จะยุติการเกิดได้อย่างไร

จะยุติการเกิดได้อย่างไร


ผู้ที่ได้ศึกษาและมีความเข้าใจในพระอภิธรรมอย่างลึกซึ้งย่อมรู้สึกว่า การเกิดเป็นทุกข์ แม้จะเกิดในภพภูมิของมนุษย์ก็ตาม และการเวียนว่ายตายเกิดเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด เพราะไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่าชีวิตในภพชาติต่อๆไป จะไม่พลาดถลำลงต่ำไปเกิดในทุคติภูมิ 


นอกจากบุคคลผู้นั้นได้ปฏิบัติตนเข้าถึงพระอริยสัจธรรมนำชีวิตเข้าสู่พระอริยบุคคลแล้ว เพราะว่าบุคคลนับตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปเท่านั้นที่อบายภูมิจะปิดสนิทสำหรับชีวิตของท่าน และการเวียนว่ายตายเกิดที่จะมีต่อไปในสุคติภูมินั้น ย่อมมีได้ไม่เกิน ๗ ชาติ จึงนับได้ว่าพระโสดาบัน ท่านเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่สร้างหลักประกันภัยในการเวียนว่ายตายเกิดให้กับชีวิตได้แล้ว

แต่สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชนทุกคนต้องยอมรับว่าอนาคตชาติในการเวียนว่ายตายเกิดของตนนั้นต้องมีต่อไปเป็นอนันตังไม่มีที่สิ้นสุด เพราะปุถุชนคือบุคคลที่ยังหนาแน่นด้วยกิเลส และ กิเลส นี่เองที่เป็นตัวการ ผลักพาให้เกิดการกระทำกรรม เมื่อมีกรรมย่อมเป็นที่แน่นอนว่า วิบาก คือ รูปขันธ์ และนามขันธ์ ย่อมต้องเกิด ฉะนั้นวัฏฏะทั้งสาม คือ กิเลสวัฏ กัมมวัฏ และวิปากวัฏ ที่หมุนวน ย่อมทำให้สังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิดไม่อาจสิ้นสุดหยุดลงได้ และทุกภพชาติที่เกิด กำเนิดของสัตว์ย่อมวิจิตร เพราะจิตย่อมวิจิตรในการสั่งสมกรรม และกิเลส

เมื่อกล่าวถึงกิเลส มีพุทธวจนะกล่าวว่า กิเลเสนฺติ อุปตาเปนฺตีติ แปลว่า ธรรมชาติใดย่อมทำให้เร่าร้อนเศร้าหมอง ธรรมชาตินั้นชื่อว่า กิเลส" ซึ่งมีถึง ๑๐ ประการ คือ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉาถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ และอโนตตัปปะ ซึ่งกิเลสนี้หากจำแนกตามอาการแล้ว จะมี ๓ ลำดับ คือ

๑. กิเลสอย่างหยาบ เรียก วีติกมกิเลส เป็นกิเลสที่แสดงออกทางกาย และวาจา

๒. กิเลสอย่างกลาง เรียก ปริยุฏฐานกิเลส เป็นกิเลสอย่างกลางที่คุกรุ่นอยู่ภายในใจ

๓. กิเลสอย่างละเอียด เรียก อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน ไม่ฟูขึ้นในใจ

ธรรมดาอนุสัยกิเลสเป็นธรรมชาติที่ละเอียดซ่อนเร้นอยู่เป็นประจำในขันธสันดานของบุคคล (ยกเว้นพระอรหันต์) ไม่แสดงออกมาให้ปรากฏทางทวารใดเลย ต่อเมื่อมีอารมณ์มากระทบทวารใดทวารหนึ่ง อนุสัย-กิเลสที่นอนนิ่งอยู่นั้นก็จะแปรสภาพเป็น ปริยุฏฐานกิเลส เกิดขึ้นทางใจ เกิดความยินดี ยินร้ายต่ออารมณ์ที่ประสบนั้น  และถ้าปริยุฏฐานกิเลสนั้นมีกำลังมากขึ้น ก็จะแปรสภาพเป็น วีติกกมกิเลส เกิดเป็นกิเลสอย่างหยาบ ปรากฏขึ้นเป็นการกระทำ (กรรม) ที่แสดงออกทางกาย และวาจา

ประการสำคัญความเป็นไปแห่งชีวิต คือรูปนามขันธ์ ๕ ของสัตว์ทั้งหลายแต่ละคน ที่ล้วนเกิดแล้วตาย และยังเวียนว่ายตายเกิดกันอีกต่อไป ย่อมแสดงให้เห็นว่าวัฏทุกข์ของสัตว์ทั้งหลายนั้นเจริญรุ่งเรืองมากมายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังพระบาลีที่กล่าวไว้ถึงธรรมอันเป็นต้นเหตุว่า

"อายตํ สํสารทุกขฺขํ สวนฺติ ปสวนฺติ วฑฺเฒนฺตีติ = อาสวา" แปลว่า ธรรมเหล่าใดทำให้วัฏทุกข์ที่ยาวนานนั้นเจริญรุ่งเรืองมากมายไม่มีที่สิ้นสุด ธรรมเหล่านั้นชื่อว่า อาสวะ

อาสวะ ได้แก่ โลภะ ทิฏฐิ และโมหะ ซึ่งธรรม ๓ ประการนี้ติดหมักหมมอยู่ในขันธสันดานของสัตว์ทั้งหลายเป็นเวลาช้านาน จนนับจำนวนภพชาติไม่ได้ และธรรมเหล่านี้เมื่อปรากฏแก่ผู้ใด จิตใจของผู้นั้นจะมึนเมา ขาดสติ ตกอยู่ในอำนาจของโลภะบ้าง ทิฏฐิบ้าง โมหะบ้าง เป็นเหตุให้สามารถกระทำทุจริตกรรมต่างๆ ได้




ที่มา Dhammajak.net

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์