● วิธีเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตเด็ก ●

 วิธีติดตามเฝ้าระวังปัญหาจิตเวชในเด็กจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญมีออกมาเป็นระยะเพราะปัญหาที่เกิดกับเด็กมีมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงของเด็ก


● วิธีเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตเด็ก ●


พญ.ศุภรัตน์ เอกอัศวิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ แนะนำว่า ในการเฝ้าระวังถึงสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนจะมีอยู่ 2 ส่วนสำคัญ คือ โรงเรียน และผู้ปกครอง สำหรับทางโรงเรียน โดยเฉพาะทางโรงเรียนประจำนั้นต้องให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตเด็กให้มากเป็นพิเศษ เนื่องจากเด็กและเยาวชนที่มาศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนประเภทนี้จะห่างไกล บ้านและครอบครัว

          ทั้งนี้ โดยธรรมชาติของโรงเรียนประจำเด็กจะต้องปรับตัวใหม่ในการคบหาสมาคมกับเพื่อน ซึ่งอาจจะมีปัญหาในระยะแรกได้ หรือปัญหาไม่สามารถปรับตัวเองได้ทันกับระบบการเรียนการสอนใหม่จนทำให้เด็กรู้สึกกดดันนำไปสู่อาการ "เก็บตัว"ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วง

          พญ.ศุภรัตน์ บอกว่า หากเห็นอาการเด็กเก็บตัวเมื่อไหร่ทางครูผู้สอนต้องรีบเข้าไปพูดคุยปรับทุกข์ ทันทีและสอบถามถึงสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้นสาเหตุมาจากสิ่งใด เช่นเด็กอาจจะเรียนไม่ทันกลุ่มเพื่อนๆ สอบไล่ได้คะแนนไม่ดีหรือเด็กมีความน้อยเนื้อต่ำใจเรื่องใด ทางครูผู้สอนควรเข้าไปรับฟังและช่วยปรับทุกข์

          "ระบบโรงเรียนไม่ควรแต่จะมุ่งสอนวิชาความรู้หรือแนะแนวเฉพาะทางว่าเด็กสอบได้คะแนนระดับนี้เรียนเก่งวิชานี้แล้วควรจะเลือกสอบเอนทรานซ์สาขาใด แต่ควรมีการแนะแนวเรื่องจิตวิทยาแก่เด็กด้วย" พญ.ศุภรัตน์ กล่าว

          พญ.ศุภรัตน์ ขยายประเด็นเพิ่มเติมว่า การแนะแนวด้านจิตวิทยาแก่เด็กในระบบการศึกษาในโรงเรียนควรเน้นเรื่องดัง กล่าวให้มากเป็นพิเศษ เพราะอย่าลืมว่าเด็กต่างจังหวัดที่เดินทางมาเรียนในตัวเมืองต้องพลัดพรากจาก พ่อแม่ผู้ปกครองการปรับตัวสู่สังคมใหม่จึงเป็นสิ่งจำเป็นดังนั้นการแนะแนว ถึงแนวทางในการใช้ชีวิตและครูผู้สอนสามารถพูดคุยกับเด็กได้ทุกเรื่องย่อมช่วยแก้ไขปัญหาได้

          "เด็กต่างจังหวัดส่วนใหญ่จะมีปัญหา เช่น มาอยู่หอไม่มีเพื่อนต้องอยู่คนเดียว ห่างไกลพ่อแม่ไม่รู้จะพึ่งพาใครไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร ดังนั้นโรงเรียนต้องเน้นการให้คำแนะแนวเกี่ยวกับการใช้ชีวิตแก่เด็กให้มากเป็นพิเศษด้วย"พญ.ศุภรัตน์ เล่า

● วิธีเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตเด็ก ●


อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดคือการได้รับการเอาใจใส่จากผู้ปกครอง

          นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุลโรงพยาบาลสมิติเวช บอกว่า 2 อาการน่าห่วงที่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถสังเกตพฤติกรรมว่าเด็กเข้าข่ายปัญหา จิตเวชหรือไม่ คือ 1.หากผลคะแนนการเรียนตกต่ำลงอย่างผิดปกติจะต้องรีบเข้าไปพูดคุยเพื่อสอบถาม ถึงสาเหตุ พร้อมกับประสานกับทางโรงเรียน 2.พ่อแม่ผู้ปกครองต้องสังเกตอารมณ์ของเด็กด้วยตั้งแต่สีหน้าแววตาท่าทาง เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ก้าวร้าวหงุดหงิดเก็บตัวหรือไม่อย่างไรหากมีอาการดังกล่าว ต้องรีบนำตัวไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา แต่สิ่งสำคัญในการนำตัวเด็กไปพบแพทย์ควรใช้วิธีตะล่อม

          "ตัวอย่างเช่น แนะนำเด็กให้ไปรับการประเมินไอคิวสมาธิหรือการทดสอบทางอารมณ์ร่วมกันโดย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ" นพ.กัมปนาทกล่าว

          ทั้งนี้ สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการสังเกตพฤติกรรมและอารมณ์แล้ว การให้ความรักการใส่ใจเกี่ยวกับปัญหาจิตเวชถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเกิดสิ่งผิดพลาดเกิดขึ้นไม่ควรจะโทษตัวเด็ก โทษโรงเรียนหรือโทษพ่อแม่ผู้ปกครองหรือแม้แต่โทษภาพสะท้อนปัญหาการใช้ความรุนแรงในสังคมปัจจุบัน เพราะทั้งหมดเป็นเพียงตัวกระตุ้น

          แต่หากจะก้าวพ้นปัญหาไปได้ทุกฝ่ายต้องหันมาพูดคุยและทบทวนว่าสิ่งร้ายๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กมาจากสาเหตุใดหากต้องการให้เด็กรอดพ้นจากปัญหาจิตเวชทุกฝ่ายต้องให้ความรักความใส่ใจเพราะปัญหาสุขภาพจิตรักษาให้หายขาดได้ซึ่งต้อง รีบเอาใจใส่ตั้งแต่วันนี้ก่อนที่บางสิ่งบางอย่างจะสายเกินไป


เครดิต ... สสส.


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์