กรรมที่แท้จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ๒ ประการ

กรรมที่แท้จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ๒ ประการ

กรรมที่แท้จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ๒ ประการคือ


หลักเกณฑ์ข้อที่๑ ผู้ทำมีเจตนา มีหลักการที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในนิพเพธิกสูตร ฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย ว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า เจตนาเป็นกรรม

เจตนาได้แก่ ความตั้งใจหรือความรับรู้ ซึ่งแบ่งได้เป็น ๓ อย่างคือ
๑. บุพเจตนา เจตนาก่อนทำ
๒. มุญจนเจตนา เจตนาในเวลาทำ
๓. อปราปรเจตนา เจตนาเมื่อได้ทำไปแล้ว


การกระทำโดยมีเจตนาเกิดขึ้นในตอนใดตอนหนึ่ง ถือว่าเป็นกรรมทั้งสิ้น ส่วนการกระทำที่ไม่มีเจตนา คือใจไม่ได้สั่งให้

ทำไม่จัดว่าเป็นกรรม เช่น คนเจ็บซึ่งมีไข้สูง เกิดเพ้อคลั่ง แม้จะพูดคำหยาบออกมา เอามือหรือเท้าไปถูกใครเข้าก็ไม่เป็นกรรม ในทางวินัยก็ยกเว้นให้พระที่วิกลจริตซึ่งล่วงเกินสิกขาวินัยไม่ต้องอาบัติ ทั้งนี้ก็โดยหลักที่ว่าถ้าผู้ทำไม่มีเจตนา การกระทำนั้นก็ไม่เป็นกรรม

ส่วนหลักเกณฑ์ข้อที่ ๒ การกระทำนั้นจะต้องให้ผลเป็นบุญหรือบาป ก็เพื่อแยกการกระทำของพระอรหันต์ออกจากการกระทำของปุถุชน เนื่องจากพระอรหันต์ เป็นผู้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ไม่มีความยึดถือในตัวตน การกระทำเรียกว่า อัพยากฤต ไม่นับว่าเป็นกรรมดีหรือชั่ว บุญและบาปไม่มี การกระทำของพระอรหันต์ จึงไม่เรียกว่ากรรม แต่เรียกว่า กิริยา

ส่วนปุถุชนยังมีความยึดมั่นในตัวตนอยู่ จะทำอะไรก็ยังยึดถือว่าตนเป็นผู้กระทำ การกระทำของปุถุชนจึงเป็นกรรม ย่อมจะก่อให้เกิดวิบากหรือผลเสมอ กรรมดีก็ก่อให้เกิดบุญ ส่วนกรรมชั่วก็ก่อให้เกิดบาป
กรรมมีทั้งดีและชั่ว

คนบางคนไม่เข้าใจว่ากรรม หมายถึงสิ่งไม่ดีคู่กับเวรหรือบาป เช่นที่เรียกว่า เวรกรรม หรือบาปกรรม ตรงกันข้ามกับฝ่ายข้างดี ซึ่งเรียกว่าบุญ

ทั้งนี้เพราะเราได้ใช้คำว่ากรรมในความหมายไม่ดี เช่น เมื่อเห็นใครประสบเคราะห์ร้ายและถูกลงโทษ เราก็พูดว่า มันเป็นเวรกรรมของเขา หรือเขาต้องรับบาปที่เขาทำไว้ แต่ความจริงคำว่า กรรมเป็นคำกลางๆ หมายถึงการกระทำตามที่กล่าวมาแล้วจะมุ่งไปในทางดีก็ได้ทางชั่วก็ได้ ถ้าเป็นกรรมดีเราเรียกว่า กุศลกรรม ถ้าเป็นกรรมชั่ว เราก็เรียกว่า อกุศลกรรม

ในกรรมบถ ๑๐ แบ่งกรรมที่เป็นฝ่ายอกุศลและฝ่ายกุศลออกเป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจดังนี้

๑. กายกรรม คือ กรรมทางกาย แบ่งเป็นฝ่ายละ ๓ คือ
ฝ่ายอกุศล ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ และผิดประเวณี
ฝ่ายกุศล ได้แก่ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ และเว้นจากการผิดประเวณี

๒. วจีกรรม คือ กรรมทางวาจา แบ่งเป็นฝ่ายละ ๔ คือ
ฝ่ายอกุศล ได้แก่ พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อ
ฝ่ายกุศล ได้แก่ เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบ และเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

๓. มโนกรรม คือ กรรมทางใจ แบ่งเป็นฝ่ายละ ๓ คือ
ฝ่ายอกุศล ได้แก่ เพ่งเล็งทรัพย์ผู้อื่น ปองร้าย และเห็นผิดจากคลองธรรม
ฝ่ายกุศล ได้แก่ ไม่เพ่งเล็งทรัพย์ผู้อื่น ไม่ปองร้าย และเห็นชอบตามคลองธรรม

เครดิต : หนังสือ กฎแห่งกรมและวิธีใช้หนี้พ่อแม่
โดยพระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ จิตธมฺโม)




ขอบคุณบทความจาก พุทธะดอทคอม

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์