♣ เครื่องมือช่วยคลอด ♣

♣ เครื่องมือช่วยคลอด ♣


ทั้งคีมช่วยดึง และเครื่องช่วยดูด ฟังชื่อแล้วล้วนแต่ดูน่ากลัวทั้งนั้น แต่วันนี้ หมอสูติจะพาไปรู้จักโฉมหน้าจริงๆ ของเครื่องมือช่วยคลอดดังกล่าว เพื่อนำคุณแม่เข้าสู่ "เขตปลอดความกลัว"

อดีตกาล : ยุคเศร้าของการคลอดแบบ "ทรหด"

         ในยุคที่การแพทย์ยังล้าหลัง ไม่มีเครื่องมือช่วยคลอดที่มีประสิทธิภาพเหมือนปัจจุบัน การคลอดสมัยนั้นต้องอาศัย "แรง" เพียงอย่างเดียวที่จะดันให้ลูกคลอดผ่านอุ้งเชิงกรานของแม่ออกมา ดังนั้นการช่วยคลอดในรายที่คลอดยากจึงต้องอาศัย "แรง" ทั้งกดทั้งดัน ทั้ง รีดทั้งเค้น ทั้งรัดทั้งขย่ม ทำทุกวิถีทาง เพื่อช่วยให้คลอดออกมาให้ได้ เพราะไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว ถ้าทำไม่สำเร็จก็ต้องสังเวยชีวิตทั้งแม่และลูกไปพร้อม ๆ กัน

คีมช่วยคลอด : ผู้ช่วยหมายเลขหนึ่ง

         ในเวลาต่อมา ก็ได้มีการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือชนิดหนึ่งขึ้นมาเรียกว่า "คีมช่วยคลอด" ซึ่งได้รับการปรับเปลี่ยนและพัฒนามาหลายต่อหลายครั้ง

         ช่วงแรก ๆ มีการใช้คีมช่วยคลอดหลายรูปแบบไม่ว่าศีรษะเด็กจะอยู่สูงมาก อยู่ในท่าตะแคงหรือเอียงกะเท่เร่ ก็มีการพยายามใช้คีมเข้าไปดึงลากเอาเด็กออกมาจนได้ ทำให้เกิดอันตรายต่อทั้งแม่และลูกในอัตราค่อนข้างสูง แต่จากการศึกษาและปรับปรุงข้อบ่งชี้ในการใช้คีมช่วยในการคลอดเป็นเวลากว่า 200 ปี ปัจจุบันนี้จะมีการใช้คีมช่วยคลอดเฉพาะในรายที่สามารถคลอดได้เองอยู่แล้ว แต่อาจจะคลอดล่าช้าไปเพราะแรงเบ่งไม่ดี หรือจำ ป็นต้องให้คลอดโดยเร็วเช่น หัวใจลูกเต้นผิดปกติ เป็นต้น เท่านั้น

         ด้วยเหตุนี้การใช้คีมช่วยคลอดในปัจจุบันจึงถือว่ามีความปลอดภัยสูงมาก ถ้าทำโดยสูติแพทย์ที่มีความชำนาญและมีข้อบ่งชี้ครบถ้วน ด้วยลักษณะของคีมที่มีรูปร่างคล้ายช้อนขนาดใหญ่หรือทัพพี 2 อันไขว้กัน เมื่อใส่เข้าไปทางด้านข้างของช่องคลอด ก็จะไปแนบสนิท บริเวณข้างแก้มทั้ง 2 ข้างของเด็ก ทำให้สามารถดึงเอาศีรษะเด็กคลอดออกมาได้อย่างง่ายดาย โดยไม่มีอันตรายต่อศีรษะเด็ก นอกจากรอยกดทับของคีมที่แนบบริเวณแก้มและหางตาเท่านั้น รอยนี้จะเห็นเป็นแนวจางๆ ปล่อยทิ้งไว้ก็จะหายเป็นปกติภายในระยะเวลาอันสั้น

ผ่าคลอดก็เจอคีมได้!

         คุณแม่หลายรายกลัวว่าลูกจะได้รับอันตรายจากการใช้คีมช่วยทำคลอดทางช่องคลอด ก็เลยหันไปชักชวนให้หมอช่วยผ่าตัดทำคลอดให้แทน โดยหารู้ไม่ว่าทุกวันนี้หมอสูติ จำนวนมากนิยมแผลผ่าตัดแบบบิกินี่ คือผ่าเป็นแนวขวางขนานไปกับขอบบิกินี่ (Pfannenstiel incision) เพื่อ จะเอาใจคุณแม่ที่รักสวยรักงามทั้งหลาย และขนาดของแผลก็พยายามให้สั้นที่สุด แค่พอที่ศีรษะเด็กจะโผล่ออกมาได้พอดี ๆ เพราะถ้าแผลผ่าตัด ยาวไป ก็อาจสร้างความไม่สบอารมณ์ให้คุณแม่ได้เช่นกัน เรียกว่าเอาใจกันสุด ๆ ว่างั้นเถอะ

         ผลที่ตามมาก็คือศีรษะเด็กจะออกจากแผลยากมาก เพราะแผลมีขนาดเล็ก จำเป็นต้องใช้คีมช่วยดึงส่วนศีรษะเด็กให้ออกมาจากแผลเป็นประจำ แม้แต่ตัวผมเองเวลาผ่าตัดทำคลอดก็ยังนิยมใช้คีมช่วยให้ศีรษะเด็กคลอดง่าย ขึ้น เพราะไม่งั้นก็ต้องอาศัยผู้ช่วยให้ ช่วยกดหรือดันบริเวณยอดมดลูก เพื่อให้ศีรษะทารกดันผ่านแผลออกมาให้ได้ บางรายดัน เท่าไรก็ไม่ยอมออกง่าย ๆ คนดันก็เลยเผลอตัวใช้แขนทั้งกดทั้งขย่มทั้งเค้น เพื่อให้คลอดออกมาคล้าย ๆ วิธีที่คนโบราณใช้กันนั่นแหละครับ พอผ่าตัดเสร็จคนไข้บอกว่าไม่เจ็บแผลเลย แต่ไปเจ็บบริเวณยอดอกและชายโครงแทน..ระบมไปหมด เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะคลอดทางไหน คลอดท่าไหนก็มีโอกาสได้เจอกับคีมช่วยคลอดพอ ๆ กันแหละครับ

คีมช่วยคลอดท่าก้นก็มีนะ!

         คีมช่วยคลอดเป็นเครื่องมือที่ได้ผ่านการตรวจสอบและทดลองใช้งานมาหลายศตวรรษแล้ว สามารถพิสูจน์ได้ว่าดีจริง จึงยังคงอยู่ยั่งยืนยงและแพร่หลายมาจนทุกวันนี้ เมื่อก่อนนี้เวลาที่ทารกคลอดท่าก้น พอลำตัวคลอดออกมาแล้ว หมอที่ทำคลอดก็จะช่วยกันดึง ให้ศีรษะเด็กหลุดออกมาจากช่องคลอดด้วยเทคนิคต่าง ๆ บางรายดึงกันจนคอยืดกว่าศีรษะจะหลุดออกมาได้ พอคลอดออกมาก็คออ่อนคอพับไปตาม ๆ กัน ทั้งหมอทั้งคุณแม่ เดี๋ยวนี้สบายมาก ครับ พอลำตัวของทารกคลอดออกมาแล้ว ก็สามารถใช้คีมชนิดพิเศษที่ออกแบบมาสำหรับทำคลอดท่าก้นโดยเฉพาะ ซึ่งออกแบบให้มีด้ามจับยาว เพื่อความสะดวกในการใช้งาน เรียกว่า "Piper forceps" สอดเข้าไปในช่องคลอดช่วยประคองและดึงส่วนหัวให้คลอดออก มาโดยไม่บอบช้ำเลย ไม่ต้องคอยืดเหมือนวิธีเดิมๆ

เครื่องดูดสูญญากาศ : ผู้ช่วยหมายเลขสอง

         พูดถึงคีมช่วยคลอดแล้วก็อยากที่จะกล่าวถึงเครื่องมืออีกชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่ คล้ายๆ กัน นั่นก็คือ "เครื่องดูดสูญญากาศ" (Vaccuum extractor) เครื่องมือชนิดนี้เริ่มนำมา ใช้เป็นครั้งแรกใน ค.ศ.1954...ก็เกือบ 50 ปีมาแล้ว

         ตัวเครื่องมือประกอบด้วยส่วนหัวที่มีลักษณะคล้ายถ้วยขนาดเล็ก ๆ เส้นผ่าศูนย์ กลางประมาณ 5 เซนติเมตร ตัวถ้วยจะมีท่อโยงติดต่อไปยังเครื่องปั๊มอากาศออก เพื่อให้ ภายในถ้วยมีสภาพเป็นสูญญากาศ เมื่อนำหัวถ้วยซึ่งมีทั้งชนิดที่ทำด้วยโลหะลักษณะแข็ง หรือทำด้วยยางที่มีลักษณะนุ่ม ไปวางบนศีรษะของทารก ถ้วยดูดสูญญากาศจะดูดติดแน่นกับ หนังศีรษะของทารกคล้ายกับเวลาเรายิงปืนลูกดอกยางไปแปะติดกับกระจก จากนั้นแพทย์ก็ จะดึงถ้วยดูดนี้พร้อมกับเวลาที่มดลูกเริ่มมีการหดรัดตัว เป็นการเสริมแรงเบ่งให้ดีขึ้น นั่นเองครับ

         ถ้วยดูดสูญญกาศนี้ใช้ได้เฉพาะส่วนนำที่เป็นศีรษะเท่านั้น แต่มีข้อดีตรงที่ไม่ต้องสอดใส่เครื่องมือเข้าไปทางด้านข้างของช่องคลอด ทำให้ไม่เสียพื้นที่ของช่องคลอด ศีรษะ ทารกจึงสามารถใช้ประโยชน์จากความกว้างของช่องคลอดได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ไม่ว่าศีรษะจะตะแคงหรือเอียงยังไง ก็สามารถใช้เครื่องดูดสูญญากาศดูดช่วยให้คลอดได้หมด ในขณะที่คีมช่วยคลอดส่วนใหญ่จะใช้เฉพาะในรายที่ศีรษะทารกอยู่ในท่าคว่ำหน้า ตรง ๆ โดยหันแก้มไปทางด้านข้างของช่องคลอดเท่านั้น

ดึง-ดูดถูกต้อง รับรองว่าปลอดภัย

         ทั้งคีมและเครื่องดูดสูญญากาศ-จัดเป็นเครื่องมือช่วยคลอดที่มีประโยชน์และเป็น ที่นิยมใช้กันทั่วโลก แต่ก็มีคุณแม่หลายท่านยังมีความเข้าใจผิดและมีความขยาดหวาดกลัวอยู่ ส่วนหนึ่งก็คงมาจากชื่อของเครื่องมือ ที่อาจทำให้จินตนาการถึงความรุนแรงในการใช้ อย่างคีมช่วยคลอด แค่ฟังชื่อก็ให้ความรู้สึกแล้วว่า ถ้าขืนใช้คีมคงเข้าไปหนีบหัวลูกเราจน กะโหลกแตกได้ ทั้งที่ในความเป็นจริง ตัวคีมจะเว้นช่องว่างตรงกลางไว้ให้พอดีกับส่วนศีรษะอยู่แล้ว และเวลาใช้งานก็เพียงแต่ดึงออกมา ไม่ได้ไปบีบให้คีมหนีบศีรษะอย่างที่เข้าใจกัน

         ส่วนเครื่องดูดสูญญากาศก็เช่นกัน ฟังชื่อแล้วก็น่ากลัวว่าเดี๋ยวเครื่องจะดูดจนเนื้อสมองไหลออกมา หรือหัวปูดโนเสียรูปทรง ซึ่งอันที่จริงเครื่องดูดสูญญากาศเพียงแค่ดูดติด แน่นกับหนังศีรษะเท่านั้น พอหลังคลอด หนังศีรษะก็จะยังคงนูนเป็นรูปถ้วยอยู่สักพัก แล้วก็จะยุบตัวลงเข้าสู่รูปทรงศีรษะตามปกติ ไม่ได้ไปดูดกะโหลกศีรษะหรือเนื้อสมองเลยแม้แต่น้อย

         นอกจากนี้ ส่วนใหญ่เครื่องมือทั้ง 2 ชนิดนี้ยังมักใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น เมื่อคุณแม่อ่อนเพลียมากจนมดลูกไม่มีกำลังหดรัดตัวเพียงพอ หรือทารกในครรภ์มีอาการผิดปกติ ถ้าไม่รีบช่วยคลอดออกมาทันทีก็อาจเสียชีวิตได้ เมื่อช่วยคลอดออกมาแล้วถึงทารกจะรอดชีวิต ก็ย่อมต้องมีอาการย่ำแย่บ้าง เพราะแย่อยู่แล้วตั้งแต่อยู่ในมดลูก แต่คนทั่ว ๆ ไปก็จะมองว่า แย่เพราะใช้เครื่องมือช่วยทำคลอด และก็มีบ้างเหมือนกันที่แพทย์ผู้ใช้เครื่องมือขาดความชำนาญและประสบการณ์ในการใช้ รวมทั้งทำในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ไม่ครบถ้วน ก็อาจเกิด อันตรายต่อทารกและช่องคลอดได้ เครื่องมือทั้งคู่ก็เลยตกเป็นจำเลยของสังคมไป...นี่ถ้า เครื่องมือมีชีวิตเหมือนพวกเรา คงน้อยใจที่ทำคุณบูชาโทษแท้ ๆ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์