บุญกับกุศลต่างกันอย่างไร


บุญกับกุศลต่างกันอย่างไร


เมื่อใด มีการพิจารณากัน ให้ละเอียดถี่ถ้วน เมื่อนั้น จะพบความแตกต่าง ระหว่าง สิ่งที่เรียกกันว่า "บุญ" กับสิ่งที่เรียกว่า "กุศล" 

เมื่อใด มีการพิจารณากัน ให้ละเอียดถี่ถ้วน เมื่อนั้น จะพบความแตกต่าง ระหว่าง สิ่งที่เรียกกันว่า "บุญ" กับสิ่งที่เรียกว่า "กุศล" บ้างไม่มากก็น้อย แล้วแต่ ความสามารถ ในการพินิจพิจารณา แต่ว่า โดยเนื้อแท้แล้ว บุญ กับ กุศล ควรจะเป็น คนละอย่าง หรือ เรียกได้ว่า ตรงกันข้าม ตามความหมาย ของรูปศัพท์ แห่งคำสองคำ นี้ทีเดียว
       
   คำว่า บุญ มีความหมายว่า ทำให้ฟู หรือ พองขึ้น บวมขึ้น นูนขึ้น, ส่วนคำว่า กุศล นั้น แปลว่า แผ้วถาง ให้ราบเตียนไป โดยความหมาย เช่นนี้ เราย่อมเห็น ได้ว่า เป็นของ คนละอย่าง หรือ เดินคนละทาง

        บุญ เป็นสิ่งที่ทำให้ฟูใจ พอใจ ชอบใจ เช่น ทำบุญ ให้ทาน หรือ รักษาศีล ก็ตาม แล้วก็ฟูใจ อิ่มเอิบ หรือ แม้ที่สุดแต่รู้สึกว่า ตัวได้ทำสิ่งที่ทำยาก ในกรณีที่ ทำบุญเอาหน้า เอาเกียรติ อย่างนี้ ก็ได้ชื่อว่า ได้บุญ เหมือนกัน แม้จะเป็น บุญชนิดที่ไม่สู้จะแพ้ หรือ แม้ในกรณีที่ ทำบุญ ด้วยความ บริสุทธิ์ใจ เพื่อเอาบุญ กันจริงๆ ก็ยังอด ฟูใจไม่ได้ ว่า ตนจะได้เกิด ในสุคติ โลกสวรรค์ มีความปรารถนา อย่างนั้น อย่างนี้ ในภพนั้น ภพนี้ อันเป็น ภวตัณหา นำไปสู่การเกิด ในภพใหม่ เพื่อเป็น อย่างนั้น อย่างนี้ ตามแต่ ตนจะปรารถนา ไม่ออกไปจาก การเวียนว่าย ตายเกิด ในวัฎสงสาร ได้ แม้จะไปเกิด ในโลก ที่เป็นสุคติอย่างไร ก็ตาม ฉะนั้น ความหมาย ของคำว่า บุญ จึงหมายถึง สิ่งที่ทำให้ ฟูใจ และ เวียนไป เพื่อความเกิด อีก ไม่มีวัน ที่สิ้นสุดลงได้

        ส่วน กุศล นั้น เป็นสิ่งที่ ทำหน้าที่ แผ้วถาง สิ่งกีดขวาง ผูกรัด หรือ รกรุงรัง ไม่ข้องแวะ กับความฟูใจ หรือ พอใจ เช่นนั้น แต่มี ความมุ่งหมาย จะกำจัด เสียซึ่ง สิ่งต่างๆ อันเป็นเหตุ ให้พัวพัน อยู่ใน กิเลสตัณหา อันเป็น เครื่องนำให้ เกิดแล้วเกิดอีก และมี จุดมุ่งหมาย กวาดล้าง สิ่งเหล่านั้น ออกไปจากตัว ในเมื่อบุญ ต้องการโอบรัด เข้ามาหาตัว ให้มีเป็น ของของตัว มากขึ้น ในเมื่อฝ่ายที่ถือข้างบุญ ยึดถืออะไร เอาไว้มากๆ และพอใจ ดีใจนั้น  ฝ่ายที่ถือข้างกุศล ก็เห็นว่า การทำอย่างนั้น เป็นความโง่เขลา ขนาดเข้าไป กอดรัดงูเห่า ทีเดียว ฝ่ายข้างกุศล หรือ ที่เรียกว่า ฉลาด นั้น ต้องการจะ ปล่อยวาง หรือ ผ่านพ้นไป ทั้งช่วยผู้อื่น ให้ปล่อยวาง หรือ ผ่านพ้นไป ด้วยกัน ผ่ายข้างกุศล จึงถือว่า ฝ่ายข้างบุญ นั้น ยังเป็นความ มืดบอดอยู่

        แต่ว่า บุญ กับ กุศล สองอย่างนี้ ทั้งที่มี เจตนารมณ์ แตกต่างกัน ก็ยังมี การกระทำ ทางภายนอก อย่างเดียวกัน ซึ่งทำให้เราหลงใหล ในคำสองนี้ อย่างฟั่นเฝือ เพื่อจะให้เข้าใจกันง่ายๆ เราต้องพิจารณา ดูที่ตัวอย่าง ต่างๆ ที่เรา กระทำกัน อยู่จริงๆ คือ

        ในการให้ทาน ถ้าให้เพราะจะ เอาหน้า เอาเกียรติ หรือ เอาของตอบแทน เป็นกำไร หรือ เพื่อผูกมิตร หาพวกพ้อง หรือ แม้ที่สุดแต่ เพื่อให้บังเกิด ในสวรรค์ อย่างนี้ เรียกว่า ให้ทาน เอาบุญ หรือ ได้บุญ แต่ถ้าให้ทาน อย่างเดียวกันนั่นเอง แต่ต้องการ เพื่อขูดความขี้เหนียว ของตัว ขูดความเห็นแก่ตัว หรือ ให้เพื่อค้ำจุนศาสนา เอาไว้ เพราะเห็นว่า ศาสนาเป็น เครื่องขูดทุกข์ ของโลก หรือ ให้เพราะ เมตตาล้วนๆ โดยบริสุทธิ์ใจ หรือ อำนาจเหตุผล อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่ง ปัญญา เป็นผู้ชี้ขาดว่า ให้ไปเสีย มีประโยชน์ มากกว่า เอาไว้ อย่างนี้ เรียกว่า ให้ทาน เอากุศล หรือ ได้กุศล ซึ่งมันแตกต่างๆ ไปคนละทิศ ละทาง กับการให้ทาน เอาบุญ เราจะเห็นได้ กันสืบไปอีกว่า การให้ทานเอาบุญ นั่นเอง ที่ทำให้เกิด การฟุ่มเฟือย ขึ้นในสังคม ฝ่ายผู้รับทาน จนกลายเป็น ผลร้าย ขึ้นในวงพระศาสนาเอง หรือ ในวงสังคมรูปอื่นๆ เช่น มีคนขอทาน ในประเทศ มากเกินไป เป็นต้น การให้ทาน ถูกนักคิด พากันวิพากษ ์วิจารณ์ ในแง่เสื่อมเสีย ก็ได้แก่ การให้ทานเอาบุญ นี้เอง ส่วนการให้ทาน เอากุศลนั้น อยู่สูงพ้น การที่ถูกเหยียด อย่างนี้ เพราะว่า มีปัญญา หรือเหตุผล เข้าควบคุม แม้ว่า อยากจะให้ทาน เพื่อขูดเกลา ความขี้เหนียว ในจิตใจ ของเขา ก็ยังมีปัญญา รู้จักเหตุผล ว่า ควรให้ ไปในรูปไหน มิใช่เป็นการให้ ไปในรูป ละโมบบุญ หรือ เมาบุญ เพราะว่า กุศล ไม่ได้เป็น สิ่งที่หวาน เหมือนกับ บุญ จึงไม่มีใครเมา และไม่ทำให้ เกิดการเหลือเฟือ ผิดความสมดุล ขึ้นในวงสังคม ได้เลย นี่เราพอจะเห็นได้ว่า ให้ทานเอาบุญ กับ ให้ทานเอากุศลนั่น ผิดกันเป็นคนละอันอย่างไร

        ในการรักษาศีล ก็เป็นทำนองเดียวกันอีก รักษาศีลเอาบุญ คือ รักษาไป ทั้งที่ไม่รู้จัก ความมุ่งหมาย ของศีล เป็นแต่ยึดถือ ในรูปร่าง ของการรักษาศีล แล้วรักษา เพื่ออวด เพื่อนฝูง หรือ เพื่อแลกเอาสวรรค์ ตามที่ นักพรรณนาอานิสงส์ เขาพรรณนา กันไว้ หรือ ทำอย่างละเมอไป ตามความนิยม ของคนที่ มีอายุ ล่วงมาถึง วัยนั้นวัยนี้ เป็นต้น ยิ่งเคร่งเท่าใด ยิ่งส่อความเห็นแก่ตัว และความยกตัว มากขึ้น เท่านั้น ยิ่งมีความยุ่งยาก ในครอบครัว หรือวงสังคม เกิดขึ้นใหม่ๆ แปลกๆ เพราะ ความเคร่งครัด ในศีล ของบุคคลประเภทนี้ อย่างนี้ เรียกว่า รักษาศีลเอาบุญ ส่วนบุคคล อีกประเภทหนึ่ง รักษาศีล เพียงเพื่อ ให้เกิด การบังคับตัวเอง สำหรับ จะเป็นทาง ให้เกิด ความบริสุทธิ์ และ ความสงบสุข แก่ตัวเอง และเพื่อนมนุษย์ เพื่อใจสงบ สำหรับ เกิดปัญญาชั้นสูง นี้เรียกว่า รักษาศีลเอากุศล รักษามีจำนวน เท่ากัน ลักษณะเดียวกัน ในวัดเดียวกัน แต่กลับเดินไป คนละทิศละทาง อย่างนี้เป็นเครื่องชี้ ให้เห็นภาวะ แห่งความแตกต่าง ระหว่างคำว่า บุญ กับคำว่า กุศล คำว่า กุศลนั้น ทำอย่างไรเสีย ก็ไม่มีทาง ตกหล่ม จมปลักได้เลย ไม่เหมือนกับคำว่า บุญ และกินเข้าไป มากเท่าไร ก็ไม่มีเมา ไม่เกิดโทษ ไม่เป็นพิษ ในขณะที่ คำว่า บุญ แปลว่า เครื่องฟูใจนั้น คำว่า กุศล แปลว่า ความฉลาดหรือ เครื่องทำให้ฉลาด และ ปลอดภัย ร้อยเปอร์เซ็นต์

        ในการเจริญสมาธิ ก็เป็นอย่างเดียวกันอีก คือ สมาธิเอาบุญ ก็ได้ เอากุศลก็ได้ สมาธิเพื่อดูนั่นดูนี่ ติดต่อกับ คนโน้นคนนี้ ที่โลกอื่น ตามที่ ตนกระหาย จะทำให้ เก่งกว่าคนอื่น หรือ สมาธิ เพื่อการไปเกิด ในภพนั้น ภพนี้ อย่างนี้เรียกว่า สมาธิเอาบุญ หรือ ได้บุญ เพราะทำใจให้ฟู ให้พอง ตามความหมาย ของมันนั่นเอง ซึ่งเป็นของที่ปรากฏว่า ทำอันตราย แก่เจ้าของ ถึงกับต้อง รับการรักษา เป็นพิเศษ หรือ รักษาไม่หาย จนตลอดชีวิต ก็มีอยู่ไม่น้อย เพราะว่า สมาธิเช่นนี้ มีตัณหาและทิฎฐิ เป็นสมุฎฐาน แม้จะได้ผลอย่างดีที่สุด ก็เพียงได้เกิด ในวัฏสงสาร ตามที่ตน ปรารถนาเท่านั้น ไม่เป็นไป เพื่อนิพพาน ส่วนสมาธิ ที่มีความมุ่งหมาย เพื่อการบังคับใจตัวเอง ให้อยู่ในอำนาจ เพื่อกวาดล้าง กิเลส อันกลุ้มรุมจิต ให้ราบเตียน ข่มขี่มิจฉาทิฎฐิ อันจรมา ในปริมณฑลของจิต ทำจิตให้ผ่องใส เป็นทางเกิด ของวิปัสสนาปัญญา อันดิ่งไปยังนิพพาน เช่นนี้เรียกว่า สมาธิได้กุศล ไม่ทำอันตรายใคร ไม่ต้องหาหมอรักษา ไม่หลงวนเวียน ในวัฎสงสาร จึงตรงกันข้าม จากสมาธิเอาบุญ

        ครั้นมาถึงปัญญา นี้ไม่มีแยกเป็นสองฝ่าย คือไม่มีปัญญาเอาบุญ เพราะตัวปัญญานั้น เป็นตัวกุศล เสียเองแล้ว เป็นกุศลฝ่ายเดียว นำออกจากทุกข์ อย่างเดียว แม้ยังจะต้อง เกิดในโลกอีก เพราะยังไม่แก่ถึงขนาด ก็มีความรู้สึกตัว เดินออกนอก วัฎสงสาร มีทิศทาง ดิ่งไปยัง นิพพานเสมอ ไม่วนเวียน จนติดหล่ม จมเลน โดยความไม่รู้สึกตัว ถ้ายังไม่ถึงขนาดนี้ ก็ยังไม่เรียกว่า ปัญญา ในกองธรรม หรือ ธรรมขันธ์ ของพุทธศาสนา ดังเช่น ปัญญาในทางอาชีพ หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เป็นต้น 

        ตามตัวอย่าง ที่เป็นอยู่ในเรื่องจริง ที่เกี่ยวกับ การกระทำ ของพวกเราเอง ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ทำให้เราเห็นได้ว่า การที่เราเผลอ หรือ ถึงกับหลง เอาบุญ กับ กุศล มาปนเป เป็นอันเดียวกันนั้น ได้ทำให้เกิด ความสับสน อลเวง เพียงไร และทำให้คว้าไม่ถูกตัว สิ่งที่เราต้องการ จนเกิด ความยุ่งยาก สับสน อลหม่าน ในวงพวกพุทธบริษัท เองเพียงไร ถ้าเรายังขืนทำ สุ่มสี่สุ่มห้า เอาของสองอย่างนี้ เป็นของอันเดียวกัน อย่างที่ เรียกกัน พล่อยๆ ติดปากชาวบ้านว่า "บุญกุศลๆ" เช่นนี้อยู่สืบไปแล้ว เราก็จะไม่สามารถ แก้ปัญหา ต่างๆ อันเกี่ยวกับ การทำบุญกุศล นี้  ให้ลุล่วงไป ด้วยความดี จนตลอดกัลปาวสาน ก็ได้

        ถ้ากล่าวให้ชัดๆ สั้นๆ บุญเป็นเครื่องหุ้มห่อ กีดกั้นบาป ไม่ให้ งอกงาม หรือ ปรากฏ หมดอำนาจบุญ เมื่อใด บาป ก็จะโผล่ออกมา และงอกงามสืบไปอีก ส่วนกุศลนั้น เป็นเครื่องตัด รากเหง้า ของบาป อยู่เรื่อยไป จนมันเหี่ยวแห้ง สูญสิ้นไม่มีเหลือ ความต่างกัน อย่างยิ่ง ย่อมมีอยู่ ดังกล่าวนี้

        คนปรารถนาบุญ จงได้บุญ คนปรารถนากุศล ก็จงได้กุศล และปลอดภัย ตามความปรารถนา แล้วแต่ใคร จะมองเห็น และจะสมัครใจ จะปรารถนา อย่างไร ได้เช่นนี้ เมื่อใด จึงจะชื่อว่า พวกเรารู้จัก บุญกุศล กันจริงๆ รู้ทิศทาง แห่งการก้าวหน้า และทิศทางที่วกเวียน ว่าเป็น ของที่ไม่อาจจะ เอามาเป็น อันเดียวกัน ได้เลย แม้จะเรียกว่า "ทางๆ" เหมือนกัน ทั้งสองฝ่าย

วัดธารน้ำไหล
๒๕ มิ.ย. ๒๔๙๓

คัดจาก หนังสือ ชุมนุมข้อคิดอิสระ พุทธทาสภิกขุ  
พิมพ์ ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๘ โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ 



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์