สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม


ทำไมสัตว์โลกถึงเป็นไปตามกรรม?
บทสัมภาษณ์พระไพศาล วิสาโล


กรรมคืออะไรครับ

ความหมายจริงๆ ของกรรมคือ การกระทำ การกระทำทุกอย่างย่อมมีผล เราเรียกผลนั้นว่า วิบาก กฎแห่งกรรมคือกฎที่สรุปได้สั้นๆ ว่า ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว มีพุทธพจน์ว่า หว่านพืชอย่างใด ย่อมได้ผลอย่างนั้น ถ้าปลูกมะม่วงย่อมได้มะม่วง ปลูกลำไยย่อมได้ลำไย มีคนถามว่า ทำไมทำบุญเยอะแยะถึงสอบตก นั่นเป็นเพราะเหตุกับผลมันไม่สัมพันธ์กัน การสอบได้หรือไม่ได้มันไม่เกี่ยวกับการทำบุญในความหมายของการใส่บาตร ถวายสังฆทาน มันขึ้นกับว่าคุณลงแรงด้วยการขยันเรียนหรือเปล่า บางคนบอกว่า ทำไมขันรถไปทำบุญทอดผ้าป่าถึงประสบอุบัติเหตุ ก็ต้องถามว่า ตอนขับรถไปคุณประมาท กินเหล้าหรือเปล่า กฎแห่งกรรมอธิบายแบบนี้ แต่คนมักจะมองแบบไม่สัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล

เรามักจะคุ้นกันว่ากฎแห่งกรรม หมายถึง ชาตินี้เป็นอย่างนี้ เพราะชาติที่แล้วทำแบบนี้ เป็นความเชื่อที่ถูกต้องไหมครับ

พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า ลัทธิหรือความเชื่อนอกพระพุทธศาสนามีอยู่ 3 อย่าง หนึ่ง คือความเชื่อว่าสุขทุกข์ของเราทุกวันนี้ เกิดขึ้นโดยการดลบันดาลของพระเจ้า สอง คือความเชื่อว่าสุขทุกข์ของเราตอนนี้เป็นเพราะกรรมเก่าในอดีตชาติ นี่ก็ไม่ใช่ความเชื่อหรือคำสอนของพระพุทธเจ้า สาม คือความเชื่อว่าที่เราเป็นอยู่วันนี้ไม่มีเหตุ ไม่มีผล เป็นความบังเอิญ ก็ไม่ใช่พุทธศาสนาเช่นกัน

คนมันไม่เข้าใจข้อสอง ไปเข้าใจว่าพุทธศาสนาสอนว่า ที่คุณเป็นอยู่ทุกวันนี้เพราะกรรมเก่าในอดีตชาติ พุทธศาสนาไม่ได้สอนเช่นนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า กฎแห่งกรรมเป็นแค่หนึ่งกฎเท่านั้นในหลายกฎที่มีผลต่อเรา เช่น พีชนิยามซึ่งว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต อุตุนิยามว่าด้วยภูมิอากาศ ถ้าเราไม่สบาย อาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องกรรม แต่เพราะเราไปอยู่ในถิ่นที่มีโรคระบาด นี่คือพีชนิยาม หรือเหงื่อออกก็ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับกรรม อาจเป็นเพราะอากาศมันร้อน นี่คืออุตุนิยาม ถ้าเหงื่อออกเพราะความกลัว ก็เป็นจิตนิยาม กฎแห่งกรรมเป็นเพียงหนึ่งในคำอธิบายมากมาย ดังนั้นอะไรที่เกิดกับเราก็อย่าไปเหมาว่าเป็นเพราะกรรม แต่เรามักจะมองง่ายๆ หรือเหมาคลุมว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของกรรมหมด แล้วก็ตีความต่อไปว่าเป็นกรรมในชาติที่แล้ว ถ้าเป็นกรรมเมื่อวานหรือเมื่อ 10 ปีก่อนยังพอสาวหาเหตุได้ แต่พอยกให้เป็นเรื่องกรรมในชาติปางก่อน ก็เป็นเรื่องที่ทำอะไรไม่ได้แล้ว

พระพุทธองค์ไม่เคยพูดเรื่องกฎแห่งกรรมเพื่อให้เราไปสนใจกับเรื่องราวในอดีต ตรงกันข้าม ท่านพูดเพื่อไม่ให้เราเป็นทาสของอดีต ไม่ให้นั่งงอมืองอเท้าเพราะคิดว่าอดีตทำมาอย่างนั้น ตอนนี้ทำอะไรไม่ได้แล้ว นั่นไม่ใช่สาระของกฎแห่งกรรม กฎแห่งกรรมในพุทธศาสนาเน้นให้เราทำปัจจุบันให้ดีที่สุด โดยพึ่งความเพียรของตัวเอง เพราะเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ ให้เชื่อว่าการกระทำของเราย่อมส่งผล ถ้าคุณคิดว่าการกระทำของคุณไม่ส่งผล คุณก็ไม่เพียรพยายาม

ถ้าอย่างนั้น ประโยคที่ว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ยังเป็นจริงอยู่ไหมครับ

กรรมเป็นตัวกำหนดชีวิต จิตใจ และการกระทำของเรามากที่สุด ไม่ใช่สิ่งภายนอก พูดอีกอย่างก็คือ คนเราจะดีจะชั่วอยู่ที่กรรมหรือการกระทำ จะสุขหรือทุกข์ก็อยู่ที่การกระทำ ถ้าคุณวางจิตวางใจเป็น คุณเป็นมะเร็งก็ยังมีความสุขได้ เหมือนอย่างคนญี่ปุ่นหนึ่งเขียนหนังสือเรื่อง "ไม่ครบห้า" เพราะแกไม่มีขา ไม่มีแขน มีแต่ตัวกับหัว อายุ 40 กว่า เขาเขียนตอนหนึ่งว่า ผมเกิดมาพิการ แต่ก็มีความสุขและสนุกทุกวัน เขาบอกว่าพิการเพราะกรรมในอดีตชาติ ไม่เป็นไร จะพิการเพราะกรรมหรือไม่ใช่กรรมก็แล้วแต่ แต่ที่แน่ๆ เมื่อเกิดมาพิการแล้ว เขาสามารถทำใจให้มีความสุขและสนุกทุกวันได้ การวางใจถือว่าเป็นกรรมอย่างหนึ่ง เรียกว่า มโนกรรม สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมมีความหมายอย่างนี้ เป็นกรรมในปัจจุบันด้วย ไม่ใช่กรรมในอดีต เพราะกรรมในอดีตมันมีนัยยะคล้ายๆ พรหมลิขิต ซึ่งห่างไกลพุทธศาสนามาก

ชาติที่แล้วคุณทำอะไรมาก็แล้วแต่ สิ่งสำคัญอยู่ที่ปัจจุบันชาติ สิ่งที่คุณมีอยู่ตอนนี้จะมาจากไหนก็ตาม สิ่งสำคัญอยู่ที่คุณจะทำอย่างไรกับสิ่งที่มีอยู่ เหมือนคุณจั่วไพ่ ไม่สำคัญว่าคุณได้ไพ่อะไรมา สิ่งสำคัญคือคุณจะเล่นไพ่ในมืออย่างไรต่างหาก คุณจะเอาสิ่งที่คุณมีมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไรนั่นคือประเด็นที่สำคัญ เปรียบเหมือนแม่ครัว 2 คน คนหนึ่งมีเครื่องปรุงทุกอย่างในครัว อีกคนในครัวไม่ค่อยมีอะไรเลย ทำไมแม่ครัวคนหลังถึงทำอาหารได้อร่อยกว่า มันอยู่ที่ฝีมือ อยู่ที่ความใส่ใจขณะปรุง นี่คือเรื่องของกรรมโดยตรง กฎแห่งกรรมไม่ได้เน้นว่าการที่คุณมีของในครัวน้อยเป็นเพราะชาติที่แล้ว แต่เน้นว่าคุณจะนำของที่มีอยู่ไม่กี่อย่างนั้นมาทำให้อร่อยได้อย่างไร แต่คนยุคนี้กลับสนใจว่าทำอย่างไรฉันถึงจะมีของในครัวครบทุกอย่าง แต่ไม่สนใจที่ฝึกปรือวิชาทำครัว หรือพยายามทำครัวให้ดีที่สุดไม่ว่าจะมีของมากหรือน้อยก็ตาม การที่คุณหมั่นฝึกปรือวิชาทำครัว ใส่ใจทำอาหารได้ดี ให้อร่อย แม้จะมีเครื่องปรุงแค่ไม่กี่อย่าง เป็นเรื่องของกรรม

ทำไมเวลาสอนกันเรื่องทำบุญ ละบาป เราถึงเน้นว่า ตายแล้วจะได้ไปสวรรค์ หรือชาติหน้าเกิดมาจะได้สาบายล่ะครับ

ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากความเชื่อแบบชาวบ้าน ซึ่งโยงไปถึงประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทย คือคัมภีร์ ไตรภูมิพระร่วง ที่พระเจ้าลิไทแต่งสมัยสุโขทัย เป็นคัมภีร์ที่มีอิทธิพลต่อพุทธศาสนาไทยมาตลอดช่วงเวลา 700 ปี จิตรกรรมฝาผนังของวัดทุกวัดที่เป็นเรื่องนรกสวรรค์ เป็นอิทธิพลจาก ไตรภูมิพระร่วง ไตรภูมิพระร่วงทำให้ความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์แพร่หลายจนดูเหมือนพุทธศาสนาสอนแต่เรื่องนี้

อีกเหตุผลคือ เราต้องการหาคำอธิบายสำเร็จรูปที่ตอบคำถามได้ในทุกเรื่อง มนุษย์เรามีคำถามที่ต้องการคำตอบอยู่เสมอ ทำให้วิทยาศาสตร์เคลื่อนไหวไม่หยุดยั้ง แต่บางครั้งคำตอบแบบวิทยาศาสตร์ซับซ้อนเกินกว่าชาวบ้านจะเข้าใจได้ ความคิดเรื่องอดีตชาติหรือการเกิดใหม่สามารถอธิบายได้ง่ายกว่าว่า ทำไมเราถึงเกิดมารวยจนไม่เหมือนกัน อายุยาวอายุสั้นไม่เท่ากัน เรื่องกรรมในอดีตชาติอธิบายเรื่อง แบบนี้ได้ทำให้คนยอมรับชะตากรรมหรือสภาพที่เป็นอยู่ได้ แต่ที่สอนกันนั้นฉายฉวยมาก เป็นสูตรสำเร็จเกินไป

บุญต่างจากบาปอย่างไรครับ

บุญมีหลายความหมาย ความหมายหนึ่งคือการทำดี เช่น ทำดีทางกาย วาจา ใจ ด้วยการรักษาศีล อีกความหมายคือ ความเย็นใจ ความสุข ความสงบใจ เป็นผลมาจากการทำความดี แต่ถ้าพูดให้เคร่งครัด บุญแปลว่าเครื่องชำระใจ คือชำระใจจากกิเลส จากความยึดมั่นถือมั่น เมื่อชำระใจได้ จิตใจย่อมเป็นสุข ใจที่เป็นบุญคือใจที่เป็นสุข ความสุขเป็นผลจากการทำความดี นี่เป็นสิ่งซึ่งพุทธศาสนาเชื่อว่าเป็นสากล ถ้าคุณทำบุญหรือทำความดี ย่อมได้รับความสุขเหมือนกันในทุกที่ทุกเวลา บาปก็หมายถึงการกระทำที่ไม่ดี ทำให้เกิดทุกข์ เป็นจริงในทุกที่ทุกเวลาเหมือนกัน เช่น คุณไปฆ่าคน คนอื่นก็ทุกข์ คุณก็ทุกข์ ต้องคอยหลบหนี ไม่มีความสุข แต่ถ้าคุณเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใจคุณก็สบาย คนอื่นก็มีความสุข

สังคมยุคนี้ซับซ้อนขึ้น ความหมายของบุญและบาปเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนไหมครับ

ความหมายที่แท้จริงไม่เปลี่ยน แต่พฤติกรรมของคนอาจจะเปลี่ยนคือความซับซ้อนขึ้น อย่างการคดโกง คอร์รัปชัน เป็นอกุศล จัดว่าเป็นบาปเหมือนกัน โรงงานปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ ก็เป็นบาป เป็นการผิดศีลในความหมายของการเบียดเบียนผู้อื่น ศีลหมายถึงการไม่เบียดเบียน ศีลห้าเป็นแค่เกณฑ์ขั้นต่ำที่จะทำให้สังคมอยู่ได้อย่างเป็นสุข แม้ว่าไม่ผิดศีล 5 แต่ไปเบียดเบียนผู้อื่น ก็เรียกว่าผิดศีล การต่อยกันหรือรับน้องโหด ดูเหมือนจะไม่ผิดศีล 5 เพราะไม่ได้ฆ่า แต่ก็ถือว่าผิดศีลเพราะถือเป็นการเบียดเบียนผู้อื่น

ถ้าจะให้นิยาม บุญ คือ การทำประโยชน์เกื้อกูลทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น อันนำไปสู่ความสุขที่เที่ยงแท้และยั่งยืน การดูหนังฟังเพลงก็เป็นความสุข แต่ไม่เที่ยงแท้ และไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น จึงเป็นบุญไม่ได้ บาปก็ตรงกันข้าม เป็นการทำลายประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ซึ่งขัดขวางการเข้าถึงความสุขที่เที่ยงแท้และยั่งยืน สาเหตุที่ต้องเน้นเรื่องประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน เพราะการเอาเปรียบบางอย่าง เราได้ประโยชน์เข้าตัวก็จริงแต่มันไม่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น หรือมองดีๆ นอกจากไม่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นแล้ว ยังไม่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ด้วยเป็นการก่อบาปให้กับตัวเอง

บุญที่เราได้มาอยู่ที่ไหนครับ

อยู่ที่ใจของเรา ไม่ได้อยู่ไกลตัวเลย มันเป็นกฎธรรมชาติ เมื่อเราช่วยคนตาบอดข้ามถนน มีคนเห็นหรือไม่ก็ตาม คุณก็จะมีความสุข เหมือนกับเรากินข้าวแล้วอิ่ม ไม่มีใครทำให้เราอิ่ม เราอิ่มเพราะมันเป็นกฎธรรมชาติ ถ้ากินอาหารที่ไม่เป็นโทษมันก็อิ่ม บุญนั้นถ้าทำแล้วเกิดผลทันทีคือที่ใจ แต่ก็ยังมีอานิสงส์บางอย่างที่ให้ผลในเวลาต่อมา เช่น เมื่อเราเอื้อเฟื้อใคร เขาก็ซาบซึ้งน้ำใจของเรา ทำให้เขาทำดีต่อเราหรือช่วยเหลือเราในเวลาต่อมา

การทำบุญเพราะอยากได้บุญเยอะๆ ตายชาติหน้าจะได้สบาย เป็นความคิดที่ถูกไหมครับ

คิดแบบนี้ไม่ผิด เพราะอย่างน้อยก็ยังเป็นการทำความดีอยู่ แต่พระพุทธเจ้าเคยเตือนไว้ว่า การทำบุญให้ทานที่มีอานิสงส์น้อย คือการให้ทานด้วยใจที่มีเยื่อใย ด้วยจิตที่หวังสะสมบุญหรือหวังเสวยสุขในภพหน้า เป็นการทำด้วยจิตที่มีกิเลส ได้บุญเหมือนกัน แต่ได้น้อยกว่าการทำบุญโดยไม่หวังผลตอบแทน

ถ้าจะทำบุญควรทำใจเป็นกุศล เช่น ทำด้วยใจที่ปรารถนาดีต่อผู้รับ อยากให้เขาได้รับความสุข พ้นจากทุกข์ ถวายเป็นสังฆทานแก่พระก็เพราะอยากอุปถัมภ์ท่านให้มีกำลังในการบำเพ็ญศาสนกิจ หรือต้องการส่งเสริมพุทธศาสนา การทำบุญแบบนี้นอกจากเกิดประโยชน์แก่ผู้รับแล้ว ยังช่วยลดกิเลสหรือลดความเห็นแก่ตัวได้ เพราะไม่ได้คิดถึงประโยชน์เข้าตัวเลย

ทำไมคนยุคนี้ถึงหวังว่าการทำบุญจะช่วยให้ร่ำรวมครับ

มันเป็นผลของยุควัตถุนิยม บริโภคนิยม คนสมัยก่อนเวลาใส่บาตร เขาไม่ได้อธิษฐานว่าขอให้รวย ขอให้มั่งมีศรีสุข อย่างคำอธิษฐานของคนอีสานเขาจะบอกว่า ข้าวคือดอกบัว ยกขึ้นเหนือหัว ถวายแด่พระสงฆ์ จิตใจจำนง ตรงต่อพระนิพพาน ขอให้ถึงเมืองแก้ว ขอให้แคล้วบ่วงมาร ขอให้ถึงพระศรีอาริย์ ในอนาคตกาลเทอญ สังเกตว่าเรื่องรวย เรื่องถูกหวยไม่มีมีแต่นิพพาน ขอให้ได้เกิดในยุคพระศรีอาริย์ พ้นกิเลสพ้นอำนาจของมาร ท่านพุทธทาสบอกว่า สมัยที่ท่านเป็นเด็ก แม่ให้ไปเฝ้านา แม่จะให้คาถากันขโมยว่า นกกินก็เป็นบุญ คนกินก็เป็นทาน เวลาที่ทำไร่ไถนา คนสมัยก่อนไม่ได้คิดถึงตัวเอง เขาคิดถึงนก คิดถึงคนอื่น นี่คือบุญโดยตรงเลย เป็นบุญที่ไม่หวังประโยชน์อื่นเข้าตัว ที่หวังว่าทำบุญแล้วขอให้รวย เป็นค่านิยมที่เพิ่งเกิดขึ้นระยะหลังนี่เอง โดยไม่มีใครตั้งคำถามว่า รวยแล้วมีความสุขหรือเปล่า

การทำบุญเพราะหวังรวย ถือเป็นความคิดที่ผิดไหมครับ

ไม่ผิดหรอก แต่อาจจะขาดปัญญา เพราะไม่คิดว่ารวยแล้วจะมีความสุข ความสุขไม่ได้อยู่ที่เงินทอง แต่อยู่ที่ใจ ถ้าฉลาดเราสามารถทำบุญให้ดีกว่านี้ได้ การทำบุญเพราะหวังรวยไม่ได้ช่วยให้เราปล่อยวาง จุดหมายสูงสุดของการทำบุญคือ การช่วยลดละความยึดติดถือมั่น ช่วยลดละกิเลส จนหมดความเห็นแก่ตัว การทำบุญในศาสนาพุทธมีอยู่ 3 ระดับ คือ ทาน ศีล ภาวนา ทำไมต้องเริ่มที่ทานก่อน เพราะการสละสิ่งของของเราให้ผู้อื่นนั้นง่ายกว่าอย่างอื่น เพราะมันเป็นของนอกกาย ศีลเป็นเรื่องของการสละความเห็นแก่ตัว ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เมื่อเราคิดถึงหัวจิตหัวใจของผู้อื่น เราก็ไม่อยากเบียดเบียนใคร แถมอยากจะช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเขา ส่วนภาวนาเป็นสิ่งที่ทำยากที่สุด คือ การสละความยึดติดถือมันในตัวตน ไม่ว่าจะเป็นตัวตนที่ดีหรือไม่ดีก็ต้องสละ การทำดีในพุทธศาสนาในที่สุดแล้วก็คือ การลดละขัดเกลากิเลส ลดละความเห็นแก่ตัว ละวางความยึดติดถือมั่นในตัวตน ถ้าเราทำบุญให้ทานแล้ว เรายังอยากได้ อยากมีเยอะๆ มันก็ไม่ผิดนะ แต่ทำให้เราไม่สามารถละวางความยึดติดถือมั่นในตนได้ กลับทำให้เรายึดติดถือมั่นมากขึ้น

ตราบใดที่ยังมีความยึดติดอยู่ เราก็ยังทุกข์ แม้ว่าทำบุญแล้วจะรวยสมปรารถนา แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามีความสุข พุทธศาสนาบอกว่า ความร่ำรวย ชื่อเสียง อำนาจ ไม่ได้เป็นหลักประกันแห่งความสุขเลย คุณจะมีความสุขที่แท้จริงก็ต่อเมื่อปล่อยวางความยึดติดถือมั่น ไม่ยึด ไม่อยาก หรือแบกอะไรต่ออะไรไว้ในใจ

การทำบุญช่วยลบล้างบาปที่เคยทำได้ไหมครับ

ไม่ได้ เปรียบเหมือนการหยดหมึกลงไปในแก้วน้ำ น้ำย่อมดำ เราไม่มีทางที่จะทำให้หยดหมึกนั้นหายไปได้ แต่เราสามารถทำให้มันเจือจางได้ด้วยการเติมน้ำสะอาดเข้าไปเยอะๆแล้วถ้าเปลี่ยนจากแก้วเป็นกะละมังแล้วเติมน้ำลงไปอีก มันก็จะยิ่งจาง หมึกยังอยู่ที่นั่นครบถ้วน แต่จางไปแล้ว

เราสามารถมีความสุขโดยไม่ทำบาป แต่ก็ไม่ทำบุญได้ไหมครับ

ยากนะ เพราะแค่จิตที่คิดเห็นแก่ตัว คิดมุ่งร้ายผู้อื่น ก็เป็นบาปแล้ว ในชีวิตคนเรามีโอกาสทำบาปมากกว่าทำบุญ และถ้าไม่ทำบุญด้วยแล้ว ก็อย่าหวังว่าจะมีความสุขที่แท้จริงได้ อาจได้แค่ความสุขทางกาย แต่ไม่มีความสุขทางใจ จนกว่าจะได้ทำความดีหรือทำบุญ การทำดีหรือทำบุญเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจและทำให้ชีวิตเจริญก้าวหน้า ถ้าคุณไม่ทำดีเลย ชีวิตคุณก็จะถอยหลัง เพราะอดไม่ได้ที่จะต้องทำบาปโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เหมือนกับนก ถ้าอยากลอยอยู่บนฟ้าก็ต้องกระพือปีกบิน ถ้าหยุดกระพือปีกเมื่อไหร่ก็ต้องตกลงดิน คนเราถ้าไม่ทำความดีเลย ก็ยากที่จะมีอะไรมาขัดเกลากิเลสความเห็นแก่ตัวให้บรรเทาเบาบางลงได้ และหากกิเลสไม่เบาบาง ก็ต้องเจอความทุกข์ไม่หยุดหย่อน

บุญ บาป มันจะตามเราไปชาติหน้าไหมครับ

พุทธศาสนาเชื่อว่าเมื่อเราตายไป เอาอะไรไปไม่ได้สักอย่าง มีแต่บุญและบาปเท่านั้นที่ตายไปยังภพหน้า รวมทั้งผลบุญและวิบากอันเป็นผลของกรรม การให้ผลของกรรมนั้นมีความหลากหลาย บางอย่างให้ผลทันที บางอย่างให้ผลในปัจจุบันชาติ บางอย่างให้ผลในภพหน้าหรือภพถัดๆไป

เราจะแน่ใจได้อย่างไรครับว่า ชาติหน้ามีจริง

การที่เราจำชาติที่แล้วไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าชาติที่แล้วไม่มี การมีหรือไม่มี ไม่ได้ขึ้นกับความรับรู้หรือความจำของเรา แต่จะว่าไปแล้วพุทธศาสนาไม่อยากเสียเวลาถกเถียงเรื่องชาติหน้า แต่ขอให้ทำความดีเป็นสำคัญ พระพุทธเจ้าแนะให้เราพิจารณาอย่างนี้ว่า ถ้าเราทำความดี หากชาติหน้ามีจริง เราก็จะได้รับความสุขทั้งในชาตินี้และชาติหน้า แต่ถ้าไม่มีชาติหน้า ก็ไม่มีอะไรเสียหาย เพราะอย่างน้อยเราก็ได้รับความสุขในชาตินี้ ความดีที่ทำ ไม่มีวันสูญเปล่า ในทางตรงข้ามถ้าเราไม่เชื่อว่าชาติหน้ามีจริง เราเลยใช้ชีวิตอย่างเสเพล เอาเปรียบคนอื่น ชาตินี้เราก็ต้องอยู่อย่างมีความทุกข์ และถ้าเกิดชาติหน้ามีจริงจะเป็นอย่างไร ก็ต้องรับกรรมหรืออาจถึงกับตกนรกเลยก็ได้ สรุปก็คือ ถ้าไม่เชื่อว่าชาติหน้ามีจริงแล้วทำชั่ว ก็จะเสียประโยชน์ทั้งชาตินี้และชาติหน้าด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วคุณควรจะเชื่อว่ามีชาติหน้าไหม ลองไตร่ตรองดูว่าถ้าเชื่อแล้วมีประโยชน์ ก็ควรเชื่อ ถ้ามีก็เชื่อ ไม่มีก็ไม่ต้องเชื่อ แต่ที่สำคัญก็คือต้องหมั่นละชั่ว ทำดี ทำจิตให้บริสุทธิ์

จริงๆ แล้วอาตมาไม่ค่อยสนใจว่าควรเชื่ออะไรดี แต่สนใจว่าเชื่ออย่างไรมากกว่าถ้าเชื่อผีสางนางไม้แล้วไม่กล้าทำลายธรรมชาติ อาตมาว่าดี แต่ถ้าเชื่อวิทยาศาสตร์แล้วใช้ชีวิตแบบเสพสุข ไม่กลัวบาป ไม่เชื่อบุญ แล้วเอาเปรียบคนอื่น อาตมาว่าอันตราย ถ้าเป็นแบบนี้เชื่อผีสางนางไม้ดีกว่า นรกสวรรค์ก็เหมือนกัน ไม่ต้องเชื่อก็ได้ถ้ายังทำความดีอยู่ ไม่เชื่อนรกสวรรค์แต่ทำความดี อาตมาว่าดีกว่าเชื่อว่ามีนรกสวรรค์ แต่ไม่สนใจทำความดี




ที่มา dhammajak

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์