การละเว้นความไม่สะอาด ๓ ประการ (ท่านพ่อลี)

การละเว้นความไม่สะอาด ๓ ประการ (ท่านพ่อลี)

การละเว้นความไม่สะอาด ๓ ประการ (ท่านพ่อลี)


โอวาทธรรม
ของพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์
(พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)
วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
แสดงธรรมเทศนาอบรมสมาธิ
ไว้เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๙

พระพุทธองค์ทรงกล่าวถึงความไม่สะอาด สิ่งปฏิกูลต่างๆ ในร่างกายว่า

"ความเปื้อนเปรอะเหล่านี้เราไม่รังเกียจ
เพราะเป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยธรรมดาของร่างกาย
แต่ความเปื้อนเปรอะสกปรกอันเกิดขึ้นเพราะบุคคลกระทำชั่วแล้ว
นั่นจึงเป็นสิ่งที่เราตถาคตย่อมรังเกียจ"


:b42: :b42:

ความไม่สะอาดที่ผิดธรรมชาติ คือ "ความชั่ว"
อันนี้แหละสกปรกโสมมมาก ไม่ว่าจะอยู่ในที่ใดๆ
เมื่อใครประพฤติชั่วช้าลามก ปราศจากเสียซึ่งศีลธรรมแล้ว
ก็ย่อมได้ชื่อว่า เป็นคนสกปรกอยู่เสมอ นักปราชญ์ก็ตำหนิ คนดีก็ยกโทษ
เหตุนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้บุคคลทำร่างกายให้สะอาด
โดยให้ยกเว้นการกระทำชั่วทั้งหลาย

"ความชั่ว" ไม่ใช่ของธรรมดาที่เกิดขึ้นในตนเอง
เพราะเราต้องทำมันจึงจะชั่ว ถ้าไม่ทำ มันก็ไม่เกิด
นี่จึงเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติ


ความไม่สะอาดอันนี้ย่อมเกิดขึ้นได้โดย ๓ ประการ คือ
๑.) เกิดจากความประพฤติอย่างหนึ่ง
๒.) เกิดจากการบริโภคอย่างหนึ่ง
๓.) เกิดจากการคบคนชั่วอย่างหนึ่ง

๑.) เสียในส่วนความประพฤติ

๑.๑) "ปาณาติบาต" ที่เป็นไปในความประพฤติก็คือ
คนที่ไม่มีศีล ๕ ชอบฆ่าสัตว์ ทรมานสัตว์ กดขี่ ข่มเหงทรกรรม
บางคนก็ถึงกับฆ่าประหัตประหารกันโดยปราศจากความเมตตาปราณี
นี่เรียกว่า "ปาณาติบาต" ข้อหนึ่ง

๑.๒) "อทินนาทาน" ลักฉ้อ คดโกงปกปิดสิ่งของของคนอื่น
ซึ่งเป็นสิ่งอันไม่จำเป็นแก่พุทธบริษัทที่เป็นนักบุญเลย

๑.๓) "กาเม สุมิจฉาจาร"
ประพฤติผิดล่วงละเมิดในสามีภรรยาของคนอื่น

๑.๔) "มุสาวาท" กล่าวเท็จ ล่อลวง อำพราง

๑.๕) "สุราเมรยะ" ดื่มน้ำเมาต่างๆ อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

เมื่อความประพฤติเหล่านี้มีในบุคคลผู้ใด
ก้ได้ชื่อว่า ความสกปรกโสโครกเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้นั้น
นี่เป็นความประพฤติชั่วทางกาย เรียกว่า "กายกรรม"
บางทีก็ชั่วใน "วจีกรรม" เช่น "มุสาวาท" พูดคำไม่จริง
"ปิสุณาวาท" พูดส่อเสียด "ผรุสวาท" พูดคำหยาบ

"สัมผัปปลาปวาท" พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล หาสาระประโยชน์มิได้

เหล่านี้เป็นความเปื้อนสกปรกที่นักปราชญ์ท่านติเตียน
กายก็เปื้อน วาจาก็เปื้อน ธรรมของที่เื้อนนั้นมันย่อมหนักกว่าของที่สะอาด
สังเกตดูเสื้อผ้าเก่าๆที่สกปรกนั้น เมื่อจับดูจะรู้สึกว่า หนักกว่าผ้าดีๆ
และเมื่อของนั้นมันสกปรกและหนักอย่างนี้ก็ย่อมหยิบยาก ใช้ยาก จะใช้ก็ไม่อยากใช้
จะหยิบก็ไม่อยากหยิบเพราะรู้สึกขยะแขยงรังเกียจ ไม่อยากให้ถูกมือเปื้อนเลย

คนเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าใครทำความชั่วมากๆแล้ว
กายนั้นก็หนักไปไหนไม่รอด
เช่น คนทำชั่วคิดจะไปวัดก็ให้รู้สึกว่า มันหนักแข้งหนักขาเสียเหลือเกิน
ไม่กล้าจะไปเพราะอายเขาบ้าง เพราะกลัวคนเขาจะรู้จะเห็นในความชั่วของตัวบ้าง
ใจก็หนัก กายก็หนัก ยิ่งทำความชั่วหนาก็ยิ่งหนักขึ้นทุกที เลยไปไม่ได้
นี่เป็นความสกปรกเลอะเทอะในร่างกายซึ่งเป็นความเสียในส่วนความประพฤติ

๒.) เสียในการบริโภค

ได้แก่ อาหารการกินต่างๆที่บริโภคเข้าไปนั้น
ได้มาจากสิ่งที่เป็นบาปเป็นกรรมต่างๆ
หรือมิฉะนั้นบางคนความประพฤติก็ไม่เสีย การบริโภคก็ไม่เสีย
แต่เครื่องอุปโภคใช้สอยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี
เช่น รับซื้อของโจร หรือได้มาจากการทุจริตต่างๆ

๓.) เสียในการคบคนชั่ว

บางคนก็ไม่เป็นอย่างนั้น การบริโภคก็ดี การอุปโภคก็ดี
แต่ชอบคบคนชั่วเป็นมิตรสหาย
อย่างนี้พระพุทะเจ้าก็ทรงตำหนิในส่วนร่างกาย

ถ้าแก้ไขร่างกายดีแต่ใจสกปรก คือ ดวงจิตไม่มีเมตตาพรหมวิหาร
จิตชอบเกลียด โกรธ พยาบาท
หรือ คิดนึกตริตรองไปในทางชั่ว ใจนั้นก็ย่อมประกอบด้วยอาสวกิเลส
คือ มีนิวรณ์ ๕ อย่างเข้าครอบงำ
เช่น กามฉันทะ, พยาปาทะ, ถีนมิทธะ, อุทธัจจกุกกุจจะ, วิจิกิจกฉา เป็นต้น
ถ้านิวรณ์ทั้ง ๕ ประการนี้ เกิดขึ้นในดวงจิตของผู้ใดแล้ว
ดวงจิตซึ่งเป็นไปนั้น ก็เป็น "อกุศลจิต" คิดทำความชั่วต่างๆได้

เหตุนั้น ท่านจึงสอนให้เจริญภาวนา ให้วิตกไปในทางบุญทางกุศล
เป็น "พุทธานุสติ" คือ ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า
"ธัมมานุสติ" ระลึกถึงพระธรรม คำสั่งสอนของพระองค์
และ "สังฆานุสติ" ระลึกถึงความปฏิบัติดี ปฏบัติชอบของพระสงฆ์
๓ อย่างนี้เรียกว่า เป็นของง่ายๆ ซึ่งพวกเราทุกคน
ควรกระทำกันได้โดยไม่น่าจะลำบากใจเลย


คนที่มีความประพฤติชั่ว เมื่อทำชั่วทางกาย กายก็สกปรก
เมื่อกล่าวชั่วทางปาก ปากก็สกปรก
เมื่อคิดชั่วทางใจ ใจก็สกปรก
ความชั่วนี้เป็น "กัณหธรรม" คือ ธรรมดำ
เมื่อบุคคลใดมีกัณหธรรม ก็จะต้องเดินลงไปสู่ที่ต่ำ คือ "กองทุกข์"
อันเป็นความมืดมิด หมดอิสระ หมดความเจริญทุกประการ

ส่วนบุคคลผู้มีความประพฤติดี
เป็น "สุกกธรรม" คือ ธรรมขาว ก็จะต้องมีแต่ความสุข
ความเจริญงอกงาม ตายไปก็ได้ไปบังเกิดในที่สูง
เช่น สวรรค์และพรหมโลก เป็นต้น


:b44: :b41: :b41: :b44:


คัดลอกจาก...
หนังสือแนวทางปฏิบัติวิปัสสนา-กัมมัฏฐาน ๒
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์
(พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)

พิมพ์เผยแพร่โดย ชมรมกัลยาณธรรม หน้า ๑๑๖-๑๒๒

การละเว้นความไม่สะอาด ๓ ประการ (ท่านพ่อลี)


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์