จริตของมนุษย์

คนเราทุกคนมีพื้นนิสัย หรือพื้นเพของจิตใจแตกต่างกัน บางคนหนักไปอย่างอีกคนหนักไปอีกอย่าง ต่างคนต่างไม่เหมือนกัน ตามแต่วาสนาบารมีที่สั่งสมอบรมมาทั้งในอดีตชาติและในภพชาติปัจจุบัน เมื่อเป็นดังนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระบรมครูที่ยิ่งกว่าครูทั้งหลายของเรา จึงทรงบัญญัติวิธีเจริญสมาธิไว้แก่เหล่าพระสาวกหลายวิธี เพื่อให้เลือกปฏิบัติตามแต่จริต พื้นนิสัยของตนๆ โดยเหมาะสม อันเป็นเหตุให้ได้รับผลดีในการปฏิบัตินั้นยิ่งๆ ขึ้นไป

จริต หรือ จริยา คือ การเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ

"จรณํ ปวตตนํ = จริยา ความเกิดขึ้นเสมอๆ"

จริตสำคัญๆ มีอยู่ที่เห็นเด่นชัดก็มีคนอยู่จำนวนไม่น้อยที่มีจริตเหล่านี้ปะปนกันอยู่ บางอย่างมากบางอย่างน้อย บางทีก็คละเคล้าก้ำกึ่งกัน ไม่ชัดเจนลงไป จริตที่สำคัญๆ เหล่านี้คือ

ราคะจริต โทสะจริต โมหะจริต ศรัทธาจริต พุทธิจริต และวิตกจริต ส่วนการที่จะรู้สึกว่าผู้ใดมีจริตชนิดใดไม่สามรถรู้ได้โดยง่าย ผู้ที่ปฏิบัติสำเร็จบรรลุปรจิตตวิชาอภิญญาลาภี คือผู้สามารถรู้อัธยาศัยจิตใจบุคคลอื่น ส่วนบุคคลธรรมดาโดยทั่วไปพอรู้ได้บ้าง เพียงการสังเกตจากสิ่งต่างๆ เช่น อิริยาบถ
กิจการงาน อาหารการกิน อุปนิสัยใจคอ เหล่านี้เป็นต้น

ผู้มีราคะจริต (เป็นผู้รักสวยรักงาม) สามารถสังเกตได้ดังนี้

1. โดยอริยาบถ เวลาเดินไปในที่ใด เดินปกติ มีกิริยาการเดินนุ่มนวล ถ้าเป็นหญิงเรียกว่าชดช้อย การยกย่างเท้ากระทำอย่างค่อยๆ เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ขณะย่างก้าวไม่รีบร้อนรอยเทากระโหย่งกลาง เมื่อยืนหรือมีอาการละมุนละม่อมน่าดู เวลานอนไม่รีบร้อน ต้องจัดแจงที่นอนให้เรียบร้อยน่านอน แล้วจึงค่อยเอนตัวลง การวางอวัยวะร่างกายส่วนต่างๆ อยู่ในอาการน่าดู เมื่อถูกปลุกให้ลุกก็ค่อยๆ ลุก เหมือนไม่เต็มใจ

2. โดยการกระทำกิจการงาน จะทำอะไรก็ตาม ชอบความเรียบร้อย สะอาดหมดจดเป็นระเบียบ หากเป็นงานที่ต้องใช้มือ ก็ค่อยๆ ทำ แช่มช้า ไม่รีบร้อนไม่ชอบให้มีสิ่งใดรกรุกรัง
เปรอะเปื้อน

3. โดยโภชนะ ชอบอาหารอันละมุนละไม มีรสอร่อยสนิท หวานมัน เวลารับประทานกระทำอาหารเป็นคำๆ แต่พอดี ไม่ให้คำเล็กไปโตไป รับประทานเรื่อยๆ ไม่รีบร้อน ชอบลิ้มรสแปลกๆ ได้อาหารที่ถูกปากแล้ว เพียงอย่างเดียวก็พอใจมาก

4. โดยทัศนะ เมื่อได้เห็นรูปสวยงามที่น่าปลื้มใจเสียงไพเราะ กลิ่นหอม อาหารรสดี เครื่องสัมผัสละเอียดอ่อนนุ่มสบายแม้ไม่มากเป็นเพียงธรรมดา ก็เกิดความพึงพอใจ ตั้งใจมองตั้งใจฟัง มีลักษณะเหมือนของอย่างดีน่าพิศวงงงงวยอย่างจริงๆ จังๆ คล้ายกับไม่เคยประสบมาแม้สิ่งเหล่านั้นจะมีข้อบกพร่องอยู่บ้างก็ไม่น่านำมาคิดเป็นผิด เป็นไม่ดี คงติดใจในคุณภาพที่แม้มีเพียงนิดเดียวก็สมใจ เมื่อสิ่งดังกล่าวจะผ่านเลยไปก็ยังไม่ย่อมลดละ ยังตามมอง ตามดู ตามฟังอย่างที่เรียกต้องชะเง้อดู หรือเงี่ยหูฟัง เมื่อต้องจากก็แสดงความอาลัย บางทีถึงกับเหลียวหลังตามอย่างเสียดาย

5. โดยธรรมปวัตติ พวกราคะจริตนี้ มีจิตใจไม่สูง ชอบมี

1. มายา เจ้าเล่ห์
2. สาเถยยะ โอ้อวด
3. มานะ ความถือตัว
4. ปาปิจฉตา มีความประสงค์ทางทุจริต
5. มหิจฉิตา ต้องการให้ผู้อื่นยกย่องชมเชยในคุณความดีของตนเกินประมาณ
6. อสันตุฎฐิตา ไม่มีความพอใจในเครื่องอุปโภค บริโภค
7. สิงคะ เป็นผู้แง่งอน
8. จาปัลยะ เป็นผู้ประดิษฐ์ตกแต่งเครื่องนุ่งห่ม พิถีพิถันเรื่องความสวยงาม
ชอบเครื่องประดับประดาต่างๆ

ผู้มีศรัทธาจริต

มีข้อสังเกตเรื่องอริยาบถ กิจการงาน อาหาร ทัศนะเหมือนราคะจริตต่างแต่เรื่องธรรมปวัตติ คือเป็นผู้ไม่มีมายาสาไถย มีจิตใจสูงตรงข้ามกับพวกราคะจริต เช่น มี
1. มุตตจาคตา เป็นผู้ยินยอมเสียสละ ไม่มีความห่วงใยสิ่งทั้งปวง
2. อริยานํ ทสสนกามตา มีความต้องการพบเห็นพระอริยเจ้า
3. สทธมมโสตุกามตา ต้องการฟังพระสัทธรรม
4. ปาโมชชพหุลตา มีความปรีดาปราโมทย์อย่างสูงในเมื่อได้พบเห็นพระอริยเจ้า และได้ฟังพระสัหธรรมแล้ว
5. อสฐตา เป็นผู้ไม่โอ้อวด
6. อมายาวิตา ไม่มีมายา
7. ปราโท เป็นผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย บิดา มารดา ครู อาจารย์ เป็นอย่างดี


ผู้มีโมหะจริต

มีข้อพึงสังเกตได้ดังนี้
1. โดยอริยาบถ เวลาเดิน เดินเปะปะตามเรื่องตามราว ยกเท้าขึ้นลงเหมือนคนขย่มตัว
รอยเท้าจิกลงทั้งที่ปลายและที่ส้น เวลายืนนั่ง เหมือนคนเซ่อๆ เม่อลอย เวลานอนไม่น่าดูเหวี่ยง
มือเท้าเกะกะโดยไม่รู้ตัว การจัดปูที่นอนไม่เรียบร้อย ชอบนอนค่ำหน้า เวลาถูกปลุกลุกขึ้นช้า งัวเงีย หาวเรอ ทำอาการกระบิดกระบวนไปมาไม่อยากตื่น น่ารำคาญ

2. โดยกิจการงาน ทำสิ่งใดทำอย่างหยาบๆ ไม่ถี่ถ้วน ที่เรียกว่า "ชุ่ย" เอาดีไม่ได้งานคั่งค้างไม่เรียบร้อย กระจุยกระจายเกลื่อนกลาด ไม่สะอาด ทำตามแต่จะได้เหมือนไม่ตั้งใจ

3. โดยโภชนะ ชอบอาหารไม่แน่นอนเดี๋ยวอย่างนี้เดี๋ยวอย่างโน้น เวลาบริโภคทำอาหารคำเล็กๆ ไม่กลมกล่อม เม็ดข้าวตกเรี่ยราด เกลื่อนกลาดกระจายไป ปากคอเลอะ บริโภคอย่างคนมี
จิตใจเลื่อนลอย ฟุ้งซ่าน (ในสมัยปัจจุบัน ตรงกับลักษณะคนปัญญาอ่อน)

4. โดยทัศนะ เมื่อพบเห็นสิ่งใดจะรู้สึกเฉยๆ ไม่พอใจหรือเกลียดชัง ซึ่งไม่ใคร่สนใจอะไร ต่อเมื่อมีคนหนุนขึ้นมาจึงพอคล้อยตามไปได้ ก็ติพลอยติเขา ใครชมก็พลอยชมเขา ในทำนองดังนี้

5. โดยธรรมปวัตติ มีจิตใจโง่เขลางมงาย เป็นไปดังนี้ คือ
ถีนะมิทธะ มีจิตใจง่วงเหงา หดหู่ ท้อถอย ไม่แข็งแรง
กุกกุจจะ เป็นคนที่รำคาญ

วิจิกิจฉา มีความลังเลสงสัย สนเท่ห์ (ขี้สงสัย เจ้าปัญหา)
อาทานคาหิตา มีการยึดถือมั่น เหนียวแน่น โดยปราศจากเหตุผล
ทุปปฏิสสคคิตา ยากในการจะอบรมสั่งสอนให้ปลดเปลื้องความเห็นผิดออก (ว่านอนสอนยาก)
ผู้มีวิตกจริต มีข้อสังเกตได้ดังนี้ ว่าโดยอิริยาบถ กิจการงาน โภชนะ ทัศนะ เหมือน โมหะจริต ต่างกันอยู่แต่เรื่อง ธรรมปวัตติ เท่านั้น คนวิตกจริตจะมีอาการ
ภสสพหุลตา พูดพร่ำ

คณารามตา ชอบคลุกคลีกับหมู่คณะ
กุสลานุโยเค อรติ ไม่มีความยินดีในการทำบุญ บริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนา
อนวฏฐิตกิจจตา ชอบพลุกพล่านเรื่องโน้นเรื่องนี้ ไปทางโน้นทางนี้ เปลี่ยนงานเรื่อยไป
รัตติธุมายนา กลางคืนชอบคิดโครงการสร้างวิมานในอากาศ ที่จะทำในวันรุ่งขึ้น
ทิวาปัชชลนา พอถึงกลางวันก็ทำตามที่ตนคิดไว้ในตอนกลางคืน ไม่รู้ผิดรู้ถูกแต่ประการใด
หุราหุรังชาวนา เป็นคนเจ้าความคิดไปในเรื่องร้อยแปด ไม่รู้หยุดหย่อน เป็นคนชอบกังวลในเรื่องต่างๆ นาๆ จนบางครั้งมีอาการของคนเป็นโรคประสาท

ผู้มีโทสะจริต

มีข้อพึงสังเกตได้ดังต่อไปนี้

1. โดยอริยาบถ เวลาเดินมีลักษณะจิกลงน้ำหนักที่ปลายเท้า การวางเท้า ยกเท้ารวดเร็ว  
ไม่เรียบร้อย ผลีผลาม รอยเท้าจิกปลาย เวลานั่ง มีกริยาท่าทางกระด้างไม่นิ่มนวลเวลานอนก็รีบร้อนมาก การจัดเตรียมที่นอนจัดอย่างไม่สนใจตามแต่จะได้ การทอดกายลงนอนไม่มีระเบียบ วางอวัยวะมือเท้าเกะกะ เวลาถูกปลุกให้ตื่นก็รีบร้อนลุกผลุดผลัด หน้าตาบูดบึ้งเวลาตอบคำพูดห้วนดุ เหมือนคนโกรธกัน

2. โดยการกระทำกิจการงาน ทำการงานสะอาดแต่ไม่เรียบร้อย ทำสิ่งใดมีเสียงดังไม่บรรจง มีอาการโครมคราม หยิบจับสิ่งใด จับแน่นขึงขัง ทำงานรีบร้อน ไม่สม่ำเสมอ เช่น สะอาดเป็นแห่ง

3. โดยโภชนะ ชอบอาหารหยาบๆ ลวกๆ รสจัดเปรี้ยว เค็ม ขม ฝาด เวลาบริโภคทำคำอาหารโตจนคับปาก รับประทานเร็ว ไม่ใช่เป็นคนชอบลิ้มรสอาหารแปลกๆ ได้อาหารสิ่งใดไม่ถูกใจเพียงอย่างเดียวก็พาลโกรธได้

4. โดยทัศนะ เมื่อเวลาเห็นรูป ได้ยินเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสสิ่งต่างๆ ที่ไม่ดีเพียงเล็กน้อยก็หงุดหงิดใจไม่อยากพบเห็นยิ่งหากมีข้อบกพร่องปนอยู่บ้างเพียงเล็กน้อยก็ขังเตืองใจถึง

สิ่งเหล่านั้นจะมีส่วนอื่นปนอยู่มากจนเห็นชัดแจ้ง ก็ไม่สนใจความดีเหล่านั้น เมื่อสิ่งเหล่านี้ จากหรือผ่านไป ไม่รู้สึกเสียดาย ไม่มีการแลเหลียว คิดห่วงพวงหลง ติดใจอาลัย ใคร่ให้ไปพ้นๆ เพียงประการเดียว

5. โดยธรรมปวัตติ มีจิตใจทางต่ำ คือ

โกธะ มักโกรธ
อุปนาหะ ผูกโกรธ
มักขะ ลบหลู่คน
ปลาสะ ตีเสมอ
อิสสา อิจฉาริษยาในคุณสมบัติของผู้อื่นที่ดีกว่าตนหรือเสมอตน
มัจฉริยะ ตระหนี่

ผู้มีพุทธิจริต

 

มีข้อสังเกตได้ดังนี้ โดยลักษณะสื่อย่างข้างต้น คือ อิริยาบถ กิจ โภชนะ ทัศนะ เหล่านี้ย่อมเหมือนกับผู้มีโทสะจริต ต่างกันตรงเรื่องธรรมปวัตติ

ผู้มีพุทธิจริต ไม่ใคร่ปรากฏมี โกธะ อุปนาหะ มักขะ เป็นผู้มีจิตใจสูง ตรงข้ามกับพวก โทสะจริต มี

1. โสวจจตา ว่านอนสอนงาย ในเรื่องที่มีประโยชน์ คำตักเตือนใดที่เป็นประโยชน์มีคุณค่าแล้ว แม้ผู้เตือนจะมิใช่บิดา มารดา ครู อาจารย์ ญาติมิตร ก็ยอมรับฟังและปฏิบัติตาม

2. กลยาณมิตตตา เลือกคบแต่คนดีเป็นเพื่อนไม่มีการถือชั้นวรรณะ

3. โภชเนมตตญญตา รู้จักประมาณในการรับอาหาร รู้ประมาณในการบริโภค

4. สติสมปชญญํ มีสติปชัญญะ

5. ชาครียานุโยโค หมั่นประกอบความเพียร มีจิตใจตื่นอยู่ในกิจที่ดีเป็นนิจ

6. สํเวโค มีความเบื่อหน่าย และเห็นโทษในการเกิด แก่ เจ็บ ตาย

7. โยนิโสปธานํ มีความเพียรโดยเหมาะ คือหมั่นประกอบในทางศีล ภาวนา เพื่อให้ได้คติภพที่ดีในชาติข้างหน้าต่อๆ ไป จนถึงที่สุดแห่งทุกข์ทั้งปวง เลิกเกิดอีกต่อไป

คนพุทธิจริต เป็นคนมีปัญญา รู้ดีรู้ชั่ว รู้ถึงเหตุและผลของกุศลกรรม อกุศลกรรมทั้งปวงมีความฉลาดในการประกอบกุศลกรรม

จริตต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วเป็นข้อสังเกต โดยสังเขป ในการนำไปพิจารณาเลือกวิธีปฏิบัติในการฝึกสมาธิ เพราะถ้าปฏิบัติถูกกับจริตแล้วย่อมได้รับผลสำเร็จด้วยดี

แต่อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตเหล่านี้จะถือเป็นการตายตัวแน่นอนไม่ได้ เพียงใช้สังเกตอย่างธรรมดาสามัญ เพราะคนส่วนมากมิได้มีเพียงจริตเดียว บางคนมีปนอยู่ 2-3-4 จริต สับสนนอกจากนั้น ผู้ที่ได้รับการศึกษาดีมีความรู้เฉลียวฉลาด สามารถข่มจริตของตนมิให้ปรากฏชัดออกมาการสังเกตอย่างธรรมดา จึงรู้ได้ยาก นอกจากผู้มีอภิญญาจิต ล่วงรู้ใจบุคคลอื่น

สาเหตุที่คนเรามีจริตแตกต่างกัน ดีบ้างเลวบ้าง แม้แต่พี่น้องท้องเดียวกัน กระทั่งเป็นคู่
ฝาแฝด ก็ยังมีอัธยาศัยใจคอไม่เหมือนกันนั้น เนื่องมาจากการกระทำกุศลของแต่ละคนในชาติปางก่อน กระทำไว้ไม่เหมือนกันนั่นเอง

ในชาติปางก่อน ขณะเมื่อกำลังบริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อยู่นั้น กระแสจิตของใครปรารถนาการมีชื่อเสียง มีหน้ามีตา อยากได้ทิพยสมบัติ อันเป็นตัวตัณหา ทั้งมีมานะว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่ มีทิฏฐิ ถือตัวถือตน ประกอบกุศลกรรมที่เกี่ยวเนื่องด้วย ตัณหา มานะ ทิฏฐิ เช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้คนผู้นั้นเป็นราคะจริตในภพชาติต่อไป

กระแสจิตของใครในขณะนั้น เกิดสิ่งเหล่านี้ปะปนอยู่คือ ความโกรธ ความเสียใจ ความอิจฉาริษยา ความตระหนี่ ความเดือดร้อนไม่สบายใจอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นแล้ว กุศลที่เกี่ยวเนื่องด้วย โทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ เหล่านี้ทำให้เป็นคนโทสะจริตในภพชาติต่อไป

กระแสจิตของใครในขณะนั้น ทำกุศลในความโง่เขลา ไม่รู้เหตุรู้ผล ทำตามๆ ไปตามสมัยนิยม ตามกาลเวลา บางทีก็เคลือบแลงสงสัย วิพากษ์วิจารณ์ ในทาน ศีล ภาวนาที่ตน กระทำอยู่บางทีไม่ตั้งใจกับคิดฟุ้งซ่านไปในเรื่องอื่น กุศลที่เกี่ยวเนื่องด้วยโมหะ วิจิกิจฉา อุทธัจจะเหล่านี้ จะทำให้
ผู้นั้นเกิดเป็นคนโมหะจริตในภพชาติต่อไป

กระแสจิตของใครในขณะนั้น มัวแต่คิดไปในเรื่องสนุกสนานเพลิดเพลิน ในเรื่องกามคุณ
รูปรส กลิ่น เสียง สัมผัส อันเป็นอารมณ์ ที่เป็นอารมณ์ ที่เป็นกามวิตก คิดไปในทางปองร้ายผู้อื่น เป็นพยาบาทวิตก หรือ คิดเบียดเบียน ทำลายความสุขของผู้อื่น สัตว์อื่น ให้ได้รับความเดือดร้อน เป็นวิหิงสาวิตก กุศลที่เกี่ยวเนื่องด้วยกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก เช่นนี้ เป็นสาเหตุให้ผู้นั้นเกิดเป็นคนวิตกจริตในภพชาติต่อไป

กระแสจิตของใครในขณะนั้น ประกอบด้วยความเชื่อ ความเลื่อมใส ในกรรมและผลของกรรม คุณของพระรัตนตรัย เชื่อว่าถ้ายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ จะต้องตายแล้วเกิดใหม่อยู่เรื่อยๆ ไป กุศลเกี่ยวด้วยศรัทธาเช่นนี้ ตายแล้วเกิดชาติใหม่จะเป็นคนมีศรัทธาจริต

ถ้ากระแสจิตในขณะบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา นั้น ประกอบไปด้วยปัญญา รู้ถูกต้องตามความเป็นจริงในเหตุในผล ของกุศลกรรมที่ตนเองกระทำ มีความฉลาดในการทำกุศล เจ้าใจดีว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ทรัพย์สินเงินทอง เหล่าญาติ ผู้คนทั้งปวง มิใช่เป็นของตนโดยแท้จริง

ตัวเรา ผู้อื่นล้วนเป็นเพียงรูปนาม ขันธ์ 5 อาศัยซึ่งกันและกัน เป็นไปอยู่ที่เรียกเป็นคน สัตว์เรา เขา ชาย หญิง ล้วนเป็นสมมติโวหารของชาวโลก แต่งตั้งขึ้น ความจริงหามีอะไรเป็นแก่นสารไม่ มีบุญกุศลเท่านั้นที่จะนำติดตัวไปได้ จึงหมั่นกระทำกุศลต่างๆ ด้วยความเต็มใจหรือพิจารณาเห็นว่า

กุศลกรรมเหล่านี้ สัปบุรุษทั้งหลายนิยมกระทำ เพราะเป็นของมีประโยชน์อย่างยิ่ง เราควรเจริญรอยตามความประพฤติของท่าน เพื่อทำที่พึ่งให้ตนเอง ทั้งในภพนี้และภพหน้า หรือตั้งความปรารถนาขออำนาจกุศลกรรมที่กระทำแล้วส่งผลให้เกิดเป็นผู้ทีปัญญา กุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญาดังนี้ จะเป็นเหตุให้ผู้นั้น เกิดเป็นคนมีพุทธิจริตในภพชาติต่อไป

เมื่อทราบเหตุดังนี้ หากใสชาตินี้มีจริตอย่างหนึ่งอย่างใด ไม่อาจแก้ไขได้แล้ว สมควรสร้างเหตุไว้ในภพต่อไป ให้ได้เกิดเป็นผู้มีจริตฝ่ายดีงามเช่น ศรัทธาจริต พุทธิจริต เป็นต้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตั้งใจ รักษาใจไว้ให้ดี ในขณะทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อย่าให้มี
จิตใจต่ำเกิดแทรกแซงได้ในขณะนั้น

นอกจากเรื่องแก้ไขจริตของตนเองแล้ว ยังสามารถแก้ไขปรับปรุงภาวะต่างๆ ที่ไม่ปรารถนาจะพบในชาติภพต่อๆ ไป เช่น ถ้าไม่ต้องการเกิดใหม่เป็น

คนโง่ ให้แก้ไขด้วยการเร่งศึกษาวิชาธรรมทั้งปริยัติและปฏิบัติ หรือสนับสนุนอุปการะ
ผู้กำลังศึกษา

คนจน ให้แก้ไขด้วยการเร่งสร้างทาน

คนขี้ริ้ว ไม่สวยงาม ให้แก้ไขด้วยการทำความสะอาดปูชนียสถาน การจัดถวายทานอย่างประณีต สะอาดเรียบร้อยทุกสิ่งทุกอย่าง และจงระวังอย่าให้เกิดความโกรธ ความเสียใจในขณะประกอบกุศลกรรมนั้น
คนขี้โรค ให้แก้ไขด้วยการงดเว้นการเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายให้ได้รับความลำบากช่วยเหลือผู้ที่เป็นทุกข์ด้วยโรคภัยไข้เจ็บตามแต่ของตนจะอนุเคราะห์ได้ เช่น ให้ยา เงิน ของกิน ของใช้

คนสกุลต่ำ ให้แก่ไขด้วยการมีความเคารพอ่อนน้อมถ่อมตนผู้ที่มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ อย่าเย่อหยิ่งถือตัว
แต่ถ้าหากในชาตินี้ได้พบกับภาวนาที่พึ่งปรารถนาหลายประการอยู่แล้ว เช่นเป็นคนสวย รวยทรัพย์ มีสติปัญญาดี ดังนี้เป็นต้น ย่อมไม่สมควรประมาท เพราะผลที่ได้รับอยู่นี้ย่อมมาจากเหตุที่เคยประกอบไว้ในชาติก่อน เมื่อขณะนี้กำลังเสวยผลจากกุศลกรรมนั้นอยู่ ย่อมมีแต่วันผลบุญนั้นจะหมดไป เหมือนหาทรัพย์ได้แล้วใช้จ่ายอย่างเดียว เลิกหาเพิ่มมาอีก ทรัพย์ย่อมจะหมดไปถ่ายเดียว ผู้ฉลาดจำเป็นต้องสะสมเพิ่มพูนให้มีมากยิ่งๆ ขึ้นไป กุศลกรรมก็ไปในทำนองเดียวกัน ต้องหมั่นสร้างไว้ทุกประการให้ยิ่งข้น จึงจะนับว่าเป็นผู้ได้กำไรเกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาไม่เสียทีที่ได้เกิดมาชาตินี้

สรุป

 

ผู้มีราคะจริต มีอัธยาศัยขี้โอ่ รักใคร่ของสวยงาม มีสันดานหนักไปทางกำหนัดในกามคุณ 5
ผู้มีโทสะจริต อัธยาศัยหนักไปด้วยโทมนัส (ใจน้อย) ขัดแค้นกริ้วโกรธง่าย
ผู้มีโมหะจริต มีอัธยาศัยมักลุ่มหลงมัวเมา สติอารมณ์ฟั่นเฟือน เป็นคนโลเล เอาแน่ไม่ได้ ไม่ยั่งยืน
ผู้มีศรัทธาจริต มีอัธยาศัยชอบฟังผู้อื่น เลื่อมใสพระรัตนตรัย ยินดีในการทำทานรักษาศีลประกอบกุศลกรรมต่างๆ

ผู้มีพุทธิจริต มีอัธยาศัยมากไปด้วยการรู้จักพิจารณาในบาปบุญคุณโทษ มีปัญญา
หลักแหลมแตกฉาน

ผู้มีวิตกจริต มีอัธยาศัยมากไปด้วยวิตกวิจาร สันดานโว้ลังเลไม่ยังยืน
สมถกรรมฐานที่แสดงไว้เพื่อให้เหมาะสมกับจริตต่างๆ แยกออกเป็นหมวดๆ ได้หมวด คือ กสิณ 10 อสุภะ 10 อนุสสติ 10 อัปปมัญญษ 4 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุวัตถาน 1 และอารุปป 4
ผู้มีราคะจริต ควรเจริญกรรมฐาน 11 อย่างคือ อสุภะ 10 กายคตาสติ 1
ผู้มีโทสะจริต ควรเจริญกรรมฐาน 8 อย่าง คือ พรหมวิหาร 4 วรรณฏศร 4
ผู้มีโมหะจริต วิตกจริต ควรเจริญกรรมฐาน คือ อานาปานสติกรรมฐาน

ผู้มีศรัทธาจริต ควรเจริญกรรมฐานคือ อนุสติ 6 อย่าง มีพุทธนุสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ

ผู้มีพุทธิจริต ควรเจริญกรรมฐาน คือ มรณานุสสติ อุปสนานุสสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา และจตุธาตุวัตถาน 4

คนจริตอย่างไรก็ตาม หากมีปัญญามาก ควรเจริญกรรมฐาน 10 อย่าง คือ อรูป 4 ภูตกสิณ 4 อาโลกกสิน 1 และอากาสกสิณ 1(สำหรับรูป 4 ถ้านั้นไม่เคยมีบารมีอบรมตนไว้แต่ปางก่อน ควรฝึกด้วยกรรมฐานอื่นเป็นพื้นเสียก่อน แล้วจึงบำเพ็ญอรูปกรรมฐานภายหลัง)

กสิณ 10 มีกสิณที่ใช้สิ่งเหล่านี้เป็นอารมณ์กรรมฐาน คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม สีเขียว สีเหลือง
สีขาว อากาศ แสงสว่าง รวม 10 อย่าง

อสุภะ 10 เอาศพที่น่าเกลียดมีอาการต่างๆ 10 อย่าง มาใช้อารมณ์กรรมฐาน


เรียบเรียงโดย อ.นวลจิต อุทัยเชฏฐ์ (kurunuanjit.tripod.com)


จริตของมนุษย์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์