การทำสมาธิ นิมิตในการบำเพ็ญสมาธิ


นิมิตในการบำเพ็ญสมาธิ

ในการบำเพ็ญสมาธินั้นเมื่อจิตได้ตั้งอยู่ในฌานขั้นใดขั้นหนึ่ง อาจเกิดนิมิตขึ้นมาให้เห็นได้ ๒ ประการ คือ

๑. อุคคหนิมิต สิ่งที่มาติดตาติดใจ
๒. ปฏิภาคนิมิต สิ่งที่ติดตาติดใจแล้วกลายเป็นภาพที่เกิดจากสัญญา

นิมิตทั้งสองอย่างนี้จะเกิดขึ้นบางขณะจิต หรือบางคนที่จิตสงบลงไปแล้วและจะเกิดคู่กันและเกิดขึ้นได้สองทาง

ก. เกิดจากสัญญาเก่าที่เคยนึกไว้แต่กาลก่อน
ข. เกิดขึ้นเมื่อจิตสงบและเกิดขึ้นเองโดยไม่นึกคิด

นิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นทั้งสองชนิดนี้มีทั้งคุณทั้งโทษ มีความจริงและความไม่จริง ฉะนั้นจึงไม่ควรยึดถือเสียทีเดียว ถ้าใครมีสติสัมปชัญญะที่รอบคอบก็มีคุณ ถ้าใครมีสติอ่อนกำลังใจไม่มั่นคงก็มักจะหลงใหลไปตามนิมิต บางทีก็เผลอตัวยึดถือว่านิมิตนั้นๆ เป็นของจริง

นิมิตคู่นี้มีสองประเภทคือ

๑. นิมิตของรูป

เช่นเห็นร่างกายของตนเองบ้าง คนอื่นบ้าง สัตว์บ้าง เห็นนรกบ้าง เห็นสวรรค์บ้าง เห็นซากศพบ้าง มีลักษณะดำๆ แดงๆ เขียวๆ ขาวๆ บ้าง ซึ่งบางทีจริงบางทีก็ไม่จริง บางคราวเกิดทางหูได้ยินเสียงคนพูดบ้าง บางทีก็เกิดทางจมูกได้กลิ่นหอมบ้าง เหม็นบ้าง บางทีเกิดทางกาย เช่นกายเล็ก กายโต กายสูง กายต่ำ อาการทั้งหลายเหล่านี้เรียกว่า “อุคคหนิมิต” ถ้าจิตเข้มแข็งย่อมเป็นทางให้เกิด “วิปัสสนา” ขึ้นได้

แต่ถ้าสติอ่อนกลายเป็น “วิปัสสนูปกิเลส” ไปหลงใหลไปตามอารมณ์นั้นๆเชื่อว่าเป็นความจริง ถึงแม้ว่าจริงแต่ของไม่จริงก็ย่อมแทรกซึมได้ เปรียบเหมือนตัวคนซึ่งนั่งอยู่ในที่แจ้ง เมื่อแสงอาทิตย์ส่องย่อมมีเงา ตัวคนมีจริงส่วนเงานั้นย่อมเกิดติดอยู่กับตัวคน แต่เงานั้นไม่ใช่คนจริง ฉะนั้นท่านจึงปล่อยวางซึ่งของจริง ของไม่จริงนั้นก็หลุดไปตาม นี่เกี่ยวกับเรื่องนิมิตของรูป

๒. นิมิตของนาม

เมื่อลมละเอียด จิตว่างจิตนิ่ง จิตสงบดีแล้ว ย่อมมีอะไรเกิดขึ้น บางทีนึกถึงอะไรก็รู้ได้ทันที บางคราวไม่ต้องนึก ก็ผุดขึ้นมาเองในดวงจิต ลักษณะอย่างนี้ก็เป็น “อุคคหนิมิต” มีความจริงบ้างไม่จริงบ้างปนกัน จะยึดถือเป็นความจริงทีเดียวไม่ได้ บางคราวก็จริง ความจริงนั่นแหละเป็นเหตุแห่งความหลง เช่นจริง ๓ อย่าง ไม่จริง ๗ อย่าง เมื่อเกิดความเชื่อมั่นแล้ว ถึงไม่จริงก็ยังเข้าใจว่าเป็นจริง อันนี้ก็ทำให้เกิด “วิปัสสนูปกิเลส” ได้ทางหนึ่ง

ฉะนั้นจึงควรที่จะทำนิมิตทั้งสองคือ “อุคคหนิมิต” ของรูป “อุคคหนิมิต” ของนามนี้ เมื่อเกิดขึ้นทางใดทางหนึ่ง ควรเจริญ “ปฏิภาคนิมิต” ต่อคือ เมื่อมีนิมิตอันใดเกิดขึ้น เช่นถ้าเป็นรูปใหญ่ นึกให้เป็นรูปเล็ก ให้ใกล้ให้ไกล ให้เล็กให้โต ให้เกิดให้ดับ จำแนกนิมิตนั้นเป็นส่วนๆ แล้วปล่อยวางไป

อย่าให้นิมิตมาแต่งจิตของเรา ให้จิตของเราแต่งนิมิตได้อย่างนึก ถ้าไม่สามารถทำได้เช่นนั้น อย่าเพิ่งไปเกี่ยวข้องกับนิมิตให้ปล่อยไปเสีย มาเจริญกรรมฐานที่เรากำหนดอยู่อย่างเดิม (เช่นถ้ากำหนดหายใจเข้า - ออก ก็ให้กำหนดลมต่อไป)

ถ้าเป็นนิมิตของนามเกิดขึ้นทางจิต ก็ให้ยับยั้งตั้งสติไว้ด้วยดี พิจารณาความรู้ที่เกิดขึ้นว่ามีความจริงเพียงใด แม้มีความจริงก็ไม่ควรยึดมั่นในความเห็นนั้นๆ ความรู้นั้นๆ จะเป็น “วิปัสสนูปกิเลส” ถ้ายึดความเห็นจะเป็น “ทิฏฐุปาทาน” และ “ทิฏฐิมานะ” คือความสำคัญว่าตนเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ไปต่างๆ

ฉะนั้นผู้ปฏิบัติควรปล่อยวางนิมิตทั้งสอง คือนิมิตของรูปและนิมิตของนามไปเสีย ตามสภาพแห่งความจริง สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่รู้เท่าตามทันย่อมจะเกิด “วิปริต - วิปลาส” ผิดพลาดไปจากคุณความดีที่จะได้ในขั้นต่อไป

ขยายความเรื่องวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ประการ

ธรรมารมณ์ที่เกิดแก่ผู้บำเพ็ญสมาธิจิตสงบขั้นสูง หรือได้วิปัสสนาอ่อนๆ ทำให้เข้าใจผิดว่าตนบรรลุมรรคผลแล้วซึ่งเป็นขวากหนาม เป็นเหตุไม่ให้ก้าวหน้าต่อไปในทางวิปัสสนาญาณ หรือการบรรลุมรรคผล (นำมาแสดงไว้ให้รู้เท่าทัน แต่สำหรับผู้ที่ได้คุณ ๑๐ อย่างนี้ก็นับว่าวิเศษแล้ว)

วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ประการ

๑. โอภาส แสงสว่างซึ่งเกิดขึ้นแล้ว ย่อมมองเห็นได้ในที่ใกล้และไกล

๒. ญาณ ย่อมเกิดความรู้ขึ้น สิ่งที่ไม่เคยรู้ก็ได้รู้อย่างแปลกประหลาดอัศจรรย์ เช่นระลึกชาติได้ บางทีก็รู้ “จิตปฏิสนธิ” ของคนในโลกซึ่งเป็นเหตุให้เพลินไปตามความรู้ความเห็นนั้นๆ เพลินหนักเข้าความรู้จริงไม่เข้ามาแทรก ก็ยังสำคัญว่าจริง

๓. ปิติ ความอิ่มกายอิ่มใจ อิ่มเสียจนหลงงมงาย อิ่มกายจนหายหิวข้าว หิวน้ำ หายร้อน หายเย็น อิ่มเสียจนเพลิน บางทีก็สำคัญว่าเป็นผู้สำเร็จ ซึ่งก็เป็นการกลืนกินอารมณ์นั่นเอง

๔. ปัสสัทธิ กาย - จิตสงบเย็น จนไม่อยากเห็นสิ่งใดๆ ในโลก เห็นว่าโลกนั้นไม่สงบเป็นสิ่งที่ตัวไม่ต้องการ ความจริงถ้าจิตสงบจริงสิ่งทั้งหลายในโลกย่อมสงบหมด ผู้ที่เข้าไปติดความสงบแล้ว แม้กายก็ไม่อยากทำงาน ใจก็ไม่อยากคิดนึก เพราะติดความสงบนั้นเป็นอารมณ์ นี่คือขวากหนามของการบรรลุมรรคผลนิพพานที่สูงขึ้นไป

๕. สุข เมื่อสงบแล้วก็เกิดสุขกาย สุขจิตซึ่งเป็นของดี แต่ที่ท่านว่าเป็นขวากหนามเพราะเมื่อสุขมากๆ แล้วเกลียดทุกข์คือเข้าใจว่า สุขนั้นดีทุกข์นั้นไม่ดี ที่จริงสุขก็คือทุกข์ เมื่อสุขเกิดทุกข์ก็เป็นเงา และ เมื่อทุกข์เกิดสุขก็เป็นเงา แต่ถ้าไม่เข้าใจเช่นนั้นจึงกลายเป็นกิเลสอย่างหนึ่งคือกลืนอารมณ์ตัวเอง ความสบาย ความสงัด ความวิเวก ความเย็น อันลึกซึ้งจับใจเกิดขึ้นแล้วก็เพลินไปในอารมณ์นั้นๆ คือติดอยู่ในนามธรรมอันพอใจนั่นเอง จนสำคัญว่าบรรลุผลนิพพานแล้ว

๖. อธิโมกข์ ความเข้าไปน้อมเชื่อถือในความรู้ ความเห็นและสิ่งที่รู้เห็นว่าเป็นจริง

๗. ปัคคาหะ อาจเกิดมีความเพียรทางจิตแรงกล้าเกินไปไม่พอดี เป็นเหตุให้ฟุ้งซ่านคือยังยึดถืออารมณ์อยู่นั่นเอง ความมุ่งหน้าแรงเกินพอดีจึงเป็นขวากหนามประการหนึ่ง ของการบรรลุพระนิพพาน

๘. อุปัฏฐานะ คือการมีสติเข้าไปตั้งอย่างแรงกล้า อยู่ในอารมณ์อันใดอันหนึ่งที่ตนรู้เห็น ไม่ยอมปล่อยวางอารมณ์นั้นๆ

๙. อุเบกขา ความมีจิตเป็นกลางวางเฉยไม่อยากพบ ไม่อยากเห็น ไม่อยากนึก ไม่อยากคิดพิจารณา คือสำคัญตนว่าวางเฉยได้หมดแล้ว ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดของจิตขณะนั้นต่างหาก

๑๐. นิกันติ ความพอใจติดใจในอารมณ์นั้นๆ คือติดอารมณ์ที่ตนพบตนเห็นนั่นเอง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อรู้ไม่เท่าเอาไม่ทันย่อมเป็นเครื่องเศร้าหมองของใจอันหนึ่ง ของผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุพระนิพพาน


การทำสมาธิ นิมิตในการบำเพ็ญสมาธิ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์