ความแตกต่างที่ยุติธรรม


ความแตกต่างที่ยุติธรรม

ฟังอาจารย์บุษกรสอนธรรมะ และให้ข้อคิดในเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ เมื่อไรๆ ก็เห็นความแตกต่างของระดับปัญญาระหว่างท่านกับเราทุกครั้งไป

และที่สำคัญธรรมะที่ท่านสอนให้นั้น เมื่อเรานำกลับมาสำรวจที่ตนเอง ก็จะรู้จักตนเองมากขึ้น

เช่นเดียวกัน วันเสาร์ที่ผ่านมา ท่านได้ให้ข้อคิดเรื่องบุคคล ๔ จำพวก…
..ตอนแรกนึกไปถึงบัว ๔ เหล่า

แต่ปรากฏว่า….พอฟังแล้ว เข้าใจว่าท่านน่าจะเอามาจากประสบการณ์ของชีวิต ที่ท่านได้พบปะผู้คน (รวมทั้งพวกเราที่เป็นลูกศิษย์ด้วย) จึงจำแนกบุคคลออกเป็น

๑. บุคคลที่ต้องหลีกเลียง …เป็นผู้ที่ไม่รู้อะไรเลย (ประเภทไม่รู้แล้ว ยังไม่ยอมรับรู้อีกด้วย) ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนไม่รู้อะไรเลย ..
คือเป็นผู้ที่ไม่รู้ว่า ชีวิตคืออะไร ตนเองกำลังทำอะไรอยู่ และทำไปเพื่ออะไร ทำแล้วมีผลอย่างไร
สรุปได้ว่า เป็นผู้ที่ไม่มีเป้าหมายในชีวิต บุคคลประเภทนี้จัดได้ว่าเป็น คนโง่ ที่เราควรหลีกเลี่ยง

๒. บุคคลที่น่าสงสาร เป็นผู้ที่ควรสอน …เพราะเป็นบุคคลที่ไม่รู้อะไร (และยอมรับว่าไม่รู้) ไม่เคยรู้เรื่องกรรม-วิบาก คือ ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่ทุกวันนี้มาจากเหตุอะไร หรือสิ่งที่กำลังทำอยู่จะให้ผลอย่างไร
บุคคลประเภทนี้จัดได้ว่าเป็น ผู้ที่ไร้เดียงสา น่าสงสาร น่าที่จะสอนให้เขาได้รู้จักความจริงของชีวิต

๓. บุคคลที่ต้องคอยปลุกเขาให้ตื่น …บุคคลประเภทนี้มีความรู้ เป็นผู้ที่ศึกษามาก เรียนรู้เรื่องชีวิต แต่เมื่อจะต้องนำธรรมะมาใช้ ปรากฏว่า ลืม ! (คงประเภทเรียนเอาดีกรี …หรือเรียนแล้วไม่ปฏิบัติ ธรรมะจึงไม่ฝังรากเข้าสู่จิตใจ) บุคคลประเภทนี้จัดได้ว่าเป็น ผู้ที่ยังหลับไหล ลืมหลง จึงต้องคอยปลุกเขาให้ตื่น คือกระตุ้นให้เขาได้นำธรรมะที่เรียน มาปฏิบัติที่ตนเอง

๔. บุคคลที่สมควรที่จะเดินตามท่านได้ …คือเป็นผู้ที่รู้จักตนเองดี มีธรรมะ มีสติรู้ในธรรมะตลอดเวลา คือรู้ตามสภาวธรรมที่ตนเรียนมา
บุคคลประเภทที่ ๔ นี้ จัดเป็นบุคคลที่ฉลาด สมควรเดินตามทางท่าน

ฟังแล้วจึงไม่รู้สึกแปลกใจเลยว่า ทำไมอาจารย์บุษกรจึงเป็นห่วงพวกเรามากมายนัก ถึงขนาดเจ็บป่วยมากมายก็ยังสู้อุตสาห์มาสอนที่มูลนิธิ… 

เพราะแม้แต่คำถามที่ท่านถามว่า “ความผิดพลาด ดีหรือไม่”
…ลูกศิษย์ส่วนใหญ่ก็ตอบว่าไม่ดี เพราะใครๆ ก็ย่อมไม่ต้องการความผิดพลาดของชีวิต….
แต่ท่านก็ได้ให้ข้อคิดว่า ..ความผิดพลาดเป็นของดี เพราะเมื่อผิดพลาดครั้งหนึ่ง ย่อมจะทำให้เราเกิดความระมัดระวังในครั้งต่อๆ ไป
ฉะนั้นบุคคลใดที่ยอมรับความผิดพลาด ย่อมต้องดีแน่นอน หากเทียบกับผู้ที่ไม่รู้เลยว่า อะไรคือความผิดพลาด หรือไม่ยอมรับเลยว่าตนเองเป็นผู้ผิดพลาด ซึ่งคนเช่นนี้ คือบุคคลประเภทที่ ๑ ที่ควรหลีกเลี่ยง

อาจารย์จึงให้ข้อคิดว่า
เมื่อใดที่เราต้องพบกับความผิดพลาดของชีวิต …ขอเพียงให้รู้จัก และพยายามปรับเปลี่ยน แก้ไขตนเองให้ดีขึ้น

นับได้ว่า….พวกเราทุกคนโชคดี
เพราะเมื่อได้เรียนบทเรียนเรื่องชีวิตแล้ว ก็ยังมีอาจารย์บุษกรมาคอยช่วยตรวจแบบฝึกหัด(ของชีวิต) ให้อีก..
เมื่อเราทำผิดพลาดในข้อใด ท่านก็ได้ชี้แจงให้เห็นว่า ข้อที่ผิดนั้น ผิดตรงไหน และผิดอย่างไร
หากเรายอมรับ และทำความเข้าใจ
รับรองได้ว่าเมื่อใดที่เราต้องไปพบข้อสอบ คือปัญหาชีวิตเช่นนั้นอีก เราก็จะรู้วิธีการที่จะทำให้ถูกต้องได้ดีขึ้น

เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับบุคคล ๔ ประเภทนี้….ก็เห็นความแตกต่างระหว่างท่านอาจารย์ กับพวกเราแล้ว !

…ท่านรู้สึกไหมว่า เรากำลังเดินตามบุคคลประเภทที่ ๔ อยู่…

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ท่านตั้งคำถามว่า “มีความรู้สึกอย่างไรกับความแตกต่าง?”

หลังจากที่ท่านได้ปรารภความในใจว่า วันที่ ๒๙ ที่จะเข้ารับการผ่าตัดกระดูก ซึ่งหมอต้องการให้พักหลังการผ่าตัดนานถึง ๓ เดือน แต่ท่านตั้งใจจะพักเพียง ๑ เดือนเท่านั้น
โดยบอกพวกเราว่า ยังไงๆ ก็จะมามูลนิธิ …นอนสอนก็ได้ เพราะปากยังใช้พูดได้
หากจะมีความแตกต่างกันก็เพียงแค่…
ปัจจุบันนี้ยังนั่งสอนอยู่ได้ แต่อนาคตข้างหน้าต่อไปอาจจะต้องนอนสอน
เพราะท่านเองก็ไม่ทราบเลยว่า ผ่าแล้วจะเป็นอัมพาตหรือไม่
ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่การทำใจ ซึ่งคนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นเรื่องที่ยาก


ท่านอาจารย์เคยให้ข้อคิดว่า “ ไม่มีใครทำให้เราตกต่ำได้ ถ้าเราไม่ยินยอม”
และท่านก็ทำให้พวกเราได้เห็นว่าท่านทำได้แล้วจริงๆ …
เพราะทุกครั้งที่ไปผ่าตัด หากวันที่ออกจากโรงพยาบาลเป็นวันเสาร์ หรืออาทิตย์ ท่านก็จะตรงมาที่มูลนิธิ โดยไม่ได้กลับไปพักฟื้นที่บ้านเช่นคนไข้รายอื่นๆ

หากตั้งคำถามตนเองว่า ถ้าเป็นเราล่ะ ? …คงไม่ต้องบอกนะว่าจะตอบอย่างไร
เหมือนกับการถามว่า ทำไมทุกวันนี้เราจึงยังมีกิเลสอยู่อีก ?
แน่นอนย่อมได้คำตอบว่า เพราะเรายินยอมตกเป็นทาสของกิเลสเอง…

นี่คือความแตกต่างระหว่างท่านอาจารย์ กับเรา !…
ทั้งนี้เพราะมีการสร้างเหตุที่ไม่เหมือนกันมา
ท่านจึงแนะนำว่า
จงปรับฐานะทางจิตใจของตนเอง หมั่นสร้างปัจจุบันเหตุที่ดีๆ
เพราะว่า…


…ความแตกต่าง ย่อมเป็นธรรมชาติที่ยุติธรรม…
ที่เขากับเราต่างกัน ก็เพราะ ธรรมชาติยุติธรรมนั่นเอง


ทำให้นึกถึงคำพูดของหลวงพ่อที่บอกกับพวกเราว่า ….
กรรม คือคำตอบ



แม้เราจะรู้สึกถึงความแตกต่างของตนเองในอดีต และปัจจุบันว่า…
เมื่อก่อน.. มีอะไรเกิดขึ้น เราไม่เคยรู้เลยว่า มาจากเหตุอะไร
แต่ปัจจุบันนี้ เรายังรู้ และยอมรับว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรา เป็นเพราะเราทำ(สร้าง)เหตุมาเอง

ซึ่งอาจารย์ก็ได้มาเปิดเผยความจริงให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้นว่า ….
แท้ที่จริงแล้ว เราเพียงแค่ยกเอาเหตุ มาข่มใจ ปลอบขวัญตัวเอง เท่านั้นเอง
แค่นั้นยังไม่เพียงพอ …
จนกว่าเราจะนำสิ่งที่ได้ศึกษานั้นมาปฏิบัติ คือพิจารณา ไต่สวน ตรวจสอบที่ตนเองบ่อยๆ จนญาณปัญญาเกิด
เมื่อนั้นแหละ…เราจึงจะเป็นผู้ที่เข้าถึงเหตุผลได้อย่างแท้จริง

เพราะทุกวันนี้เรากำลังเป็นผู้ที่ศึกษาเหตุผล
…เมื่อเห็นอะไร มันไม่ธรรมดา (จิตใจยังเร่าร้อน เพราะกิเลสยังมีอยู่)
จึงได้แต่เพียง การข่มใจด้วยธรรมะ

แต่พระอรหันต์ ท่านเป็นผู้ที่เข้าถึงเหตุผลแล้ว
….เมื่อเห็นอะไร ก็ธรรมดา
(มีอะไรเกิดขึ้น จะแตกต่างกันสักเพียงใด ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา)

….เพราะธรรมชาติยุติธรรมเสมอ ….



ขอบคุณเนื้อหาจาก มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ

ความแตกต่างที่ยุติธรรม

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์