บริจาค-ทาน

บริจาค-ทาน

บริจาค-ทาน : คำวัดโดยพระธรรมกิตติวงศ์


ภาพของบริจาคถูกทิ้งให้น้ำท่วมที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ดอนเมือง ได้สร้างความหดหู่ใจซ้ำเติมผู้ประสบภัยอย่างยิ่ง เพราะยังมีผู้ประสบภัยอีกมากมายที่ยังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส จากการขาดแคลนข้าวของเครื่องใช้อุปโภคบริโภค แต่กลับต้องมาสูญเสียสิ่งของบริจาคดังกล่าวไปกับความอ่อนประสบการณ์ และความดื้อดึงของรัฐบาล และศปภ. ตอกย้ำถึงความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าของรัฐบาลที่รีบร้อน ลนลานอพยพหนีน้ำ ทำให้ของบริจาคต้องเสียเปล่า

อย่างไรก็ตาม คำว่า "บริจาค" พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙) ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้ให้ความหมายไว้ว่า การเสียสละ การปล่อยวาง การให้ ใช้แทนคำว่า “ทาน” ก็ได้ ใช้ร่วมกันว่า บริจาคทาน ก็มี

บริจาค ปกติ จะมุ่งถึงการให้หรือการเสียสละพัสดุสิ่งของ สละความเห็นแก่ตัว และความสุขส่วนตัวเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น โดยไม่เลือกว่าเป็นมิตร หรือศัตรู กล่าวคือ เสียสละเพื่อมุ่งกำจัดกิเลสภายใน คือ โลภะ ความอยากได้ มัจฉริยะ ความตระหนี่เสียดาย ความเห็นแก่ตัว เป็นสำคัญ

บริจาค หรือ ทาน เป็นวิธีการบุญอย่างหนึ่ง เรียกว่า ทานมัย คือ บุญที่เกิดจากการให้ จากการบริจาค เป็นเหตุให้ผู้ทำอิ่มใจเมื่อให้ มีความสุขใจเมื่อคิดถึง ได้รับความรักความนับถือจากผู้อื่น และอำนวยให้มีโภคสมบัติมากมูลในทุกภพทุกชาติที่เกิด

ส่วนคำว่า “ทาน” เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายไว้ว่า วัตถุที่พึงให้ การให้ การแบ่งปัน การเสียสละ การเอื้อเฟื้อ

ทาน ที่แปลว่า วัตถุที่พึงให้ ในคำวัดหมายถึง สิ่งของสำหรับให้สำหรับเสียสละแก่ผู้อื่น ได้แก่ สิ่งของที่ควรถวายพระ สิ่งของที่ควรนำไปให้เพื่อการตอบแทนบุญคุณแก่ผู้มีพระคุณ เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ ญาติผู้ใหญ่ เรียกเต็มๆ ว่า ทานวัตถุ

ทานวัตถุมี ๑๐ อย่าง คือ อาหาร น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ มาลัย ดอกไม้ ของหอม (ธูปเทียน) เครื่องลูบไล้ (สบู่) ที่นอน ที่อยู่อาศัย และ ประทีป (ไฟฟ้า) ทั้งนี้จะเรียกว่า “ไทยทาน” บ้าง “ไทยธรรม” บ้าง

การให้ทานวัตถุ ๑๐ อย่างนี้มีอานิสงส์มาก เพราะเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์อย่างเดียว ไม่มีโทษ ไม่มีพิษภัยแก่ผู้รับ การเลือกของที่จะให้บัณฑิตสรรเสริญ

ทานมี ๒ แบบ คือ ๑. อามิสทาน หมายถึง การให้วัตถุสิ่งของ และ ๒. ธรรมทาน หมายถึง การให้ธรรม

ทานเป็นบุญอย่างหนึ่ง เรียกว่า ทานมัย คือ บุญที่เกิดจากการให้ เป็น สังคหวัตถุ คือ เครื่องยึดเหนี่ยวใจกันไว้ได้ และเป็นบ่อเกิดแห่งบารมีที่เรียกว่า ทานบารมี

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์