4 ความสุข ที่ทุกคนต้องมี

4 ความสุข ที่ทุกคนต้องมี


พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงความสุขอันชอบธรรมที่ประชาชนชาวบ้านควรมีไว้ ๔ ประการ คือ สุขเกิด แต่การมีทรัพย์ สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค สุขเกิดแต่การไม่ต้องเป็นหนี้ และสุขเกิดแต่การประกอบการงานที่ปราศจากโทษ

ความสุขตามพระพุทธพจน์ทั้ง ๔ ประการนี้เรียกว่า สุขของคฤหัสถ์ หมายถึง สุขคือความสบายกายสบายใจของชาวบ้าน ความสุขที่ชาวบ้านควรพยายามเข้าถึงให้ได้สม่ำเสมอ หรือความสุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนพึงมี ซึ่งชีวิตของคฤหัสถ์จะสมบูรณ์ได้ก็เพราะสุข ๔ อย่างนี้ คือ

๑. อัตถิสุข สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์ หมายถึง ความภูมิใจ อิ่มเอิบใจว่าตนมีโภคทรัพย์ที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรง ความขยันหมั่นเพียรของตนและโดยชอบธรรม บุคคลที่ขยันทำงานเก็บเงินทองไว้ได้เป็นจำนวนพอเพียง ย่อมมีความสบายใจภูมิใจในความพยายามของตน

๒. โภคสุข สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค หมายถึง ความภูมิใจ อิ่มเอิบใจว่าตนได้ใช้ทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบธรรมนั้นเลี้ยงชีพ เลี้ยงผู้ควรเลี้ยงและบำเพ็ญประโยชน์

๓. อนณสุข สุขเกิดแต่ความไม่ต้องเป็นหนี้ หมายถึง ความภูมิใจ อิ่มเอิบใจว่าตนเป็นไท ไม่มีหนี้สินติดค้างใคร ความไม่เป็นหนี้เป็นสุขอย่างไรนั้น คนที่ไม่เป็นหนี้เท่านั้นที่รู้สึกได้ และความเป็นหนี้เป็นทุกข์อย่างไร คนเป็นหนี้เท่านั้นถึงจะรู้ว่าทุกข์ ดังพระพุทธพจน์ว่า “อิณาทานํ ทุกฺขํ โลเก : การกู้หนี้เป็นทุกข์ในโลก” ฉะนั้น การไม่เป็นหนี้จึงนับว่าเป็นความสุขสำคัญประการหนึ่ง

๔. อนวัชชสุข สุขเกิดแต่ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ หมายถึง สุขที่เกิดจากการประพฤติสิ่งที่ไม่มีโทษ คือความภูมิใจอิ่มเอิบใจว่าตนมีความประพฤติสุจริต ไม่มีความประพฤติบกพร่องเสียหายทั้งทางกาย วาจา และใจ โดยที่ใครๆ ก็ตำหนิติเตียนไม่ได้ คนเราจะมีความสุขแท้จริงนั้น ต้องพึ่งการงานที่ไม่มีโทษ คือไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม ไม่เป็นที่ครหาของผู้อื่น

4 ความสุข ที่ทุกคนต้องมี

สุขข้อที่ ๔ นี้นับว่ามีค่ามากที่สุด เป็นความสุขที่เยี่ยมกว่าสุข ๓ ข้อข้างต้น ดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสสรุปว่า

“นรชนผู้จะต้องตายเป็นธรรมดา รู้ความไม่เป็นหนี้ว่าเป็นสุข ระลึกถึงสุขเกิดแต่ความมีทรัพย์ ใช้สอยโภคะอย่างเป็นสุขอยู่ ย่อมเห็นแจ้งด้วยปัญญา ผู้มีปัญญาดีเมื่อเห็นแจ้งย่อมเข้าใจทั้งสองส่วนเทียบกันได้และเห็นว่า ความสุขทั้ง ๓ ข้างต้นนั้น มีค่าไม่ถึงส่วนเสี้ยวที่ ๑๖ ของสุขที่เกิดแต่การเป็นผู้ปราศจากโทษ”

พระธรรมคำทรงสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด พระองค์ทรงแสดงไว้ก็เพื่อสอนให้ผู้ประพฤติปฏิบัติตามได้รับประโยชน์ สามารถแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ ตั้งแต่ระดับชาวบ้านธรรมดาจนถึงระดับพระอริยะ

ความสุข ๔ ประการนี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงเป็นหลักธรรมสำหรับชาวบ้าน คือผู้ใดอยู่ครองเรือนมีความสุขครบ ๔ ประการนี้ ก็ชื่อว่าได้รับความสุขในระดับปุถุชน

ความจริงก็เป็นเช่นนั้น เช่นในข้อที่ ๑ สุขเกิดจากการมีทรัพย์ ก็แน่นอน คนมีทรัพย์จะรู้สึกสบายใจไร้กังวล ไม่เหมือนคนประเภทมีเงินชนิดชักหน้าไม่ถึงหลัง

สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ ก็เช่นเดียวกัน มีแล้วต้องจ่าย ต้องการอะไรก็ซื้อหาได้ แต่ถ้ามีทรัพย์แล้วไม่ใช้ทรัพย์นั้น ก็ไม่พ้นจากการเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์

สุขเกิดจากการไม่มีหนี้ ก็ชัดเจน เพราะคนที่ไม่มีหนี้จะเต็มไปด้วยความสุขเกษมเปรมปรีดิ์ ดำรงชีวิตประจำวันอยู่อย่างสง่าผ่าเผย ด้วยความคิดภาคภูมิใจในความเป็นไท ไม่เป็นหนี้สินใคร ไม่ต้องคอยหลบหน้าเจ้าหนี้ และมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เต็มเปี่ยม

สุขข้อสุดท้ายคือสุขเกิดจากการทำงานที่ปราศจากโทษ ยิ่งเป็นความสุขที่สำคัญ เพราะเป็นการประกอบสัมมาชีพ คือการทำมาหากินในทางสุจริต ซึ่งเป็นอาชีพที่น่าภาคภูมิใจ ไม่ต้องคอยหลบหนีเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เหมือนพวกมิจฉาชีพที่ประกอบอาชีพในทางทุจริต ซึ่งก่อทุกข์โทษให้เกิดแก่ตนตลอดเวลา

เมื่อมองปัจจัยพื้นฐานและความสุขของคนเราตามหลักการทางพระพุทธศาสนา ดังกล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า ในหลักพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นไม่ละเลยปัญหาทางเศรษฐกิจของประชาชน ชาวบ้าน โดยมองเรื่องความสะดวกสบายทางวัตถุสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต เพียงแต่ให้รู้คุณและโทษของปัจจัยต่างๆ หรือของทรัพย์สมบัติเหล่านั้น โดยใช้ปัญญาพิจารณาถึงคุณค่าแท้และคุณค่าเทียมของสิ่งเหล่านั้นให้ประจักษ์ ชัด ก็จะเกิดความสะดวกสบายระดับที่เรียกว่า ความสุขขั้นพื้นฐาน หรือความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับหลักเศรษฐกิจของนักวิชาการทางโลก

ดังนั้น หลักเศรษฐกิจเมื่อมองในแง่ของพระพุทธศาสนาแล้ว ก็คือหลักการในการดำรงชีวิตเพื่อดำเนินไปสู่ความสุขในการครองเรือน ๔ ประการตามที่พระพุทธเจ้า ทรงแสดงไว้ ซึ่งกล่าวย้ำให้เห็นชัด ดังนี้ ความ สุขที่เกิดจากการมีทรัพย์ ทั้งเคลื่อนที่ได้และเคลื่อนที่ไม่ได้ ความสุขที่เกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์เพื่อสนองความต้องการของตนได้ตามปรารถนา ความสุขที่เกิดจากไม่ต้องเป็นหนี้เป็นสินคนอื่น ซึ่งทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า การเป็นหนี้คนอื่นนั้นเป็นความทุกข์ในโลกประการหนึ่ง

ทั้งนี้ โดยเหตุที่วัตถุประสงค์ของหลักเศรษฐกิจได้เน้นไปที่สวัสดิการและสวัสดิภาพ ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงแสดงความสุขที่อาจให้ความสุขใจ ปลื้มใจ มั่นใจในชีวิตไว้ในประการที่ ๔ คือ ความสุขที่เกิดขึ้นจากการดำรงชีวิตที่ปราศจากโทษ โดยจะต้องมีหลักของคุณธรรม จริยธรรมเข้าไปควบคุมทั้งในด้านการผลิต การบริโภค การแลกเปลี่ยน การคลัง การแบ่งสรร และแม้แต่การวางแผน

4 ความสุข ที่ทุกคนต้องมี


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์