อย่าทำเย่อหยิ่งเยี่ยง...(กิ่งก่าได้ทอง)

อย่าทำเย่อหยิ่งเยี่ยง...(กิ่งก่าได้ทอง)


ความเย่อหยิ่ง คืออะไร?
ความเย่อหยิ่ง นั้นก็คือ...การแสดงอาการของความทะนงตนว่า
ดีกว่าผู้อื่น ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง มีความกระด้าง ขาดความละมุนละม่อม
อ่อนโยนในกิริยาวาจาและอัธยาศัย เป็นอาการที่น่าเกลียด ไม่น่ารัก
ไม่น่าเอ็นดูของคนทั้งหลาย

ความเย่อหยิ่งนี้เกิดเพราะชาติกำเนิดสูงบ้าง เพราะความมั่งมีทรัพย์
สินบ้าง เพราะทะนงในรูปโฉมบ้าง หรือเพราะถือว่ามีความรู้ในศิลปะ
วิทยาในศาสตร์ต่างๆเป็นพิเศษบ้าง รวมความแล้วก็คือ การยกตัวถือ
ตนว่า ดีกว่าสูงกว่าผู้อื่นนั่นเอง

ส่วนความไม่เย่อหยิ่ง คือความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ถือตัวดูหมิ่นผู้อื่น
รู้จักที่ต่ำที่สูง รู้จักเคารพคารวะต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น
(เล่านิทานประกอบ แสดงให้เห็นลักษณะและโทษของความเย่อหยิ่ง)

>> กิ้งก่าได้ทอง <<
มีกิ่งก่าตัวหนึ่ง อาศัยอยู่ที่ซุ้มประตูสวนของพระมหากษัตริย์ อยู่มา
วันหนึ่งพระมหากษัตริย์เสด็จออกไปประพาสอุทยาน ครั้นเสด็จไปถึง
ซุ้มประตู ทอดพระเนตรเห็นกิ้งก่าลงมาจากซุ้มประตู แล้วเกาะอยู่ที่
พื้นดิน น้อมศีรษะลงผงกๆถวายคำนับ พระมหากษัตริย์ทอดพระเนตร
เห็น จึงตรัสถามเสนาข้าราชการที่ตามเสด็จว่า..."เจ้าตัวนี้ มันทำหัว
ผงกๆทำไม?"...ข้าราชการผู้หนึ่งจึงกราบทูลว่า..."กิ้งก่ามีความสวา-
มิภักดิ์และทำความเคารพต่อพระองค์"...พระมหากษัตริย์ได้ทรงฟังก็
ชอบพระทัย จึงพระราชทานทองเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงให้แก่กิ้งก่านั้นวันละ
สองไพ มอบไว้กับคนเฝ้าอุทยาน เพื่อให้ซื้อเนื้อมาให้กิ้งก่ากิน

อยู่มาวันหนึ่ง คนเฝ้าสวนไปซื้อเนื้อมาไม่ได้ จึงเอาทองสองไพมาผูก
คอกิ้งก่า พอกิ้งก่าได้ทองสองไพผูกคอ ก็เกิดความเย่อหยิ่งถือตัวว่า
มีเงินทอง คิดว่าไม่แต่คนอื่นเท่านั้นที่จะมีเงินทอง ตนเองก็มีเหมือน
กัน ยศศักดิ์เล่า ไม่แต่คนอื่นจะมี ตนก็มีเหมือนกัน เพราะพระมหา-
กษัตริย์ทรงชุบเลี้ยงตน ต่อไปนี้ตนก็ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องอ่อนน้อมต่อ
ใครหมด คิดแล้วก็ชูศีรษะร่อนอยู่บนซุ้มประตู

วันหนึ่งพระมหากษัตริย์เสด็จออกไปประพาสอุทยานอีก ฝ่ายกิ้งก่า
แลเห็น ก็ทำหยิ่งถือตัว ไม่ลงมาถวายคำนับเหมือนอย่างแต่ก่อน
พระมหากษัตริย์ทอดพระเนตรเห็น จึงตรัสถามเจ้าพนักงานผู้เฝ้าอุทยาน
ว่า..."ทำไมกิ้งก่าจึงไม่ประพฤติเหมือนแต่ก่อน". ผู้รักษาอุทยานจึง
กราบทูลเล่าเรื่องถวายว่า..."ตั้งแต่ได้เอาทองผูกคอไว้แล้ว แต่นั้นมา
มันก็ไม่ทำสัมมาคารวะเหมือนแต่ก่อน"...ครั้นพระมหากษัตริย์ทรงทราบ
ว่า กิ้งก่ากำเริบหยิ่งยโสขึ้น เพราะมีทองผูกคอเช่นนั้น ก็ทรงพระพิโรธ
จึงดำรัสรับสั่งให้ผู้รักษาอุทยาน ให้เอาทองที่ผูกคอกิ้งก่าออกเสียและ
ตรัสห้ามว่า..."ตั้งแต่วันนี้ต่อไป อย่าซื้อเนื้อมาให้กิ้งก่ากินเป็นอันขาด"
กิ้งก่าตัวนั้นก็อดเนื้อที่เคยได้รับพระราชทานเพราะความเย่อหยิ่งของตน

จากนิทานเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าความเย่อหยิ่งเป็นสิ่งที่ไม่ก่อประโยชน์แต่
ประการใดเลย หนำซ้ำทำให้เสียประโยชน์อีกด้วย แม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็น
ผู้สูงด้วยชาติวุฒิ คือกำเนิดมาในตระกูลสูงหรือว่าเป็นผู้ที่มั่งมีเงินทอง
พรั่งพร้อมด้วยโภคทรัพย์ หรือว่าเป็นผู้ทรงคุณวฒิในศิลปศาสตร์ใดๆก็
ตาม แต่ถ้าบุคคลนั้นรำลึกอยู่ว่า ที่ตนได้เป็นหรือมีอยู่เช่นนั้น ก็เป็นเพราะ
บุญเก่าที่ตนได้สร้างสมไว้ และไม่เย่อหยิ่งถือตัว มีความอ่อนน้อมถ่อมตน
ไม่ดูหมิ่นผู้อื่น ผู้นั้นก็จะยิ่งได้รับความสุข ความสวัสดี และความสำเร็จใน
ชีวิตยิ่งขึ้น เพราะได้กระทำตนให้เป็นที่รักใคร่ เอ็นดู หรือได้รับความเคารพ
นับถือจากผู้อื่น อันเป็นทางนำไปสู่ความสำเร็จด้วยประการทั้งปวง และนี่
เองที่ท่านตรัสสอนว่า ความไม่เย่อหยิ่งนั้นเป็นมงคลอันอุดมของชีวิต

สรุปถึงคำตรัสสอนของพระพุทธองค์ ที่ทรงกล่าวถึงความเย่อหยิ่งไว้ใน
พระสูตรหนึ่งว่า......"นรชนใดเย่อหยิ่งเพราะชาติ เย่อหยิ่งเพราะทรัพย์
เย่อหยิ่งเพราะโคตร ย่อมดูหมิ่นซึ่งญาติของตน ความเย่อหยิ่งนั้น ย่อม
เป็นทางให้เสื่อม"...ดังนี้แล...ฯ

~สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก~
ขอนอบน้อมแด่คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์
ขอความสุขความเจริญในกุศลธรรมจงมีแด่ทุกๆท่านนะคะ...ฯ


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์