จิตใสไร้ทุกข์...สุขภาพใจดี (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

จิตใสไร้ทุกข์...สุขภาพใจดี (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

จิตใสไร้ทุกข์...สุขภาพใจดี (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)


โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของเราคือการทำจิตใจให้ผ่องใส เรามักจะให้ความสำคัญกับสิ่งภายนอกไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุก็ดี ความรู้ต่างๆ ก็ดี สิ่งที่มองข้ามไปก็คือเรื่องของจิตใจ ค่านิยมในการฝึกจิตหรือการพัฒนาจิตใจของเรายังมีน้อย
 
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ใจเป็นประธาน ใจเป็นหัวหน้าของชีวิต” เมื่อจิตใจดี เราจึงจะคิดดี พูดดี ทำดี แล้วเราก็จะทำหน้าที่ได้ถูกต้องต่อครอบครัว ต่อสังคมของเรา ถ้าจิตใจไม่ดีแล้ว ถึงแม้ว่ามีความรู้ดีมากขนาดไหนก็ตาม ก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นเราต้องนึกว่าทำอย่างไรจึงจะมีสุขภาพใจดี เมื่อพูดถึงชีวิตของเราซึ่งประกอบด้วยกายและจิตใจ เราเอาใจใส่เรื่องทางกายมากพอสมควร เรื่องความปลอดภัยทางกายหรือสุขภาพกาย หรือการเตรียมตัวไปอยู่อาศัยในถิ่นกันดาร สิ่งที่เราทุ่มเทส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องทางกายทั้งนั้น

ทีนี้มาดูเรื่องสุขภาพจิตใจของเรากันบ้าง สุขภาพใจที่ดีนั้นต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของจิตเราทุกคนมีความประภัสสร ผ่องใสโดยธรรมชาติ ถ้าเป็นน้ำก็เป็นน้ำที่ใสสะอาด มนุษย์ทุกคนธรรมชาติก็มีจิตประภัสสร แต่จิตใจของเราที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ อาจสังเกตได้ว่าบางครั้งก็ขี้เกียจ ขี้น้อยใจ ขี้อิจฉา ขี้กลัว ขี้โกรธ ขี้วิตกกังวล ขี้อวด ซึ่งเป็นความรู้สึกทางจิตใจที่ไม่สะอาด พูดง่ายๆ คือเป็นปฏิกูลทางจิตใจ ด้านร่างกาย เรารับประทานอาหารทุกวันแล้วก็เข้าห้องน้ำทุกวัน เมื่อเรามีชีวิตอยู่ ก็จำเป็นต้องรับประทานอาหารกันทุกคน และสิ่งที่จำเป็นก็คือการเข้าห้องน้ำ หน้าที่ของเราคือเข้าห้องน้ำให้ทัน ปิดประตู ขับถ่าย ชำระร่างกาย แล้วก็กลับเข้ามาในสังคมต่อไป

ทางด้านจิตใจก็เหมือนกัน เป็นปุถุชนหรือแม้แต่อริยบุคคลก็ตาม ยังมีกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความรู้สึกต่างๆ เกิดขึ้นเมื่อประสบกับความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถือเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเราประสบเหตุการณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ความรู้สึกทางจิตใจ น้อยใจ เสียใจ กลัว โกรธ วิตกกังวลต่างๆ ก็เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา อารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ ทั้งความขี้เกียจ ขี้โกรธ ขี้น้อยใจ ขี้อิจฉา ขี้กลัว ก็เหมือนเป็นสิ่งปฏิกูลทางจิตใจ ถ้าเป็นทางกายก็รับประทานอาหารแล้วเข้าห้องน้ำ จัดการในห้องน้ำ

สำหรับอารมณ์ทางจิตใจเหล่านี้ เราก็จำเป็นต้องจัดการให้ทัน พูดภาษาธรรมะก็คือ การกำหนดให้รู้เท่าทัน ถ้าพูดแบบอาจารย์ก็คือ การสร้างห้องสุขาให้แก่จิตของเรา เราต้องรู้จักสร้างห้องสุขาที่สะอาด ห้องสุขาที่ไว้รองรับอารมณ์นี่แหละ...



คัดลอกบางตอนมาจาก
หนังสือ “วัคซีนธรรมะ” โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

จิตใสไร้ทุกข์...สุขภาพใจดี (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์