การทำวัตรสวดมนต์

การทำวัตรสวดมนต์




ความหมาย

การทำวัตร หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า ทำวัตร คือการทำกิจที่ต้องทำจนเป็นกิจวัตรประจำวัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของพระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกาทั่วไป จะละเว้นเสียเป็นการไม่สมควร เพราะเป็นหน้าที่โดยตรงของผู้มุ่งแสวงบุญอย่างหนึ่ง

การทำวัตรนิยมทำกันวันละ ๒ เวลา คือเช้ากับเย็น เรียกว่า ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น

กิจที่ต้องทำในเวลาทำวัตรทั้งสองเวลานั้นคือ สวดบูชาพระรัตนตรัย สวดพิจารณาปัจจัยที่บริโภคทุกวัน สวดเจริญกรรมฐานตามควร สวดอนุโมทนาทานของทายก และสวดแผ่ส่วนกุศล (กรวดน้ำ) ซึ่งคำสวดเหล่านี้มีแบบสากลใช้ทั่วไป จะมีต่างกันบ้างในบางแห่งก็เฉพาะบางบทที่ตัดออกหรือเพิ่มเติมเข้ามาตามความนิยมในถิ่นนั้น ๆ เท่านั้น

การสวดมนต์ คือ การสวดสาธยายบทพระพุทธมนต์ต่าง ๆ ที่เป็นพระสูตรก็มี เป็นพระปริตรก็มี เป็นคาถานิยมที่กำหนดขึ้นเพื่อให้นำมาสวดประกอบในการสวดมนต์เป็นประจำก็มี การสวดมนต์นี้นิยมสวดต่อท้ายทำวัตร จะสวดมากหรือน้อย และสวดบทไหนบ้าง แล้วแต่วัดนั้นๆจะกำหนดกันขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงมักเรียกรวมกันไปว่า "ทำวัตรสวดมนต์"


ความมุ่งหมาย

ในสมัยพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ พระภิกษุสงฆ์จักพากันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในตอนหัวค่ำของทุกๆ วันเป็นนิตย์ ในโอกาสนั้นนอกจากจะได้พบพระพุทธเจ้าแล้ว ยังได้ฟังโอวาท ฟังอนุสาสนี และระเบียบวินัยที่ทรงบัญญัติขึ้นใหม่ด้วย การเข้าเฝ้านี้ถือว่าเป็นกิจวัตรประจำวันของพระภิกษุ และแม้อุบาสกอุบาสิกาก็เข้าเฝ้าแบบนี้เหมือนกัน แต่เป็นเวลาบ่ายถึงเย็น

พระพุทธองค์ก็ทรงถือว่าการให้พระภิกษุสามเณร ทายกทายิกาเข้าเฝ้าในเวลานั้น ๆ เป็นกิจวัตรประจำวัน จึงไม่เสด็จไปไหนในเวลานั้น ต่อมาเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว มีประเพณีสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นเครื่องหมายเคารพสักการะแทนพระพุทธเจ้า และประดิษฐานไว้ ณ สถานที่สำคัญ ๆ ของวัด เช่น ในโรงอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ เป็นต้น

สถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปจัดเป็นเอกเทศ โอ่โถง และสะอาดสวยงาม เพราะถือกันว่าเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า ชาวพุทธจึงนิยมเข้าไปยังสถานที่นั้น ๆ โดยปฏิบัติเหมือนว่าได้เข้าเฝ้าองค์พระพุทธเจ้าทุกเช้า-เย็น และพากันสวดสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย ซึ่งเรียกว่า ทำวัตร และสวดพระสูตรพระปริตรต่าง ๆ ซึ่งเป็นพระพุทธพจน์ เป็นพระโอวาทเรียกว่า สวดมนต์ เท่ากับได้ฟังพระโอวาทของพระพุทธเจ้าทุกเช้าเย็น การกระทำเช่นนี้นิยมแพร่หลายขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นระเบียบพิธีขึ้นจนทุกวันนี้


การทำวัตรสวดมนต์

นอกจากมุ่งหมายเพื่อให้ชาวพุทธได้เข้าเฝ้าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนเมื่อครั้งพุทธกาลแล้ว ยังเพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้บำเพ็ญพระกรรมฐานอันเป็นอุบายให้จิตเป็นสมาธิมีความสงบ ไม่ฟุ้งซ่านวุ่นวายในขณะนั้น แม้จะชั่วระยะเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง ก็จะมีผลทำให้จิตใจได้พักผ่อนจากอารมณ์ภายนอก ทำให้เกิดความเยือกเย็นเย็นสุขุมขึ้น เหมือนเครื่องยนต์ที่ถูกใช้งานหนักมาแล้วได้ถูกพักบ้างแม้ไม่นานก็ตาม ก็ทำให้เครื่องยนต์นั้นเย็นลงมีกำลังดีขึ้น ฉันนั้น

นอกจากนั้น การทำวัตรสวดมนต์ยังเป็นโอกาสให้พระภิกษุสามเณรได้สวดพิจารณาปัจจัย ได้สวดอนุโมทนาทานของทายก ได้สวดแผ่ส่วนกุศลหรือกรวดน้ำให้ผู้อื่นด้วยจิตบริสุทธิ์อีกด้วย เพราะมีความมุ่งหมาย ดังนี้ บัณฑิตทั้งหลายจึงกำหนดการทำวัตรสวดมนต์ขึ้นไว้เป็นหน้าที่ของชาวพุทธอย่างหนึ่ง ที่ไม่ควรละเว้น หรือหลบหลีกเสีย ด้วยมองข้ามว่า "เป็นกิจไม่สำคัญอะไร" เพราะเป็นอุบายทำความดีอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า "ภาวนามัย"


ประโยชน์ของการทำวัตรสวดมนต์

ดังกล่าวมาแล้วว่า การทำวัตรสวดมนต์เป็นอุบายทำความดีซึ่งเป็นบุญอย่างหนึ่ง ฉะนั้น เมื่อทำจนเป็นนิสัยประจำวันแล้ว ย่อมได้รับผลอานิสงส์หลายประการ เช่น

๑. ทำให้ได้รับความชื่นใจสบายใจ ทำให้เกิดพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ เหมือนได้เข้าเฝ้าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อพระพักตร์ทุกวัน

๒. ได้ชื่อว่าบำเพ็ญพระกรรมฐาน อบรมจิตใจให้เป็นสมาธิ มีความแน่วแน่ สงบเย็น ไม่ฟุ้งซ่าน ทำให้จิตใจมีอำนาจมีพลัง สามารถควบคุมอารมณ์ข่มกิเลส และควบคุมตัวเองได้ดี

๓. ได้เปลื้องมลทินอันเกิดจากการบริโภคปัจจัยของทายกโดยมิได้พิจารณาในวันนั้น เท่ากับได้เปลื้องหนี้ให้ตัวเอง จัดเป็นผลทางพระวินัย

๔. ได้มีโอกาสแผ่ส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้อื่น จัดว่าได้ทำบุญข้อว่า ปัตติทานมัย

๕. ได้รับความนับถือและยกย่องจากพระภิกษุสามเณรด้วยกันและทายกทายิกาทั่วไปว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ไม่ละเว้นหน้าที่ที่จะต้องทำ รักษาระเบียบประเพณีไว้ได้ เป็นการสร้างแบบอย่างที่ดีไว้แก่อนุชนรุ่นหลัง

๖. ทำให้เป็นผู้อาจหาญในหมู่ ไม่ติดขัดเก้อเขินในเวลาทำพิธี เพราะเป็นผู้แคล่วคล่องในมนต์ต่าง ๆ


แบบพิธีทำวัตรสวดมนต์

การทำวัตรสวดมนต์นี้มีแบบอย่างโดยเฉพาะ คือ แบบทำวัตรสวดมนต์สำหรับพระภิกษุสามเณร  แบบทำวัตรสวดมนต์สำหรับอุบาสกอุบาสิกา และแบบทำวัตรสวดมนต์สำหรับนักเรียน เป็นต้น

ซึ่งแต่ละแบบนั้นมีเหมือนกันบ้าง แตกต่างกันบ้าง มากน้อยตามความนิยม ส่วนมากก็มีเป็นหนังสือเฉพาะแบบแล้ว จึงจะไม่นำมากล่าวในที่นี้อีก ผู้สนใจพึงแสวงหาไว้เป็นสมบัติส่วนตัวเพื่อปฏิบัติเองเถิด




ที่มา ....palungjit

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์