วิธีควบคุมความคิด




ควบคุมความคิด


วิธีจะควบคุมความคิด เราก็ต้องมีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งผูกใจเอาไว้ อารมณ์ที่เราใช้กันส่วนใหญ่ก็คือการบริกรรมพุทโธๆ ถ้าเราไม่ถนัดกับการบริกรรมพุทโธ เราจะใช้ร่างกายเป็นอารมณ์ผูกใจไว้ก็ได้ เราก็ต้องเฝ้าดูการเคลื่อนไหวของร่างกายตลอดเวลา เฝ้าดูร่างกายเป็นเหมือนนักโทษ ไม่ให้ห่างไม่ให้คลาดจากสายตาเราไป ต้องเฝ้าดูตลอดเวลา ทุกขณะทุกเวลานาทีร่างกายอยู่ตรงไหน ใจก็ต้องเฝ้าดูอยู่ ร่างกายกำลังยืน ใจก็ต้องเฝ้าดูว่า ร่างกายกำลังยืนอยู่ กำลังเดินก็ต้องเฝ้าดู กำลังทำอะไรต่างๆ ก็ต้องเฝ้าดูการกระทำของร่างกาย ไม่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้

ถ้าเฝ้าดูร่างกายตลอดเวลา ใจก็จะนิ่งใจก็จะว่าง เวลานั่งสมาธิก็ดูลมหายใจเข้าออก เฝ้าดูลมหายใจเข้าออกต่อแล้วใจก็จะเข้าสู่ความสงบเป็นสมาธิได้ ถ้าใช้การบริกรรมพุทโธตั้งแต่ตื่นจนหลับ ไม่ว่าเราจะทำภารกิจอะไร เราก็บริกรรมพุทโธๆ ไปอย่างเดียว ไม่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ นอกจากความคิดที่จะต้องใช้กับภารกิจการงานในขณะนั้น เช่น เรากำลังทำงานที่ต้องใช้ความคิด ตอนนั้นเราก็หยุดบริกรรมพุทโธไปก่อน เราก็ใช้ความคิดเกี่ยวกับเรื่องการทำงานไป แต่ถ้าเราทำอะไรที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความคิด เราก็ใช้พุทโธไป เช่น เวลาเราอาบน้ำ แต่งตัว รับประทานอาหารนี้ เราส่วนใหญ่ไม่ต้องใช้ความคิด เราก็ใช้พุทโธๆ ไป อย่าปล่อยให้ใจไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ ถ้าใจไม่คิดอะไรก็หยุดบริกรรมก็ได้ ถ้าใจรู้เฉยๆ รู้อยู่กับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เช่น รู้อยู่กับร่างกาย รู้ว่าร่างกายกำลังทำอะไรอยู่ แล้วไม่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ตอนนั้นไม่ต้องบริกรรมพุทโธก็ได้ จะเฝ้าดูร่างกายไปอย่างเดียวก็ได้ แล้วพอมีเวลาว่างก็ต้องนั่งสมาธิ

ถ้าเป็นนักบวชแล้วก็จะไม่มีภารกิจ ไม่มีงานมาก ภารกิจก็มีเฉพาะตอนบิณฑบาต ตอนฉันแล้วก็ตอนทำความสะอาดเล็กๆ น้อยๆ พอเสร็จแล้วหลังจากนั้นก็จะมีเวลาว่างไว้สำหรับการเดินจงกรมนั่งสมาธิ ทำสลับกันไป เดินจนเมื่อย เมื่อยแล้วก็มานั่ง นั่งจนเมื่อยแล้วก็ออกไปเดินสลับกันไป เวลาเดินก็เจริญสติ เวลานั่งก็ทำสมาธิก็เจริญสติต่อแล้วจนจิตรวมลงเข้าสู่ความสงบเป็นสมาธิ เวลาจิตรวมเป็นสมาธิแล้วจิตก็จะไม่ทำอะไรความคิดต่างๆ ก็จะหายไป ตอนนั้นจะเป็นอุเบกขาสักแต่ว่ารู้ ใจเป็นกลางใจเฉยๆ ใจไม่หิวไม่อยากไม่มีความต้องการอะไรทั้งหลาย

พอออกจากสมาธิมา ถ้าเกิดความอยากตอนนั้นก็ต้องใช้ปัญญาคอยระงับ คอยสอนใจให้หยุดความอยาก ไม่ให้ไปทำตามความอยาก ให้เห็นว่าสิ่งที่อยากได้นั้นเป็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นสุข เพราะว่าไม่เที่ยง เพราะว่าไม่ใช่อยู่ภายใต้คำสั่งของเรา เราไม่สามารถสั่งเขา ให้เขาให้ความสุขกับเราได้เสมอไป มีสิ่งเดียวที่เราสั่งได้ก็คือความสุขทางใจ สั่งได้ด้วยสติ สั่งได้ด้วยสมาธิ สั่งได้ด้วยปัญญา สั่งด้วยปัญญาก็คือให้เราหยุดความอยากได้ความสุขจากสิ่งต่างๆ ทั้งหลาย พอเราหยุดอยากได้ ความสุขแล้วความสงบก็จะหวนกลับคืนมา ถ้าเราหยุดความอยากไม่ได้ ความสุขที่ได้จากความสงบก็จะจางหายไป ก็จะทำให้เราอยากเพิ่มมากขึ้น พออยากได้สิ่งนี้แล้ว พอได้มาแล้วก็อยากจะได้สิ่งอื่นต่อไป ถ้าเราไม่หยุดมันก็จะพาเราอยากไปเรื่อยๆ จนทำให้เราเกิดความเครียด เกิดความทุกข์ เกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมา เพราะว่าเวลาอยากได้อะไรมากๆ แล้วไม่สามารถได้ตามความอยากเวลานั้น ก็จะทุกข์มาก ก็จะเครียดมาก

ดังนั้น เราไม่ควรปล่อยให้ใจเราไปถึงขีดนั้นจุดนั้น ควรที่คอยสกัดความอยากอยู่เรื่อยๆ ควรจะทำใจให้สงบอยู่เรื่อยๆ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นนักบวช แต่ถ้าเรามีเวลาว่างพอ เราก็ควรจะเอาเวลาว่างนั้นมาสร้างสรณะ สร้างที่พึ่งทางใจดีกว่า คือสร้างความสงบ สร้างความสุขทางใจดีกว่าเอาเวลานั้นไปสร้างความสุขทางร่างกาย สร้างความสุขจากการทำตามความอยากต่างๆ เพราะเป็นความสุขเพียงเล็กน้อย แล้วก็มีความทุกข์แถมมามากกว่าหลายเท่าด้วยกัน

นี่คือสิ่งที่เราควรที่จะพิจารณาอยู่เรื่อยๆ เวลาที่เรากำลังทำอะไรกันอยู่ขอให้เราถามว่า เรากำลังทำเพื่อให้เกิดความสุขทางใจ หรือว่าเรากำลังทำเพื่อให้เกิดความทุกข์ทางใจ ถ้าเป็นการทำเพื่อให้เกิดความทุกข์ทางใจ เราก็ควรจะหยุดเสีย ก็คือถ้าเราทำตามความอยากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางลาภ ยศ สรรเสริญนี้ เป็นการกระทำเพื่อความอยาก ไม่ได้ทำเพื่อจิตใจ ไม่ได้ทำให้จิตใจสงบ การกระทำที่จะทำให้จิตใจสงบนี้ต้องเกิดจากการทำทาน เกิดจากการรักษาศีล เกิดจากการภาวนา เกิดจากการเจริญสติ เกิดจากการนั่งสมาธิ เกิดจากการพิจารณาทางปัญญาเพื่อระงับดับความอยากต่างๆ.


ธรรมะบนเขา กัณฑ์ที่ ๑๓ วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖
“สร้างสรณะทางใจ” : พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

วิธีควบคุมความคิด


dhammajak.net


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์