การรู้ทันกิเลส ไม่คล้อยตามแต่ก๊ไม่ต่อต้าน

การรู้ทันกิเลส ไม่คล้อยตามแต่ก๊ไม่ต่อต้าน


พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชโช

การพยายามละกิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว


       เพื่อนนักปฏิบัติมักจะเป็นคนดีหรือคนที่พยายามจะดี ดังนั้นจึงมีธรรมชาติที่เกลียดกิเลส เห็นกิเลสเป็นศัตรูผู้ทำลายคุณงามความดีและความสงบสุขของจิตใจ ดังนั้นเมื่อพบว่าจิตมีกิเลส ก็จะพยายามหาทางละกิเลสนั้นด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของการทำสมถกรรมฐานทั้งสิ้น เช่น

(1) การเพ่ง เช่น (ก) เมื่อโทสะเกิดขึ้นก็เพ่งจ้องใส่โทสะ ทำให้โทสะหดตัวและหลบลึกเข้าไปใน จิตใจ เป็นการกดข่มกิเลสไว้ชั่วคราว หรือ (ข) การ เพ่งอารมณ์อื่นๆ เช่น หันไปเพ่งลมหายใจหรือ เพ่งมือเพ่งเท้าและเพ่งท้อง เพื่อหลีกเลี่ยงการรับรู้อารมณ์ที่ทำให้เกิดกิเลส ทำให้กิเลสดับลงได้เพราะเหตุของกิเลสดับไป เช่น เมื่อจิตเกิดโทสะคือโกรธใครสักคนหนึ่ง ก็หันมาเพ่งลมหายใจเพื่อ ตัดพยาบาท-วิตกทำให้ลืมคิดถึงคนๆ นั้น จิตก็จะหายโกรธได้ เป็นต้น

(2) การบริกรรม เช่น เมื่อเกิดความโกรธก็พยายามบริกรรมพุทโธอย่างถี่ๆ หรือบริกรรมโกรธ หนอๆ แล้วความโกรธก็จะดับไป เพราะขณะที่บริกรรมนั้นจิตลืมอารมณ์อันเป็นต้นตอของความโกรธไปเสียแล้ว

(3) การคิดพิจารณา เมื่อกิเลสเกิดขึ้นบางท่าน ก็ใช้วิธีการคิดพิจารณาเพื่อแก้กิเลส เช่น เมื่อเกิดความรักหรือความใคร่ในใครสักคนหนึ่ง ก็หยิบยก เอาบุคคลนั้นมาคิดพิจารณาว่าเป็นปฏิกูลหรือเป็น อสุภะ หรืออาจจะคิดพิจารณาตนเองลงเป็นธาตุเป็น ขันธ์ก็ได้ และเมื่อเกิดความโกรธใครสักคนหนึ่ง ก็ คิดพิจารณาว่าเขากับเราต่างก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์กัน มาพบกันไม่นานต่างก็ต้องตายจากกันแล้วต่างก็ต้องร่อนเร่ไปตามกรรมของตน หรือคิดว่าที่เขาทำ กับเราได้นั้นก็เพราะเรามีกรรมเก่าจึงต้องได้พบกับเขาซึ่งเป็นคนไม่ดี เป็นต้น

(4) การทำสมถกรรมฐานอย่างอื่นๆ เช่น เมื่อจิตเกิดความโกรธก็พยายามเจริญเมตตา พรหมวิหารอันเป็นการเจริญเมตตาแบบเจาะจงตัวบุคคล หรือเมตตาอัปปมัญญาอันเป็นการเจริญเมตตากว้างขวางไม่เจาะจงตัวบุคคล เป็นต้น

แท้จริงพระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้ทุกข์ ไม่ใช่ให้ละทุกข์ กิเลสเป็นสังขารขันธ์ซึ่งจัดอยู่ในกองทุกข์ เราจึงต้องรู้กิเลสตามความเป็นจริง เช่น จิตมีราคะก็ให้รู้ว่ามีราคะ จิตมีโทสะก็ให้รู้ว่ามีโทสะ จิตมีโมหะก็ให้รู้ว่ามีโมหะ จิตฟุ้งซ่านก็ให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ก็ให้รู้ว่าหดหู่ เป็นต้น การรู้กิเลสนั้นหมายความว่าเราไม่คล้อยตามกิเลสเพราะถูกกิเลส ครอบงำ แต่ก็ไม่ควรพยายามต่อต้านกิเลส แต่ให้รู้กิเลสนั้นโดยมีสติรู้อย่างสักว่ารู้ รู้ด้วยใจที่เป็น กลาง แล้วปล่อยให้กิเลสไหลผ่านไปเองอย่างไร้พิษสง ถ้าพยายามฝืนหรือพยายามต่อต้านกิเลส กิเลสจะแสดงความพลังอำนาจและความรุนแรงให้เห็นทันที เราควรทำใจของเราให้เหมือนเรือลำใหญ่ที่จอดทอดสมออยู่ท่ามกลางกระแสน้ำ เรือย่อมไม่ไหลตามน้ำ แต่ก็ไม่ต้านน้ำ น้ำจะไม่สามารถ ทำลายเรือได้ เรื่องการไม่คล้อยตามและไม่ต่อต้านกิเลส เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้กันมากพอสมควร จึงจะเข้าใจได้

ยกตัวอย่างเช่น
พอเราเกิดโกรธใครสักคนหนึ่งอย่างรุนแรง ถ้าเราเอาแต่คิดพยาบาทปองร้ายเขา ก็คือการหลงตามกิเลส แต่ถ้าเราพยายามห้ามใจตนเองไม่ให้โกรธ หรือพยายามดับความโกรธด้วยวิธีการต่างๆ โดยเห็นว่าความโกรธเป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็เท่ากับเรามีความโกรธตัวใหม่ไปโกรธความโกรธตัวแรก จิตจะไม่เป็นกลาง แต่จะเกิดความดิ้นรนปรุงแต่งเพื่อจะต่อต้านทำลายความโกรธนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความทุกข์ทางใจ แต่ถ้าเราเห็นว่าจิตมีความโกรธ รู้ว่าความโกรธเป็นเพียงนามธรรมบางอย่างที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่ใช่เราโกรธ เพียงเท่านี้ความโกรธก็จะหลุดร่วงไปจากจิตใจได้อย่างอัตโนมัติ แม้กิเลสอื่นๆ ก็ให้ใช้หลักเดียวกันนี้ คือไม่คล้อยตามแต่ก็ไม่ต่อต้าน ทั้งนี้การคล้อยตาม กิเลสเป็นความสุดโต่งอย่างแรก ส่วนการต่อต้านกิเลสก็เป็นความสุดโต่งอย่างที่สอง

อย่างไรก็ตาม หากเกิดสถานการณ์จวนตัว เรา ก็จำเป็นต้องออกกำลังต่อสู้กับกิเลสเพื่อเอาตัวรอด ไปชั่วคราวเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ดังตัวอย่างเดิมคือพระหนุ่มเณรน้อยเมื่อเกิด กามราคะที่รุนแรงไปหลงรักสาวจนอยากจะลาสิกขา หากไม่มีกำลังพอที่จะเจริญสติเจริญปัญญาให้เห็นตนเอง ให้เห็นสาว และให้เห็นกามราคะว่าเป็น เพียงธาตุขันธ์ที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตาได้ ก็จำเป็นต้องใช้สมถกรรมฐานเข้าช่วยด้วยการพิจารณาอสุภกรรมฐาน เป็นต้น หาก ยังสู้ไม่ไหวอีก ก็ให้รีบหนีไปจากที่นั้นเพื่อเอาตัวรอด ไว้ก่อน ไม่ใช่ จะถือดีเจริญวิปัสสนาอย่างเดียวทั้งที่กิเลสมีกำลังกล้าจนจวนจะพ่ายแพ้อยู่แล้ว



ที่มา
http://board.palungjit.com/

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์