เรื่องนี้ดีต่อ รัก


        ไม่น่าเชื่อว่าเทศกาลปีใหม่จะมีผู้สนใจสวดมนต์ปฏิบัติธรรมที่วัดในช่วงข้าม พ.ศ. มากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องดีน่าอนุโมทนา แม้ว่าสถิติอุบัติเหตุทางรถยนต์ไม่มีทีท่าว่าจะลดลง แต่แนวโน้มของคนที่หันมาสนใจ หรือให้ความสำคัญกับมิติทางจิตใจ ใช้ช่วงเทศกาลต่างๆ เป็นโอกาสในการเพิ่มพูนคุณความดีสำหรับตนเองนั้นเพิ่มขึ้น การฉลองที่ไม่ต้องพึ่งเหล้า  แล้วยังขัดเกลาจิตใจให้งดงาม ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับชีวิต

          ถ้าดูจากสื่อก็จะเห็นทาง 2 แพร่งที่ชัดเจน เส้นทางหนึ่งมุ่งสู่ความสนุกเพลิดเพลิน รื่นเริงใจในแสงสีเสียง และการดื่มกิน ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งก็มุ่งสู่ความสงบ บันเทิงธรรมฉ่ำเย็นในจิตใจ แม้จะอยากให้มาทางนี้มากกว่า แต่ก็เข้าใจดีว่าในวีถีของชาวโลก เป็นธรรมดาที่ผู้ประกอบการย่อมจะกระตุ้นให้ผู้คนนั้นหาความสุขด้วยการดื่มกินท่องเที่ยวใช้เงินใช้ทอง  ด้วยเหตุผลทางธุรกิจซึ่งจะต้องขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ที่อาศัยทุนและการตลาดแปรสภาพทรัพยากรและการบริการเป็นสินค้า เพื่อสร้างมูลค่าและรายได้ ส่วนจะกระจายหรือกระจุกนั้นก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่าง

          พักเรื่องนี้ไว้ก่อนดีกว่า เพราะว่ามีคนขอให้เขียนเรื่องอะไรดีๆ สำหรับความรัก ให้หายรันทดหดหู่ เป็นรักนิรันดร์ที่อยู่คู่กันตลอดไป อาจเป็นเพราะความรักนั้นเป็นเรื่องของความรู้สึกที่สามารถแปรเปลี่ยนได้ตลอดเวลา หากว่ามีอะไรแทรกซ้อนเข้ามา ก็พร้อมจะเกิดปัญหาได้ทุกเมื่อ ทำให้หลายคู่รักมีความสัมพันธ์ขึ้นๆ ลงๆ ตามสิ่งที่เข้ามากระทบจิตใจ ทำให้อารมณ์ไม่แน่นอน เกิดการตั้งแง่ ขี้งอน ไปจนถึงหึงหวง โกรธแค้น และอีกด้านหนึ่งก็คือ สถานการณ์ทางสังคมที่สื่อสะท้อนออกมาในมุมที่ชี้ว่า เด็กและเยาวชนในสมัยนี้ขาดความรับผิดชอบต่อความรักของตนเอง บางคนบอกว่าไม่ใช่รักแท้ แต่เป็นเพียง “รักสนุก” จึงนำไปสู่ความ “ทุกข์สาหัส” 

          ในมุมของผู้เขียนนั้นเป็นห่วงเรื่องความรักพอๆ กับความชัง เพราะ “รัก” นั้นพร้อมจะ “ร้าย” ได้ทุกเมื่อ เพราะความรู้สึกรักเป็นความรู้สึกที่หากรู้ไม่เท่าตามไม่ทัน มันก็สามารถจะพลั้งพลาดได้เสมอ ลองนึกภาพคนที่โกรธมากๆ มักจะวู่วามทำอะไรลงไปอย่างไม่ยั้งคิด คนที่เกิดอารมณ์รักอารมณ์ใคร่ก็เช่นเดียวกัน เมื่อถึงขีดสุดของความรู้สึก พฤติกรรมจะเป็นไปตามสัญชาตญาณ ซึ่งจะไม่คำนึงถึงถูกผิด ชั่วดี และวูบสุดท้ายของการตัดสินใจก็ต้องวัดกันระหว่าง “ชั่ววูบ” กับ “ดียั้ง” อย่างไหนจะแรงกว่ากัน และผลมันก็จะตรงข้ามกันด้วย สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ความรู้สึกตัว (สติ) ซึ่งจะคอยตามติดสะกิดใจของเราในยามที่จะก้าวไปในทางผิด แต่ถ้าขาดไปหรือไม่มีทักษะชีวิตในการดูแลจิตใจของตนเอง รักก่อนแต่งก็จะมีแต่แล้งน้ำใจ เมื่อแต่งไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น 

          หากดูจากจำนวนหนังฟังเพลง ปลีกย่อยของความรักนั้นเยอะแยะเหลือเกิน จนสามารถที่จะแต่งเพลง สร้างหนังใหม่ๆ ได้ตลอด แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวระหว่าง 2 คน ทั้งๆ ที่ความจริงมันเกี่ยวโยงถึงคนอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่พี่น้อง ญาติมิตร จะว่าไปมันก็เป็นวิถีของชาวบ้านที่ท่านเรียกว่าฆราวาส มิติของความรักจึงเป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกัน ซึ่งในทางพระพุทธศาสนามีหลักหรือแนวทางในการอยู่ร่วมกันให้เกิดความสุขอยู่ 4 ประการ คือ

          1.สัจจะ คือ ความจริง จริงใจ จริงจัง สัตย์จริง ซื่อสัตย์ และสุจริตธรรม มีครูท่านหนึ่งบอกว่า “ชีวิตคู่แค่อยู่อย่างซื่อสัตย์ต่อกัน มันก็หมดปัญหาไปแล้วเกือบทั้งหมด” ซึ่งอันที่จริงเรารู้กันดีอยู่แล้วว่า การอยู่ร่วมกันไม่ว่าจะ 2 คนหรือมากกว่าขึ้นไป “สัจจะ” คือ เส้นเกลียวที่เหนียวแน่น สร้างความเข้มแข็งให้กับความสัมพันธ์ของบุคคล เป็นความโปร่งใสที่ไม่ต้องตรวจสอบ เพราะสามารถเชื่อใจไว้วางใจกันได้ คำว่า “ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน” ยังสามารถใช้ได้ในทุกสมัย 

          2.ทมะ คือ การเรียนรู้ที่จะฝึกฝนตนเองให้มีความเข้าใจในตนเองและผู้อื่น ตลอดจนการฝึกฝนบุคลิกภาพ ความสามารถบางอย่าง ที่เห็นว่าจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตที่ต้องเผชิญกับผู้คนหลากหลายประเภท หากว่า “รู้ตน รู้คน รู้กาล รู้ประสานสัมพันธ์” ด้วยความที่คนเรานั้นมีอุปนิสัยใจคอไม่เหมือนกัน บางครั้งจึงจำเป็นที่จะต้องฝึกที่จะข่มใจยอมรับความเป็นจริงของคนอื่น ที่อาจจะไม่ถูกตาต้องใจเราสักเท่าไหร่ แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ ด้วยการยืดหยุ่นปรับตัวปรับใจ และก้าวไปพร้อมกัน 

          3.จาคะ คือ การเสียสละ เป็นพื้นฐานทางจิตใจที่จะนำไปสู่การให้ การแบ่งปัน การช่วยเหลือ ให้อภัย และการก้าวย่างอย่างเพื่อนร่วมทาง ไม่ใช่คู่แข่งแต่อย่างเดียว ผู้รู้จักการให้ ย่อมได้สัมผัสรสแห่งสุขอันชื่นใจ สร้างความภาคภูมิในหัวใจ ให้ความรู้สึกที่เติมเต็ม เพราะคนที่ไม่รู้จักพอคือคนที่รู้สึกว่าขาดพร่อง ต่อให้กอบโกยมาได้มากแค่ไหนก็ไม่รู้สึกว่าเต็ม มีแต่ขาด จนไม่อาจแบ่งปันให้ใครได้ และการแบ่งปันก็จะช่วยเติมเต็มให้แก่กันและกันได้ เหมือนการเติมเชื้อรัก ที่จะช่วยผลักให้รักเดินทางสู่สิ่งดีงามร่วมกัน

          4.ขันติ คือ ความอดทน อดกลั้น ชีวิตที่มีแต่ความกดดัน ยุ่งที่ทำงานไม่พอ ยังมาเจอคนพาลที่บ้านอีก หรือเขาไม่พาล เราก็พล่านเสียเอง เพราะอะไรๆ ก็มักจะไม่เป็นอย่างที่คิด และการผจญชีวิตจำเป็นต้องมีจิตที่เข้มแข็ง เพื่อต้านทานแรงเสียดสีที่จะมาทิ่มแทงจิตใจ อีกทั้งแต่ละก้าวย่างบนเส้นทางชีวิตก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ มากมาย ถ้าขาดความอดทนอาจตรอมใจตาย เพราะไม่อาจจะคลายปมในจิตใจและทนต่อไปไม่ได้อีกแล้ว และขันติยังเป็นกำแพงกั้นใจก่อนจะตัดสินใจอะไรในขณะที่โกรธ เกลียด รัก หลง ก่อนที่จะเผลอใจพลั้งมือทำในสิ่งที่อาจจะผิดพลาดไป 

          ทั้งหมดนั้นเรียกว่า “ฆราวาสธรรม” ธรรมะประจำใจของคนครองเรือน หรือประชาชน ที่ควรยึดถือนำไปปฏิบัติและปักไว้ในใจของทุกคน ท่านบอกว่าธรรมหมวดนี้มีไว้ถนอมรัก เมื่อมีหลักมั่นคงเด่น ประเด็นย่อยก็ค่อยๆ แตกรายละเอียดออกไป หากชีวิตไม่อาจขาดรัก รักเองก็ไม่อาจขาดธรรมเพื่อเป็นเข็มทิศชี้นำชีวิต 

          ขณะที่เราสอนเด็กเรื่องเพศศึกษา แต่พวกเขากำลังเรียนรู้สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า “รัก” และมีหนังสือจีบหญิงชายประกอบคำแนะนำจากเพื่อนๆ เป็นคู่มือ เขาและเธออาจได้เกรดสี่วิชาเพศศึกษา แต่กำลังเช็ดน้ำตาเพราะตกวิชาภาษารัก  อีกทั้งยังท้องเพราะทำแบบฝึกหัดชีวิตผิด และเธอก็แก้โจทย์ด้วยการทำแท้ง เจอความซ้ำซ้อนจนต้องซ่อนไว้คนเดียว บาดแผลหัวใจไม่มีใครรักษา ยื่นให้แต่คำนินทาและหยามเหยียด ภาพรักที่เคยคิดว่าแสนเปรมปรีย์ กลายเป็นทุ่นเหล็กหนักที่บดขยี้หัวใจให้ร้าวราน 

          เมื่อพูดถึงปัญหาก็ต้องหาทางแก้ ผู้เขียนจึงอยากจะลองนำเสนอว่า จะเป็นไปได้ไหมถ้าหากจะมีกิจกรรมสักอย่าง ที่เป็นการผสมผสานระหว่างองค์ความรู้ด้านร่างกายหรือเพศศึกษาจากหมอและพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ กับการภาวนาด้านจิตศึกษา การฝึกเพื่อให้รู้เท่าทันจิตใจ อารมณ์และความรู้สึกของตนเอง เป็นการเตรียมใจให้พร้อมรัก และเตรียมแม่ให้พร้อมที่จะมีลูก หรือเลี้ยงลูกด้วยรักและรักลูกด้วยปัญญา หากว่าท่านผู้อ่านมีข้อเสนอแนะประการใดก็พร้อมที่จะรับฟัง  แม้จะไม่ได้ทำเองก็อาจเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ช่วยจุดประกายให้ผู้มีความคิดพร้อมความรู้หรือมีโอกาสที่จะทำ ได้สร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมความดีงามให้แก่สังคม ซึ่งอาจจะช่วยบรรเทาวังวนแห่งปัญหา ชะลอกระแสทุกข์ เพิ่มพื้นที่แห่งความสุขให้กับสังคม

         
สุดท้ายขอฝากแง่คิดจากท่าน  “กิตฺติเมธี”  ซึ่งท่านได้เมตตาบอกเล่าเรื่องดี ๆ อีกมุมมองของความรัก ว่า

รักให้สุดสาย  ปลายทางคือความสุข
เมื่อเรียนรู้จักการให้ก็จะรู้จักความรัก
เมื่อเรียนรู้จักความรักก็จะรู้จักความทุกข์
เมื่อเรียนรู้จักความทุกข์ก็จะรู้การปล่อยวาง
เมื่อเรียนรู้การปล่อยวางก็จะรู้การเสียสละ
เมื่อเรียนรู้การเสียสละ  ก็จะรู้จัก...ความสุข

เรื่องนี้ดีต่อ รัก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์