟังและมีความหมายงดงาม ยิ่งใหญ่ ’จะเอาโลกมาทำปากกา แล้วเอานภามาแทนกระดาษ เอาน้ำหมดมหาสมุทรแทนหมึกวาด ประกาศพระคุณไม่พอ....“ ท่อนนี้นอกจากไพเราะแล้ว ได้ยินได้ฟังครั้งใดชวนซาบซึ้งใจซึ่งครูสุรพลท่านเขียนแทนด้วยภาษาบอกให้เห็นภาพชัดเจน อีกทั้งความรักไม่ว่าจะมีมากมายเท่าไหร่ จะเขียนบอกเล่าอย่างไรก็ไม่สามารถบอกพระคุณของท่านที่มีให้กับลูกได้เพียงพอ”

บทเพลงนี้เมื่อสองปีก่อนหน้าได้นำมาร้องบันทึกไว้ในอัลบั้ม จากวันนั้นถึงวันนี้ เพราะมีคนนำบทประพันธ์ของครูเพลงศิลปินแห่งชาติสี่ท่านได้แก่ ครูพยงค์ มุกดา ครูชาลี อินทรวิจิตร ครูสง่า อารัมภีร์ และครูสุรพล โทณะวณิก มาขับร้องและหนึ่งในนี้มีเพลงใครหนออยู่ด้วย

“เพลงนี้นอกจากคุ้นเคยได้ฟังมาเนิ่นนาน พี่น้อย (ครูสุรพล) ท่านได้เขียนถ่ายทอดออกมาครบสมบูรณ์ บทเพลงนี้ล่าสุดเป็นส่วนหนึ่งในอัลบั้มเพลงรัก...แม่ โดยกระทรวงวัฒนธรรมจัดทำขึ้นและจากที่ได้ร่วมเป็นคณะกรรมการในโอกาสและ บรรยากาศความรัก ระลึกถึงพระคุณแม่จึงมอบเพลงนี้ให้ โดยบทเพลงนี้เป็นบทเพลงที่มีคุณค่ามากสำหรับลูกที่จะแสดงความรัก ความกตัญญู ระลึกถึงพระคุณแม่”

“ใครหนอ” เวอร์ชั่นนี้ท่วงทำนองจะสนุกสนานเข้ายุคสมัยปัจจุบัน โดยคุณโอม-ชาตรี คงสุวรรณ เรียบเรียงทำดนตรีขึ้นใหม่ โดยที่ผ่านมาใครหนอเป็นเพลงหนึ่งที่มีศิลปินหลายท่านนำมาร้อง เรียบเรียงเสียงประสานหลายรูปแบบ และนอกจากท่อนฮุกที่กล่าวแล้ว แทบทุกท่อนหากพิจารณาจะมีความหมายกินใจ นับแต่ต้นเพลง “ใครหนอรักเราเท่าชีวี ใครหนอปราณีไม่มีเสื่อมคลาย ใครหนอรักเราใช่เพียงรูปกาย รักเขาไม่หน่าย มิคิดทำลาย ใครหนอ...ฯลฯ” เป็นเพลงที่ร่วมสมัย ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านมานานแค่ไหน เพลงนี้ยังคงเป็นอมตะ มีเสน่ห์บอกบรรยายถึงความรัก ความรู้สึกของแม่ได้เป็นอย่างดี

ส่วนเพลงที่ให้ความรู้สึกถ่ายทอดความรักความเมตตา ห่วงใยของแม่ที่มีต่อลูก

นอกจากเพลงใครหนอแล้วจากที่กล่าวยังมีอีกหลายบทเพลง ค่าน้ำนม ก็เป็นอีกเพลงหนึ่งที่น่าชื่นชม เป็นบทเพลงอมตะที่มีความหมายมาก ท่วงทำนองซาบซึ้งกินใจ แสดงให้เห็นถึงพระคุณของแม่ที่กล่อมเกลาเลี้ยงเราให้เติบโต น้ำนมที่ลูกได้ดูดดื่มมีคุณค่ายิ่งใหญ่ต่อชีวิตเรา ทำให้เราแข็งแรง มีความคิดที่ดี ฯลฯ อีกทั้งเพลงยังฝากแง่คิดคำสอนให้แม่รุ่นใหม่เห็นประโยชน์ของนมแม่ นมแม่นั้นดีที่สุด ส่วนถ้าเพลงใหม่ขึ้นมาอีกนิด อิ่มอุ่น มองว่าเป็นอีกเพลงที่มีความงดงาม มีความหมายและได้รับความนิยมนำมาขับขาน โดยเฉพาะเมื่อถึงวันแม่มักได้ยินเพลงนี้อยู่เสมอ

แต่อย่างไรแล้วเพลงที่เกี่ยวกับแม่ยังคงมีอยู่อีกเยอะมาก สื่อสารถ่ายทอดออกมาหลายรูปแบบ ทั้งความเศร้า ความสุข บทเพลงที่ร้องขับขานนอกจากจะสร้างความสุขแล้วยังให้ประโยชน์อีกหลากหลายทั้งแทนความรู้สึกเป็นเพื่อนให้กำลังใจ ฯลฯ บทเพลงจึงต้องมีความไพเราะดึงดูดชวนให้คนสนใจฟัง

ขณะเดียวกันเพลงต้องมีเนื้อหาที่เข้าถึงจิตใจไม่ใช่ให้แต่ความสำราญ
 
ดั่งเพลงของครูเพลงที่ถ่ายทอดไว้สมบูรณ์ในบรรยากาศของวันนี้ คุณค่าของบทเพลงจึงเป็นอมตะพร้อมด้วยความอิ่มเอมจรรโลงใจ เรียกว่าได้ยินได้ฟังครั้งใดยังคงชุ่มชื่นใจ
บทเพลงแม้จะเป็นส่วนหนึ่งชวนให้ระลึกถึงพระคุณแม่ที่ยิ่งใหญ่ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นอยู่ที่การกระทำ ความรักที่มีต่อแม่ผู้มีพระคุณจึงไม่ใช่มีในวันนี้วันเดียว แต่ควรมีเกิดขึ้นในทุก ๆ วัน.


‘บทเพลงอมตะรักแม่’ ขับขานซึ้งใจ รำลึกพระคุณอันยิ่งใหญ่

ความเป็นมา ‘วันแม่แห่งชาติ’

วันแม่แห่งชาติ เป็นวันสำคัญที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงพระคุณของแม่ ในความเป็นมาของวันแม่แห่งชาติกำหนดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลกที่สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.1914 โดยถือวันอาทิตย์ที่สองของเดือนพฤษภาคมเป็นวันแม่แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา และกำหนดดอกไม้สำหรับวันแม่คือ ดอกคาร์เนชั่น

จากข้อมูลเล่าถึงความเป็นมาของวันแม่ อ้างอิงจากข้อมูลกระทรวงวัฒนธรรม

กล่าวถึง การจัดงานวันแม่ของประเทศไทยมีขึ้นครั้งแรกในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดงาน แต่เนื่องจากช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ปีต่อมาจึงถูกงดไปและหลังจากผ่านสงครามไปแล้ว หลายหน่วยงานพยายามรื้อฟื้น แต่อย่างไรแล้วมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง ที่นิยมได้แก่ 15 เมษายน โดยเริ่มมีนับแต่ปี พ.ศ.2493 เพื่อให้เกียรติและตระหนักในความสำคัญของแม่และเพื่อเพิ่มความสำคัญของวันแม่ ด้วยเหตุนี้วันแม่จึงเป็นงานประจำของชาติ ตามประกาศของรัฐบาลในเวลานั้น

งานวันแม่ดำเนินต่อมาอีกหลายปี แต่ต้องหยุดชะงักลงด้วยเหตุที่สภาวัฒนธรรมแห่งชาติผู้จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน กระทั่งปี พ.ศ.2519 ทางราชการกำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ โดยถือวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ

ส่วนสัญลักษณ์ที่ใช้ในวันแม่ของทุกปี คือ ดอกมะลิ ด้วยเหตุผลที่ว่า ดอกมะลิเป็นดอกไม้สีขาวบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมไกลและหอมนาน อีกทั้งออกดอกได้ตลอดทั้งปี เปรียบได้กับความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกไม่มีวันเสื่อมคลาย. 

ทีมวาไรตี้


‘บทเพลงอมตะรักแม่’ ขับขานซึ้งใจ รำลึกพระคุณอันยิ่งใหญ่


‘บทเพลงอมตะรักแม่’ ขับขานซึ้งใจ รำลึกพระคุณอันยิ่งใหญ่







เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์