พยายามแก้ไขตนเอง

ภาพประกอบจาก อินเตอร์เน็ตภาพประกอบจาก อินเตอร์เน็ต

เมื่อเราสังเกตดูจิตใจ ความคิดของตนเองแล้ว จะเห็นว่าจิตใจของเราคิดแต่เรื่องของคนอื่นเป็นส่วนใหญ่ ว่าเขาดี เขาไม่ดี น่ารัก น่าชัง ฯลฯ คิดเรื่องคนอื่นมากกว่า 90% คิดเรื่องของตนเองน้อยกว่า 10% อยากให้คนอื่นละความชั่วที่ไม่ถูกใจเรา อยากจะให้คนอื่นทำความดีเพื่อให้ถูกใจเรา อยากให้คนอื่นทำจิตใจให้บริสุทธิ์เพื่อจะไม่กระทบเรา แต่จิตของเรากลับปล่อยให้ขุ่นมัว เศร้าหมอง เครียด ฟุ้งซ่าน

“โทษผู้อื่นเห็นเป็นภูเขา โทษของเรา และไม่เห็นเท่าเส้นผม ตดคนอื่นเหม็นเหลือทน ตดของตน ถึงเหม็นไม่เป็นไร”

สนใจ เอาใจใส่ ดูตนเองเพิ่มขึ้น มากขึ้น จนดูตนเอง 90% ดูคนอื่น 10% เราดูคนอื่นเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาตัวเอง เห็นตัวเองในคนอื่น และเห็นคนอื่นในตัวเอง เพราะไม่มากก็น้อย เราก็เหมือนๆ กับคนอื่น เป็นการเจริญสติ สัมปชัญญะ ทำให้มีเมตตากรุณา ตำหนิติเตียนคนอื่น ดูหมิ่น ดูถูกคนอื่น น้อยลง ตำหนิติเตียนตนด้วยสติปัญญา แก้ไขพัฒนาตนมากขึ้น

ความคิดที่จะปรับปรุงแก้ไขตนเองนี้ เป็นกุศลกรรม เมื่อสำรวจตัวเองแล้วพบว่า มีข้อที่คิดว่าน่าจะแก้ไข ให้ตั้งใจทุกวัน พยายามแก้ไขอยู่อย่างนั้น ผิดพลาดไปเป็นร้อยเป็นพันครั้งก็ช่างมัน พยายามคิดตั้งใจจะแก้ไขอยู่อย่างนั้นก็ใช้ได้

ความโกรธ

ความโกรธเกิดขึ้นในกรณีต่างๆ ดังนี้

- เขาพูดจริงโดยหวังดีต่อเรา แต่ไม่ถูกใจเรา เราโกรธ
- เขาพูดธรรมดา แต่ไม่ถูกใจเรา เราโกรธ
- เขาไม่พูด ไม่ถูกใจเรา เราโกรธ
- เราคิดว่าเขานินทาเรา (ที่จริงเขาไม่ได้นินทาเรา) เราโกรธ
- เขาว่าเรานินทาเขา (แต่เราไม่ได้นินทาเขา) เราโกรธ
- เราเข้าใจผิดว่าเขาทำผิด (ทั้งๆ ที่เขาทำดี) เราโกรธ
- เขาเข้าใจผิดว่าเราทำผิด (ทั้งๆ ที่เราทำดี) เราโกรธ
- เขาหน้าบึ้ง ใจไม่ดี เรารู้สึกว่าเขาไม่พอใจเรา เราโกรธ

เหตุปัจจัยทางกายที่ทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดก็มี อารมณ์โทสะครอบงำจิตใจของเรา เรารูสึกหงุดหงิดก็มี อย่างไรก็ตามเมื่อเรารู้สึกหงุดหงิด เราจะรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ใครจะอยู่รอบตัวเรา น่าโกรธทั้งนั้น เราจะรู้สึกว่า เขาคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำอะไรก็ไม่ดี น่าโกรธ สมควรโกรธ.....ครูบาอาจารย์สอนไว้ว่า เหตุที่สมควรโกรธนั้นไม่มี อย่าเชื่อความรู้สึก อย่าเชื่อความคิด เพราะมันไม่แน่

ความโกรธเปรียบเหมือนอาหารที่ไม่อร่อย หากมีใครนำมาให้เราแล้วเราไม่รับ ผู้ที่นำมาให้ก็จะต้องรับกลับไปเอง ความโกรธก็เช่นเดียวกัน เมื่อเขาโกรธเรา แล้วเราเฉยๆ ก็เท่ากับเขาโกรธตัวเอง หากเราโกรธตอบ ก็เหมือนกินอาหารไม่อร่อยนั้นด้วยกัน

เมื่อเกิดอารมณ์โกรธ โมโห การหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ จนมีสติสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัวทั่งถึงลมหายใจแล้ว อารมณ์โกรธก็ตั้งอยู่ไม่ได้ จึงเปรียบเหมือนการที่เราไม่กินอาหารที่ไม่อร่อยที่เขาปรุงมาให้ เขาก็ต้องยกอาหารนั้นกลับไป

วิธีระงับความโกรธ

พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบความโกรธเป็นไฟไหม้ป่า ที่ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า ความโกรธเผาทั้งตัวเรา ตัวเขา ทั้งคนที่รักเราและคนที่เรารัก ถูกเผาทั้งหมด ไม่มีอะไรเหลือ เหมือนตกนรก ทั้งเป็น มีแต่โทษ ไม่มีคุณเลยแม้แต่นิดเดียว

ปกติ เมื่อเราเกิดอารมณ์โกรธ ถ้าเราสังเกตดูจะพบว่า ลมหายใจเกิดการเปลี่ยนแปลงก่อน เป็นลมหายใจแรงๆ สั้นๆ ต่อมาจึงเกิดความคิดโกรธ แล้วเป็นความรู้สึกโกรธ สำหรับผู้ที่ยังใหม่ต่อการปฏิบัติธรรม คงจะเป็นเรื่องยากที่จะห้ามความรู้สึกโกรธ แต่การปรับเปลี่ยนลมหายใจนั้น ใครๆ ก็ทำได้ เพราะไม่ยากจนเกินไป ขอให้มีความเข้าใจอย่างถูกต้องเท่านั้น

การหายใจออกกับการหายใจเข้า ใช้ระบบประสาทที่แตกต่างกัน สามารถแยกแยะได้ตามความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับจิตใจของเราเอง การหายใจออก มีลักษณะผ่อนคลาย ให้ความรู้สึกสบายใจ ส่วนการหายใจเข้านั้น มีลักษณะของความตั้งใจ หรือ ความเคร่งเครียด ดังนั้น เมื่อจะระงับอารมณ์โกรธ จึงเน้นที่ลมหายใจออก ด้วยการปรับเปลี่ยนลมหายใจ ดังนี้

ตั้งสติ หายใจออกยาวๆ สบายๆ หายใจเข้า ปล่อยตามธรรมชาติ หายใจออกยาวๆ สบายๆ เพื่อคลายความรู้สึกที่ไม่ดีออกไปพร้อมกับลมหายใจออก หายใจเข้า ปล่อยตามปกติ ให้ลมหายใจเข้า ช้าๆ ลึกๆ พอสมควร หายใจออก ตั้งใจให้เป็นลมหายใจยาวๆ สบายๆ เมื่อทำช้ำๆ อยู่เช่นนี้ ก็จะรู้สึกสบายกาย สบายใจ เกิดความสงบเย็นใจ แล้วก็เกิดความละอายต่ออารมณ์โกรธ จนกระทั่งความโกรธไม่กล้าโผล่หน้ามาให้เห็นอีก

สำหรับคนที่มีนิสัยขี้โกรธมากๆ การห้ามไม่ให้โกรธเลย อาจจะเป็นไปได้ยาก หรือยิ่งพยายามระงับยิ่งเครียด ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ปล่อยให้โกรธได้ตามปกติ แต่พยายามให้ความรู้สึกโกรธนั้น หายไปเร็วๆ ปล่อยวางให้เร็วขึ้น จากเคยโกรธ 3 วัน ก็ให้เหลือ 2 วัน 1 วัน 1 ชั่วโมง แล้วก็ปล่อยวางไปในที่สุด


ขอบคุณ dhammajak.net

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์