จิตที่ปล่อยวาง คือการทำทานที่ได้อานิสงค์สูงสุด


จากการสังเกตสิ่งที่หลวงปู่พาประพฤติปฏิบัติในเรื่องของการทำทาน สิ่งที่มีค่ามากอย่างหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากท่านก็คือ การทำทานด้วยความปล่อยวาง

ท่านค่อยๆ สอนเราทั้งโดยคำพูด และจากการปฏิบัติให้ดู เช่น สอนให้เราไม่ไปรอลุ้นอาหารที่เตรียมไปถวายพระว่าพระท่านจะตักอาหารที่เราถวายไปฉันหรือไม่ ท่านว่าจบของอธิษฐานถวายข้าวพระตั้งแต่ที่บ้าน หรือตั้งจิตก่อนประเคนอาหารถวายพระ ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว จากนั้นก็ปล่อยวาง ทำใจให้สบาย ไม่ต้องรอลุ้นให้บุญหกตกหล่นอย่างที่กล่าวข้างต้น

เท่าที่ประสบ ยังไม่เคยเห็นท่านแนะนำใครว่าเวลาสร้างพระต้องสลักชื่อที่ฐานพระ หรือเวลาถวายปัจจัยซื้อกระบื้องมุงหลังคาโบสถ์แล้วต้องเขียนชื่อบนแผ่นกระเบื้องนั้น ในทำนองตอกย้ำว่าสิ่งนี้คือบุญกุศลของฉันนะ พระองค์นี้ฉันสร้าง กระเบื้องมุงหลังคาโบสถ์แผ่นนี้ฉันเป็นผู้ถวาย

มีลูกศิษย์คนหนึ่ง ภาวนาต่อเนื่องหลายวัน ประกอบกับได้ไปบำเพ็ญทานบางอย่าง แล้วจู่ ๆ ก็มีประสบการณ์แปลก ๆ เกิดขึ้นกับเขา คือเขามีความรู้สึกเหมือนกับว่ามีน้ำแข็งมาวางอยู่แถวๆ ลิ้นปี่หรือกลางท้องของเขา มันเย็นสบายอยู่ภายใน และเป็นอยู่อย่างนี้ข้ามวัน จนอดรนทนไม่ไหว ไปกราบเรียนถามหลวงปู่ว่ามันคืออะไรหลวงปู่ตอบสั้น ๆ เพียงแค่ว่า "ตัวบุญ" เขาแปลกใจมากว่า เมื่อกำหนดจิตและระลึกถึงทานนั้น ความรู้สึกว่ามีก้อนน้ำแข็งมาวางที่กลางท้องมันก็เกิดขึ้นทุกที

เมื่อเขาสำรวจตัวเอง ประกอบกับการพิจารณาไตร่ตรองตามคำพูดของหลวงปู่ จึงได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า บุญนี้ เป็นสิ่งที่สัมผัสได้จริงๆ ซึ่งนอกจากจะสัมผัสได้ทางใจแล้ว มันยังกระเทือนมาถึงกายเป็นความเย็นอยู่ภายในให้สัมผัสได้อีกด้วย และเมื่อระลึกถึงท่าทีต่อทานของตนเองก็ยิ่งมั่นใจว่ามาถูกทางแล้ว คือการทำทานโดยไม่ยึดติดในทานที่ตนถวา หวังเพียงความดีงามในจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำจัดตัวโลภะ โทสะ โมหะ นี่เองที่ทำให้เขาได้สัมผัสกับตัวบุญ

เขายิ่งเชื่อมันสิ่งที่หลวงปู่สอนว่าการทำความดีใดๆ ก็ตาม เราต้องมุ่งในจุดเดียว คือ ให้เป็นไปเพื่อละความโลภ ความโกรธ ความหลง เราต้องฝึกไม่ยึดมั่นแม้ความดีที่ทำ หรือยึดมั่นหมายมั่นว่าทำความดีนั้นแล้วจะมีอานิสงส์ส่งผลในทางโลกอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งยิ่งจะเป็นตัวส่งเสริมหรือให้อาหารแก่กิเลสตัวโลภ โกรธ หลง เข้าไปอีก

สิ่งสำคัญที่ศิษย์ผู้นี้ได้เรียนรู้ก็คือ เมื่อจิตมีความละเอียดอ่อนจากการปฏิบัติภาวนาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับทานที่ทำด้วยจิตที่ปล่อยวาง จะเป็นปัจจัยช่วยให้นักปฏิบัติคนนั้น มีโอกาสจะได้สัมผัสกับตัวบุญซึ่งมันเป็นความชื่นใจเย็นใจที่เป็นปัจจัตตัง คือรู้ได้เฉพาะตนจริงๆ

ในทางตรงกันข้าม เขาสังเกตเห็นและเรียนรู้ว่าการที่คนเรายึดติดในทานหรือความดีที่ตนบำเพ็ญ กลับจะทำให้จิตของผู้บำเพ็ญไม่โปร่งเบา และมีโอกาสที่จะขาดทุนกำไรคือบุญหกตกหล่นได้ง่าย เช่น จิตเศร้าหมองเพราะเหตุที่โรงหล่อพระสลักชื่อไม่ถูกต้องหรือไม่สวยงามอย่างที่ต้องการ หรือเพราะพระไม่ได้ฉันอาหารที่ตนถวาย หรือเพราะไม่มีใครๆ รู้ว่าตนได้ถวายทานหรือบำเพ็ญคุณงามความดีนั้น ๆ

พูดเล่ามาถึงตรงนี้ก็ทำให้ระลึกถึงพระบรมราโชวาทของในหลวงที่สอนให้ทำความดีด้วยความปล่อยวาง โดยไม่หวังว่าจะมีใครๆ มารับรู้หรือไม่ เพราะเรามิได้ทำเพื่ออวดใครๆ ความดีที่ได้รับคือจิตใจเราที่สูงขึ้นต่างหาก มิใช่จากคำสรรเสริญเยินยอของผู้ใด ดังที่พระองค์อุปมาการทำความดีชนิดนี้ว่าเป็นเหมือน "การปิดทองที่หลังองค์พระปฏิมา" ซึ่งนานวันไป มันก็จะล้นออกมาด้านหน้า จนคนอื่นเขารู้เอง แต่ถึงไม่มีใครรู้ก็ไม่เป็นสิ่งสำคัญอะไร เพราะเราทำความดีโดยมุ่งทำลายกิเลสตัวโลภ โกรธ หลง เท่านั้น
ทำความดีย่อมได้ความดี ทำความดีไม่จำเป็นต้องได้ของดี

จิตที่ปล่อยวาง คือการทำทานที่ได้อานิสงค์สูงสุด


ขอบคุณข้อมูลจาก :: inwza



จิตที่ปล่อยวาง คือการทำทานที่ได้อานิสงค์สูงสุด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์