ปล่อยวาง ทำไม และอย่างไร

ปล่อยวาง ทำไม และอย่างไร พระไพศาล วิสาโล

บ่อยครั้งเราทุกข์เพราะยึดติดกับเรื่องที่เราปรุงแต่งขึ้นมา การปรุงแต่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเรายึดเอาไว้ก็เป็นทุกข์ เช่น เครียด หรือ กลุ้มใจ บางเรื่องเป็นอนาคตที่ยังมาไม่ถึง แต่ปรุงแต่งไปต่าง ๆ นานา จนเครียด บางเรื่องก็เป็นปัจจุบัน เช่นเห็นแฟนกินอาหารกับผู้ชายในภัตตาคาร เพียงแค่เห็นไม่ทำให้เราทุกข์หรอก แต่เราทุกข์เพราะเราปรุงแต่งว่า เขานอกใจเรา เขาไม่ซื่อกับเรา
หรือปรุงแต่งไปในทางร้าย

มีเหตุการณ์หนึ่ง เกิดขึ้นที่ร้านอาหาร ผู้ชายกลุ่มหนึ่งนั่งรออาหารอยู่นอกร้าน ขณะที่ภรรยาเจ้าของร้านซึ่งทำหน้าที่เสิร์ฟอาหาร เดินผ่านโต๊ะของคนกลุ่มนี้ ก็เป็นจังหวะเดียวกับที่นกบินผ่านมาและขี้ใส่หัวผู้ชายคนหนึ่งในโต๊ะนั้นพอดี ผู้ชายคนนั้นเข้าใจว่า ภรรยาเจ้าของร้านถ่มน้ำลายรดหัว จึงทะเลาะกับเธอ แล้วก็ลุกลามจนกลายเป็นการทะเลาะกับเจ้าของร้านถึงขั้นจะลงไม้ลงมือ เจ้าของร้านจึงเอามีดปังตอขู่ ชายกลุ่มนี้สู้ไม่ได้ก็ล่าถอยออกไป สักพักก็กลับมาใหม่ คราวนี้เอาปืนมาด้วย เกิดการยิงกัน ปรากฏว่าภรรยาเจ้าของร้านถูกยิงตาย ชายคนนั้นถูกจับติดคุก

เรื่องทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพียงเพราะนกขี้ใส่หัว แต่จะไม่เกิดเหตุร้ายเลยหากชายผู้นั้นไม่ปรุงแต่งไปว่าถูกคนถ่มน้ำลายรดหัว แต่เมื่อเขาปรุงแต่งความคิดนี้ขึ้นมาแล้วยึดมั่นว่าเป็นความจริง เขาก็โกรธและเกิดเรื่องตามมา คนจำนวนไม่น้อยได้รับผลร้ายจากการยึดติดในสิ่งที่ปรุงแต่ง เขาไม่เพียงทุกข์ใจเท่านั้น แต่ยังทุกข์กายด้วย เพราะเกิดความเครียด ความดันขึ้น จนล้มป่วยก็มีไม่น้อย

คุณหมอประเวศ วะสี เคยเล่าให้ฟังว่า ผู้ชายคนหนึ่งตัวซีด ไม่มีแรง นอนเปลมาให้หมอตรวจ เมื่อหมอตรวจคนไข้ ซักถามอาการ ก็หันไปคุยกับหมอประจำบ้าน บอกว่า คนไข้นี้ไม่เป็นอะไรมาก ตัวซีดเพราะพยาธิปากขอ เพียงให้เหล็กก็จะหายวันหายคืน พูดเพียงเท่านี้ ปรากฏว่าคนไข้ลุกขึ้นยืนได้ทันที บอกว่า “หมอ ถ้าผมเป็นแค่นี้ก็ไม่ต้องใช้ไอ้เปลนี้แล้วล่ะ” ทำไมเรี่ยวแรงจึงกลับมา ก็เพราะรู้ว่าไม่เป็นอะไรมาก แต่ทีแรกทำไมถึงไม่มีแรงทั้ง ๆ ที่เป็นแค่พยาธิปากขอ ก็เพราะใจปรุงแต่งไปในทางร้าย เช่น นึกว่าเป็นมะเร็ง พอคิดแบบนี้ก็เลยทรุด แต่พอรู้ว่าไม่ได้เป็นอะไรมาก เรี่ยวแรงก็กลับคืนมา แท้ที่จริงความคิดว่าเราเป็นมะเร็งหรือเปล่า ใครๆ ก็คิดได้ แต่ถ้าคิดแล้วยึดเอาไว้ ไม่ยอมปล่อยวางก็จะทุกข์ทันที หมดเรี่ยวแรง เพราะใจกับกายสัมพันธ์กัน

ปล่อยวาง ทำไม และอย่างไร

คุณหมอประเวศ วะสี เคยเล่าให้ฟังว่า ผู้ชายคนหนึ่งตัวซีด ไม่มีแรง นอนเปลมาให้หมอตรวจ เมื่อหมอตรวจคนไข้ ซักถามอาการ ก็หันไปคุยกับหมอประจำบ้าน บอกว่า คนไข้นี้ไม่เป็นอะไรมาก ตัวซีดเพราะพยาธิปากขอ เพียงให้เหล็กก็จะหายวันหายคืน พูดเพียงเท่านี้ ปรากฏว่าคนไข้ลุกขึ้นยืนได้ทันที บอกว่า “หมอ ถ้าผมเป็นแค่นี้ก็ไม่ต้องใช้ไอ้เปลนี้แล้วล่ะ” ทำไมเรี่ยวแรงจึงกลับมา ก็เพราะรู้ว่าไม่เป็นอะไรมาก แต่ทีแรกทำไมถึงไม่มีแรงทั้ง ๆ ที่เป็นแค่พยาธิปากขอ ก็เพราะใจปรุงแต่งไปในทางร้าย เช่น นึกว่าเป็นมะเร็ง พอคิดแบบนี้ก็เลยทรุด แต่พอรู้ว่าไม่ได้เป็นอะไรมาก เรี่ยวแรงก็กลับคืนมา แท้ที่จริงความคิดว่าเราเป็นมะเร็งหรือเปล่า ใครๆ ก็คิดได้ แต่ถ้าคิดแล้วยึดเอาไว้ ไม่ยอมปล่อยวางก็จะทุกข์ทันที หมดเรี่ยวแรง เพราะใจกับกายสัมพันธ์กัน

สมมติว่าเราไปทำงานแต่เช้า เห็นเพื่อนร่วมงานจึงทักทายเขา แต่เขาไม่ทักตอบ เดินผ่านเราไปเฉยๆ เราจะรู้สึกไม่พอใจขึ้นมาเลยใช่ไหม เพราะคิดว่าเพื่อนไม่ให้เกียรติเรา ไม่ชอบขี้หน้าเรา ไม่เป็นมิตรกับเรา ทักแล้วก็ไม่ทักตอบ เรารู้สึกเครียดจนไม่เป็นอันทำงาน บางทีกลับบ้านแล้วก็ยังนอนไม่หลับ อดคิดไม่ได้ว่าทำไมเขาทำกับเราอย่างนี้ เราอุตส่าห์ดีกับเขา เขาไปหลงเชื่อคำพูดของเจ้าหมอนั่นหรือเปล่า คิดเป็นตุเป็นตะ ทั้งที่สาเหตุที่เขาไม่ทักตอบก็เพราะเขามองไม่เห็นเรา เนื่องจากกำลังเหม่อลอยหรือมีความกังวลเพราะลูกไม่สบายเมื่อเช้า เขามีความทุกข์ใจจึงไม่ไม่ได้ทักตอบ แต่ใจเรากลับปรุงแต่งไปอีกทางหนึ่ง ปรุงแล้วก็ยึด ยึดในสิ่งที่ปรุงแต่ง ก็เลยเดือดเนื้อร้อนใจ


ทุกข์เพราะยึด

บางครั้งเราไม่ได้ทุกข์เพราะอดีตหรืออนาคต แต่ทุกข์ด้วยเหตุแห่งปัจจุบัน นั่งฟังธรรมอยู่ดีๆ ก็มีเสียงโทรศัพท์ในห้องดังขึ้น หรือมีเสียงมอเตอร์ไซค์ดังรบกวนเรา ทำให้หงุดหงิด ไม่พอใจ ส่วนหนึ่งเพราะเรารู้สึกว่ามันไม่ควรจะมาดังตอนนี้ ทำไมคนนั้นไม่รู้จักปิดโทรศัพท์มือถือนะ ทำไมเขาไม่ดับเครื่องมอเตอร์ไซค์นะ เราไม่ได้หงุดหงิดเพราะเสียงดังเท่านั้น แต่เราหงุดหงิดกับเจ้าของโทรศัพท์ หรือคนขับมอเตอร์ไซค์ด้วย แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าที่เราหงุดหงิดก็เพราะใจของเราปักลงไปที่เสียงเหล่านั้นและปรุงแต่งไม่หยุด ถ้าเพียงแต่เราสนใจคำบรรยาย เสียงนั้นก็ไม่มีความหมาย เสียงบรรยายจากไมโครโฟนย่อมดังกว่าเสียงโทรศัพท์อยู่แล้ว แต่เมื่อใจเราปักอยู่กับเสียงนั้น ก็จะรู้สึกเสียงดังขึ้นทุกที จนเกิดความหงุดหงิด เลยฟังธรรมบรรยายไม่รู้เรื่อง ไม่ปะติดปะต่อ เพราะใจพะวงอยู่กับเสียง คิดแต่ว่าเมื่อไรเขาจะปิดเสียงโทรศัพท์ หรือดับเครื่องรถเสียที แต่เมื่อเสียงยังดังอยู่ ก็เลยรู้สึกขัดอกขัดใจ ยิ่งโมโหหนักขึ้น นี่เป็นผลจากการยึดติดอีกแบบหนึ่ง ถ้าเราไม่อยากทุกข์ก็ต้องรู้จักปล่อย รู้จักวาง

เคยมีคนถามพระนันทิยะว่าพระพุทธเจ้าสอนท่านว่าอย่างไร ท่านตอบว่า ”พระผู้มีพระภาคสอนให้ปล่อย ให้วางทั้งข้างหน้า ข้างหลัง และท่ามกลาง มิให้ติดอยู่ในอารมณ์อันเป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน อารมณ์ที่พอใจหรือไม่พอใจอันใดเกิดขึ้น จงปล่อยจงวางให้เป็นกอง ๆ ไว้ ณ ที่นั้น อย่านำมาเก็บไว้แบกไว้ เขาด่าว่าเราบนบก จงกองคำด่าว่านั้นไว้บนบก อย่านำติดไปในน้ำด้วย เขาด่าว่าเราในน้ำ จงกองคำด่าว่านั้นไว้ในน้ำ อย่านำติดตัวมาบนบก หรือเขาด่าว่าในเมือง จงกองไว้ในเมือง อย่านำติดตัวมาจนถึงเชตวนารามนี้”

ท่านตอบชัดเจนมาก เราน่าจะเอาไปใช้นะ คือเมื่อถูกใครด่าว่า ก็วางคำด่าตรงนั้นเลย ไม่ต้องแบกกลับบ้าน คำสอนนี้เป็นรูปธรรมมาก ไม่ยากจนเกินไป การปล่อยวางสำคัญเพราะในชีวิตเรามีสิ่งรบกวนเยอะ ทำให้จิตใจเราวอกแวก เมื่อใจเราปักอยู่กับมัน ทำให้เราทุกข์ ไม่มีสมาธิในการทำงาน แม้เสียงนั้นจะเบา แต่ถ้าใจเราปักอยู่กับมัน เสียงนั้นก็จะมีอิทธิพลมากจนทำให้เราฟังเรื่องอื่นไม่รู้เรื่อง


ติดยึดในตัวตน

การยึดติดในตัวกูของกูเป็นพื้นฐานของความทุกข์ทั้งปวง เมื่อเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น เราไม่ได้ยินเพียงเสียงของโทรศัพท์ แต่มีการปรุงต่อไปว่า เสียงนี้รบกวนสมาธิกู มีตัวกูขึ้นมาเป็นผู้ทุกข์ เป็นผู้ได้รับผลกระทบ ตัวกูถูกปรุงแต่งขึ้นมา แล้วใจก็ยึดติดอยู่ในตัวกูที่เป็นผู้ทุกข์ ปกติแล้ว เวลาเกิดความเจ็บ ป่วย ปวด เมื่อย อาการเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉยๆ แต่มีอีกสิ่งที่เกิดขึ้นซ้อนขึ้นมาทันทีคือ ความรู้สึกว่ามีตัวกู เกิดเป็นความรู้สึกว่า กูปวด กูเมื่อย นั่นเป็นเพราะตัวกู ถูกปรุงขึ้นมา เมื่อปรุงขึ้นมาแล้ว เรายังยึดเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ปล่อย ก็จะมีเสียงร่ำร้องในใจว่า กูปวด กูรำคาญเว้ย นั่นคือ มีกูเป็นผู้รับทุกข์ เป็นเจ้าของความทุกข์ที่เกิดขึ้น

เมื่อทำงานได้รับคำตำหนิ ไม่ใช่เพียงหูที่ได้ยินเสียง แต่เกิดเป็นความสำคัญมั่นหมาย เขาด่ากู เขาไม่ให้เกียรติกู เขาดูถูกกู กินก็คิด นอนก็คิด เขาด่ากู เขาด่ากู อันนี้เรียกว่าทุกข์เพราะยึดติดในตัวกู ของกู ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา ชีวิตของเราแท้จริงมีแต่กายกับใจ ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู ตัวกูเป็นสิ่งที่ใจปรุงแต่งขึ้นมาเอง แล้วก็ยึดเอาไว้ ไม่ปล่อย เมื่ออะไรก็ตามมากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หากเกิดทุกขเวทนาก็จะเกิดความรู้สึกว่า กูทุกข์ กูปวด กูโกรธ เมื่อเศร้า ไม่ใช่เพียงความเศร้าเกิดขึ้น แต่มีความรู้สึกว่า กูเศร้า นี้คือรากเหง้าของความทุกข์ทั้งปวง


สติ

ป็นไปได้ไหมที่เราปวดโดยไม่มีผู้ปวด คำตอบคือเป็นไปได้ ถ้ามีสติเพียงพอ ปวด แต่ไม่มีผู้ปวด โกรธ แต่ไม่มีผู้โกรธ มีแต่ความโกรธเฉยๆ ครั้งหนึ่งมีผู้ปฏิบัติธรรมซึ่งตั้งใจมาก มาฝึกปฏิบัติที่วัดป่าสุคะโต เมื่อตั้งใจมากก็เลยเครียด วันหนึ่งจึงถามหลวงพ่อคำเขียน ว่า หลวงพ่อ ทำอย่างไรดี หนูเครียดจังเลย หลวงพ่อไม่ตอบ แต่บอกว่า เธอถามไม่ถูก ให้ถามใหม่ เธอได้สติขึ้นมาจึงถามใหม่ว่า ทำอย่างไรดี หนูเห็นความเครียดเยอะมากเลย ขอให้เราสังเกตดูว่าต่างกันไหมระหว่าง หนูเครียด กับ หนูเห็นความเครียด หนูเครียดนั้น มี ตัวหนูเป็นผู้ทุกข์ผู้เครียด แต่ถ้า เห็นความเครียด เป็นอีกอย่างหนึ่ง ความเครียดไม่ใช่ตัวหนูหรือของหนู พูดอีกอย่างคือไม่ใช่ของกู ดังนั้นความเครียดจะก่อปัญหาน้อยกว่า คนที่เห็นความเครียดจะทุกข์น้อยกว่าคนที่รู้สึกว่าฉันเครียด

ถามว่าเห็นความเครียดได้อย่างไร เห็นได้ก็เพราะมีสติ หากไม่มีสติก็จะกอดความเครียดเอาไว้ เปรียบเสมือนคนที่เห็นกองไฟอยู่ห่างๆ ก็ไม่ค่อยรู้สึกร้อน ส่วนคนโกรธที่ไม่มีสติก็เหมือนเข้าไปอยู่กลางกองไฟหรือกอดไฟเอาไว้ จะทุกข์มากเพราะถูกความโกรธแผดเผาใจ แต่ถ้าเห็นความโกรธ เพราะมีสติ ก็จะเห็นกองไฟนั้นอยู่ห่างๆ จึงไม่ค่อยทุกข์ร้อน

เมื่อมือถูกไฟลวก มือจะชักออก นี่คือความฉลาดของกาย แต่เมื่อโกรธ ใจจะกอดความโกรธเอาไว้ ใครด่าเรา เราจะจำได้และนึกถึงเขาบ่อย ๆ ยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์ มองในแง่นี้จะเห็นว่า ใจโง่กว่ากาย ชอบหาทุกข์ใส่ตัว คล้ายกับว่าเรามีเศษแก้วอยู่ในมือ เพียงแค่เราพลิกมือลงเศษแก้วก็ตก แต่เราไม่ทำ เรากลับถือเอาไว้ แถมยังกำแล้วบีบซ้ำแล้วซ้ำเล่า เศษแก้วจึงบาดมือ เสร็จแล้วเราก็ด่าเศษแก้วว่า ทำให้ฉันเจ็บ มือเป็นแผล แต่หากเราไม่กำเศษแก้ว เศษแก้วเหล่านั้นจะทำอะไรเราได้ มันก็อยู่ของมันอย่างนั้น อย่างนี้เราจะโทษเศษแก้วหรือจะโทษตัวเราดี เพียงแค่พลิกมือเศษแก้วก็ตกแล้ว แต่เราก็ไม่ทำ

เศษแก้วก็คือคำต่อว่าของคนบางคนซึ่งผ่านไปแล้ว แต่เราไม่ยอมวาง กลับครุ่นคิดถึงคำพูดเหล่านั้น คิดแล้วคิดเล่า เราก็เลยทุกข์ เพียงแค่ปล่อยวางเท่านั้น เราก็ไม่ทุกข์ เหมือนกับเพียงแค่พลิกมือ เศษแก้วก็ตก แต่เราไม่ยอมปล่อย กลับบีบไว้ แล้วก็เจ็บ เพราะอะไร เพราะเราไม่รู้ตัว เพราะไม่มีสติ

สติสำคัญมากช่วยให้ปล่อยวางได้เร็ว อยู่กับปัจจุบัน ไม่อาลัยในอดีต ไม่พะวงกับอนาคต บางเรื่องเรากังวลเพราะคิดเอาเองทั้งเพ เรื่องยังไม่เกิดขึ้น แต่เรานึกปรุงแต่งไปในทางลบ เช่น ถ้างานล้มเหลว ถ้าลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ จะทำยังไงดี นึกไปก็ทุกข์ไป แต่ถ้ามีสติ เราก็จะอยู่กับความจริงในปัจจุบันได้ เงินเสียไปแล้วใจไม่เสีย ไม่อาลัยสิ่งที่เป็นอดีต ส่วนอนาคตก็ไม่กังวล ใจลอยเมื่อไหร่ก็ดึงใจกลับมา สติคือระลึกได้ ไม่ลืมตัว

ไม่ลืมตัวคือไม่ลืมที่จะพาใจมาอยู่กับปัจจุบัน ไม่ปล่อยให้ใจจมอยู่กับอดีต หรือพะวงกับอนาคต เมื่อใจลอยนึกถึงงานพรุ่งนี้ นึกถึงหนี้สินที่จะต้องจ่ายก็จะรู้สึกหนักอกหนักใจขึ้นมาทันที แต่เมื่อระลึกได้ว่า กำลังฟังคำบรรยายอยู่ตรงนี้ สติก็จะดึงใจกลับมา ฟังธรรมบรรยาย เรื่องอื่นๆ ก็วางไว้ก่อน ทำใจให้ปกติ สติช่วยให้ปล่อยวางได้ ปล่อยวางความคิด ปล่อยอารมณ์ที่ทำให้ทุกข์

สติมีอานิสงส์มาก ไม่เพียงช่วยให้รู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ แต่ยังช่วยให้ปล่อยวางได้ เมื่อรู้แล้ววาง รู้แล้ววาง ไม่ยึดติดแม้กระทั่งความทุกข์ความเศร้าเสียใจ มีเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งได้รับจดหมายจากคนที่เธอแอบชอบ เนื้อหาในจดหมายฉบับนั้นไม่ได้แสดงเลยว่าเขามีจิตปฏิพัทธ์ต่อเธอ เธอจึงนั่งซึม เวลาเดียวกันเองมีเพื่อนมาหาเธอ ตะโกนเรียกอยู่หน้าบ้านเพื่อชวนเธอไปเที่ยว ทันทีที่ได้ยินเสียงเรียกเธอรู้สึกฉุนขึ้นมาทันที นึกใจใจว่า เวลาจะสุขก็ไม่สมหวัง เวลาจะทุกข์ยังมีคนมารังควาญอีก นี่แสดงว่าเธออยากจมอยู่ในความทุกข์ อันนี้เป็นเพราะไม่มีสติ เลยเห็นความเศร้าเป็นของดี

ปล่อยวาง ทำไม และอย่างไร

อย่าเอาหูไปรองเกี๊ยะ

ครั้งหนึ่งเมื่อหลวงปู่บุดดา ถาวโรอายุราว 70-80 ปี มีคนนิมนต์ท่านไปฉันเพลที่กรุงเทพ ฯ เมื่อฉันเสร็จ โยมก็อยากให้ท่านพักผ่อนเพราะอายุมากแล้ว จึงหาห้องให้ท่านจำวัดก่อนกลับสิงห์บุรี มีลูกศิษย์ลูกหามานั่งเป็นเพื่อนท่าน เวลาจะคุยกันก็กระซิบกระซาบเพราะไม่อยากให้เสียงรบกวนท่าน แต่บ้านที่ท่านพักนั้นติดกับร้านค้า เจ้าของเป็นอาซิ้มสวมเกี๊ยะไม้ เวลาขึ้นลงบันไดก็มีเสียงดังเข้ามาถึงห้องที่หลวงปู่นอนพัก บรรดาลูกศิษย์ก็ไม่พอใจ บ่นขึ้นมาว่า เดินเสียงดังไม่เกรงใจกันเลย หลวงปู่ท่านหลับตาอยู่ แต่ไม่ได้นอนหลับ เมื่อได้ยินลูกศิษย์บ่นดังนั้นท่านจึงพูดเบา ๆ ว่า “เขาเดินอยู่ดีๆ เราเอาหูไปรองเกี๊ยะเขาเอง”

คนเราถ้าไม่มีสติ หูก็จะหาเรื่อง ที่จริงเสียงดังไม่ทำให้ทุกข์หรอก แต่ที่ทุกข์ก็เพราะใจไปยึดติดกับเสียงเหล่านั้น แถมปรุงตัวกูขึ้นมา ว่าเสียงดังรบกวนกู ก็เลยหงุดหงิดกับเสียง แต่ถ้ามีสติ ก็สักแต่ว่าได้ยิน ใจไม่ทุกข์


สมาธิ

นอกจากสติแล้ว สมาธิก็ช่วยให้ปล่อยวางได้เช่นกัน สมาธิในที่นี้หมายถึงการเปลี่ยนความสนใจของจิต เพื่อจดจ่อสิ่งอื่นทำให้ใจสงบ เช่นเมื่อมีเสียงดังรบกวนใจก็ดึงจิตให้หันมาจดจ่อกับลมหายใจ ช่วยให้ใจสงบขึ้น ในชีวิตประจำวันเราอาศัยสมาธิช่วยปล่อยวางความทุกข์อยู่บ่อย ๆ สังเกตไหมบางครั้งเราเล่นไพ่ตลอดทั้งคืน โดยไม่รู้สึกปวดเมื่อยเลย นั่นเป็นเพราะใจเราจดจ่ออยู่กับไพ่ แต่ถ้าฟังเทศน์แค่ 15 นาที ก็เริ่มขยับแข้งขยับขาแล้ว ที่เป็นอย่างนั้นเพราะใจไม่มีสมาธิกับคำเทศน์ ก็เลยรับรู้ความปวดเมื่อยได้ไว แต่ส่วนใหญ่มีสมาธิกับสิ่งที่ชอบ เช่น ไพ่ กีฬา หรือเสียงเพลง ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ใจก็เป็นสมาธิยาก แต่ถ้าเรารู้จักมีสมาธิกับสิ่งที่มีอยู่แล้วกับตัว เช่น ลมหายใจ หรืออิริยาบถ เราจะมีสมาธิได้ทั้งวัน เวลาเครียดหรือโมโห เราก็หันมาจดจ่อลมหายใจ ใจก็จะผ่อนคลาย สบายขึ้น


ปัญญา

ปัญญามีความหมายหลายระดับ ปัญญาขั้นสูงคือการเห็นอย่างแจ่มชัดว่า ตัวตนไม่มีอยู่จริง ตัวตนเป็นสิ่งที่ใจปรุงแต่งขึ้นมา เมื่อคนด่า หูได้ยิน แต่ไม่ปรุงตัวกูมารับคำด่าเหล่านั้น จนรู้สึกว่าเขาด่ากู เมื่อโกรธ เห็นความโกรธ แต่ไม่มีตัวกูไปรับความโกรธ ความทุกข์ก็ไม่อาจรบกวนจิตใจได้

มีคนถามหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ซึ่งลือกันว่า ท่านเป็นพระอรหันต์ เขาถามว่าหลวงปู่มีโกรธไหม ท่านว่า “มี แต่ไม่เอา” คือท่านไม่มีตัวกูที่จะไปรับความโกรธ ถ้าเป็นพวกเรา ก็จะเอาความโกรธทันที คือ มีตัวกูที่หยิบฉวยความโกรธ ตัวกูนั้นอยากฉวยอยากยึดทุกอย่าง ธรรมชาติของตัวกู คือไม่รู้จักพอ อยากได้เงิน อยากได้ชื่อเสียง อยากมีอำนาจ ไม่รู้จักจบสิ้น มีร้อยล้านก็อยากได้พันล้าน มีพันล้านก็อยากได้หมื่นล้าน เป็นหัวหน้ากองก็อยากเป็นผู้อำนวยการ อยากเป็นอธิบดี อยากเป็นปลัดกระทรวง แล้วก็ไม่รู้สึกพอสักที อยากเป็นรัฐมนตรี อยากเป็นนายก อยากเป็นนายกสองสมัย อยากเป็นนายกสามสมัย เหล่านี้คือธรรมชาติของตัวกู และไม่ใช่อยากได้เพียงยศ ทรัพย์ ชื่อเสียง อำนาจ แม้กระทั่งความโกรธ เกลียด ตัวกูก็ยังยึดเอาไว้

หลวงปู่ดุลย์ไม่มีตัวกู เพราะท่านมีปัญญาแจ่มชัดจนรู้ว่าตัวกูไม่มีจริง จึงไม่มีตัวกูผู้โกรธ ท่านไม่ยึดเอาความโกรธมาเป็นของท่าน ไม่รับ แต่ถ้าเป็นพวกเรา เราก็รับ เรากวาดทุกอย่างมาเป็นของเราหมดตามวิสัยของตัวกู การมีปัญญาที่แลเห็นว่า ตัวกูไม่มีจริง คืออนัตตา เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะทำให้ความทุกข์ไม่มีที่ตั้ง เหมือนกับฝุ่นผงไม่สามารถเกาะกระจกได้ หากไม่มีกระจกให้เกาะ มีแต่ความว่างเปล่า

ต๋อง ศิษย์ฉ่อย เป็นนักสนุกเกอร์อาชีพที่มีความสามารถสูงมาก เมื่ออายุ 12 ปีเขาชนะแชมป์โลกในการแข่งแบบไม่เป็นทางการ และติดอันดับหนึ่งในสามของโลกเมื่ออายุไม่ถึง 25 ปี เป็นแชมป์หลายสมัย แต่หลังจากอายุ 25 ปี ก็ตกอันดับ ไม่ติดหนึ่งในร้อยด้วยซ้ำไป ต่อมาเขาได้ลาบวช แล้วกลับมาเล่นสนุกเกอร์ใหม่ ได้เป็นแชมป์ในระดับประเทศและระดับเอเชีย สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือเขาทำใจได้ดีขึ้น มีคนถามว่า เขาเคยเป็นแชมป์โลกรู้สึกอย่างไรเมื่อรุ่นน้องชนะเขา เขาบอกว่า “ชีวิตมันเป็นอย่างนี้เอง ทุกอย่างมันไม่เที่ยง เมื่อก่อนเคยแทงกี่ลูกก็ลง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ลง อ้าว ก็อายุมึงมากแล้วนี่ ก็เป็นธรรมดา จะไปออกคิวเหมือนเดิมได้ไง ถ้าทำได้ แล้วเด็กรุ่นใหม่มันจะไปรุ่งได้ไง ถ้ามึงยังอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้” นี่เป็นปัญญาคือการเห็นความจริงของชีวิตที่หาความแน่นอนไม่ได้ เขาจึงทำใจได้ ไม่ทุกข์

คนเก่งมักจะทุกข์ก็เพราะยึดติดถือมั่นกับชัยชนะในอดีต คิดว่าตัวเองแพ้ไม่ได้ เพราะรู้สึกว่า กูแน่ แต่เมื่อมีประสบการณ์ชีวิตก็พบว่า ชนะได้ก็แพ้ได้ มันเป็นอนิจจัง ต๋องยังพูดอีกว่า “ทุกวันนี้พอแทงลูกไม่ลงเหรอ ผมยิ้มให้กับลูกที่ผมแทงไม่ลงด้วย แล้วก็ดีใจชื่นชมคู่ต่อสู้เป็นด้วย เล่นแบบนี้เราแฮปปี้กว่า” การที่เรายอมรับความจริงว่าอะไร ๆ ก็ไม่เป็นดั่งใจ ก็ทำให้เรามีความสุขได้ อย่าง
ต๋องแม้แทงลูกไม่ลง ก็มีความสุข และไม่ได้อิจฉาคู่ต่อสู้ อันนี้แสดงว่าเขาปล่อยวางได้เพราะมีปัญญาเห็นความจริงหรือสัจธรรมของโลก เห็นว่า ชนะ-แพ้ สรรเสริญ-นินทา เป็นของคู่กัน ไม่มีใครชนะโดยไม่แพ้เลย เช่นเดียวกับที่ไม่มีใครได้รับคำสรรเสริญ โดยไม่ถูกนินทา แม้กระทั่งพระพุทธเจ้า เมื่อเห็นความจริงนี้ก็ปล่อยวางได้เวลาเจอสิ่งที่ไม่ถูกใจหรือที่ท่านเรียกว่าอนิฏฐารมณ์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัญญาจะเกิดได้ ต้องอาศัยสติ หากขาดสติก็จะไม่เห็นความจริง

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ในสมัยที่ท่านเป็นพระหนุ่ม วันหนึ่งขณะที่ออกบิณฑบาต ท่านเห็นผู้หญิงกับลูกชายรอใส่บาตรจึงเดินไปรับบาตร เมื่อเข้าไปใกล้ เด็กชายวัย ๕ ขวบมองมาที่ท่านแล้วพูดว่า “มึงบ่แม่นพระดอก มึงบ่แม่นพระดอก” ท่านรู้สึกโกรธ แต่แล้วท่านก็มีสติ พอเห็นความโกรธของตนก็ได้คิดว่า “เออ จริงของมัน เราไม่ใช่พระหรอก ถ้าเราเป็นพระ เราต้องไม่โกรธซิ” เมื่อระลึกได้เช่นนี้ ท่านก็หายโกรธแล้วเดินไปรับบาตรด้วยใจปกติ การที่ท่านระงับความโกรธได้เป็นเพราะท่านฉลาดคิด เรียกว่ามีปัญญา หรือโยนิโสมนสิการ นอกจากจะไม่โกรธเด็กแล้ว ท่านยังเรียกเด็กคนนี้ว่าเป็นอาจารย์ของท่านอีกด้วย

ต๋อง ศิษย์ฉ่อยก็พูดทำนองเดียวกัน เวลาถูกคนต่อว่าหรือวิพากษ์วิจารณ์ “เราต้องเรียกคนพวกนี้ว่าเป็นอาจารย์เลย เราต้องผ่านเขาให้ได้ เพราะถ้าเราผ่านไม่ได้ เราไม่มีสิทธิ์ประสบความสำเร็จหรอก” เล็ก วิริยประไพ เศรษฐีเจ้าของเมืองโบราณ เคยพูดว่า “วันไหนไม่ถูกตำหนิ วันนั้นอัปมงคล” คำตำหนิเป็นอัปมงคล เพราะคนร่ำรวยมักจะหลงได้ง่าย เนื่องจากมีคนป้อยออยู่เสมอ ทำให้หลงตัวลืมตนได้ง่ายว่า กูเก่ง กูเก่ง จนคิดว่าตนทำผิดไม่เป็น แต่การโดนคนตำหนิจะช่วยฉุดใจเราให้กลับมาอยู่กับความเป็นจริง เห็นตัวเองว่าไม่ใช่เทวดา การมองเห็นประโยชน์ของคำตำหนิหรือคำวิพากษ์วิจารณ์ ก็ถือว่าเป็นปัญญาอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้ปล่อยวาง ไม่ทุกข์เพราะคำพูดเหล่านั้น

เราจะเห็นว่าการปล่อยวางทำได้หลายวิธี เช่น สติ สมาธิ ปัญญา และไม่ใช่เอามาใช้ในยามที่มีปัญหาหรือตกอยู่ในสถานการณ์ตั้งรับเท่านั้น ไม่ใช่ปล่อยวางเมื่อของหาย สูญเสีย แต่เรายังสามารถปล่อยวางในสถานการณ์ที่เราเป็นฝ่ายรุกก็ได้ เช่น ทำงานด้วยใจปล่อยวาง ปล่อยวางอดีตและอนาคต รวมทั้งปล่อยวางผลงาน เมื่อทำงานใจก็อยู่กับงาน ทำความเพียรให้เต็มที่ มีสุภาษิตจีนกล่าวว่า “ความพยายามอยู่ที่มนุษย์ ความสำเร็จอยู่ที่ฟ้า” สุภาษิตนี้สอนให้เราทำความเพียรอย่างเต็มที่ อย่าไปกังวลหรือห่วงความสำเร็จ เพราะนั่นเป็นเรื่องของฟ้า ไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา พุทธศาสนาเรียกว่า เหตุปัจจัย ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้เพราะมีเหตุปัจจัยมากมาย ซึ่งเราควบคุมไม่ได้ตั้งเยอะแยะ แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ก็คือทำความเพียรอย่างเต็มที่ ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ส่วนเรื่องผลสำเร็จนั้น เราควรปล่อยวาง นี้เรียกว่าปล่อยวางผลงาน


เหนื่อยสองอย่าง

มีรายการทีวีหนึ่งชื่อ “พลเมืองเด็ก” เขานำเด็ก 3 คน มาทำงานด้วยกัน เพื่อดูวิธีการแก้ปัญหาของเด็กๆ คราวหนึ่งเขาให้เด็กขนของขึ้นรถไฟ รถไฟมีตารางเวลาที่แน่นอน ดังนั้นจึงต้องรีบขน บังเอิญวันนั้นมีการถ่ายทอดสดการชกของ สมจิตร จงจอหอ เด็กผู้ชายสองคนที่อยู่ในทีมทิ้งงานไปดูถ่ายทอดสด ปล่อยให้เพื่อนซึ่งเป็นผู้หญิงขนของขึ้นรถไฟอยู่คนเดียว ผู้ดำเนินรายการถามเด็กผู้หญิงว่า รู้สึกอย่างไรที่ถูกทิ้งให้ทำงานคนเดียว เด็กผู้หญิงตอบว่า เห็นใจเพื่อนสองคนนั้นเพราะเป็นแฟนของสมจิตร จงจอหอ หนูไม่ค่อยสนใจมวยเท่าไร ไม่เป็นไรก็ให้เขาไปดูมวย ได้ฟังเช่นนี้พิธีกรจึงถามแหย่ว่า หนูไม่โกรธหรือคิดจะด่าว่าเขาหรือที่ทิ้งให้หนูทำงานคนเดียว เด็กตอบว่า “หนูขนของขึ้นรถไฟหนูก็เหนื่อยอย่างเดียว แต่ถ้าหนูโกรธเขาหนูก็เหนื่อยสองอย่าง”

เวลาเจอสถานการณ์แบบนี้เรามักจะเหนื่อยสองอย่าง คือเหนื่อยกายและเหนื่อยใจ แต่เด็กคนนี้ฉลาดคือเลือกเหนื่อยอย่างเดียว คือเหนื่อยกาย แต่ไม่เหนื่อยใจ คือทำงานของตัวให้ดีที่สุด โดยไม่บ่นก่นด่าเพื่อน นี้คือสิ่งที่เราควรทำ เมื่อได้เวลาทำงานก็ควรทำงานของตัวให้ดีที่สุด เรื่องอื่นเดี๋ยวค่อยว่ากัน อย่ามัวทำไป บ่นไป เช่น บ่นเจ้านายว่าทำไมให้งานชิ้นนี้เรา ทำไมเพื่อนทิ้งเราไป อย่างนี้เรียกว่ายังไม่ปลอ่ยวางอดีต ขณะเดียวกันก็ควรปล่อยวางอนาคต คือไม่ต้องห่วงกังวลว่าเมื่อไรจะเสร็จ ถ้าไม่บ่นเราจะมีพลังเอาไว้ทำงานอีกเยอะเลย นอกจากนี้เราต้องปล่อยวางความคาดหวังด้วย เพราะความคาดหวังเป็นเรื่องของอนาคต

ต๋องเคยพูดไว้ว่า เมื่อเขาจะลงแข่งขันในนัดสำคัญๆ นั้น เขาจะพูดกับตัวเองว่า “นี่คือแมตช์ที่สำคัญที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเล่นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีผลกับเรา” การคิดแบบนี้ทำให้เขาเล่นด้วยใจที่ผ่อนคลาย ซึ่งมักทำให้งานออกมาดี นักฟุตบอลระดับโลกบางครั้งเตะลูกโทษไม่เข้าก็เพราะวางใจแบบนี้ไม่ได้ เวลาคิดว่าการเตะลูกโทษลูกนี้สำคัญมาก ถ้าเตะเข้าก็ได้แชมป์ ถ้าไม่เข้าก็ซวย ถูกคนด่ารอบสนาม พอคิดแบบนี้ก็มักเตะลูกโทษไม่เข้า เพราะเกร็ง ใจไม่ปล่อยวาง


วางจากผลของงาน

ารทำงานอย่างปล่อยวางไม่ใช่การปล่อยปละละเลย เพียงแต่เป็นการไม่คาดหวังผลสำเร็จ มีความสุขในการทำงานโดยไม่ต้องรอให้งานเสร็จก่อนแล้วจึงสุข แต่เป็นความสุขในขณะที่ทำ การปล่อยวางอย่างแท้จริง ต้องปล่อยวางแม้กระทั่งความสำเร็จ คือสำเร็จก็ไม่ดีใจมาก ไม่ยินดีมาก หากไม่สำเร็จก็ไม่เสียใจมาก ดีก็ไม่เป็นไร ไม่ดีก็ไม่เป็นไร ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า “ทำงานโดยยกผลงานให้เป็นความว่าง” ท่านแนะให้ทำเต็มที่ แต่ให้ยกผลงานเป็นของความว่าง คืออย่าไปยึดว่าเป็นของเรา ถ้าเรายึดว่า ผลงานเป็นของเรา เมื่อใครวิจารณ์งาน เราก็จะโกรธเพราะคิดว่าเขาวิจารณ์เราด้วย นั่นคือ มีตัวกูรับคำวิจารณ์นั้นเต็ม ๆ จึงเป็นทุกข์

มีเรื่องของของหมอสองคน ซึ่งเกิดขึ้นเกือบร้อยปีมาแล้ว คนไข้เป็นเด็กเร่ร่อน อายุ 12 ปี ป่วยเป็นไข้ ถูกนำตัวมาให้หมอรักษา หมอใหญ่จึงให้หมอหนุ่มป้อนยา พอหมอหนุ่มป้อนยา ยังไม่ทันจะถึงปาก เด็กก็ปัดช้อนยาทิ้ง หมอโกรธมาก นึกในใจว่าฉันอุตส่าห์ช่วยเธอ ยังมาทำอย่างนี้อีก งั้นไม่ต้องกินยาแล้วกัน แล้วเขาก็เดินออกไป เมื่อหมอใหญ่เห็นเข้า จึงมาป้อนยาเอง เด็กก็ปัดอีกแต่หมอไม่โกรธ ในการป้อนครั้งที่สองหมอใหญ่บอกว่า ยาไม่ขมหรอก กินเถอะ เด็กก็ปัดอีก หมอก็ไม่โกรธ ป้อนยาเป็นครั้งที่สามคราวนี้ ยิ้มให้ด้วย เด็กก็ปัดอีก ยาหกเลอะเทอะ แต่หมอใหญ่ก็ไม่ล้มเลิกความตั้งใจ ครั้งที่สี่นี้นอกจากยิ้มให้ก็ยังทำท่าทำทาง อ้าปาก เพื่อให้เด็กทำตาม หมอใหญ่ยอมทำตัวเหมือนเด็ก ในที่สุดเด็กก็ยอมกินยา ความแตกต่างที่สำคัญของหมอสองคนนี้คือ อัตตา กับ เมตตา หมอหนุ่มนั้นคิดว่า กูเป็นหมอนะเว้ย แต่หมอใหญ่ นึกถึงแต่เด็ก า อยากให้เด็กหาย ในใจมีแต่เมตตา มานะหรืออัตตาจึงไม่อาจครอบงำจิตใจได้

เบื้องหลังความเป็นมาของเด็กคนนี้ก็คือเด็กเคยผิดหวังกับผู้ใหญ่บางคนมาก่อน ถูกหลอก จึงไม่ไว้ใจใคร และไม่อยากผูกพันกับใคร เพราะกลัวว่าจะผิดหวังอีก หมอใหญ่เข้าใจปัญหาเด็กเร่ร่อน จึงรู้ว่าทำไมเด็กคนนี้จึงมีพฤติกรรมก้าวร้าวแบบนี้ ความเข้าใจหรือปัญญา ทำให้หมอใหญ่มีเมตตา ไม่ถือสาเด็ก ปล่อยวางได้ และสามารถชนะใจเด็กได้ในที่สุด

นี้เป็นตัวอย่างว่าการทำงานอย่างปล่อยวาง โดยเฉพาะการปล่อยวางอัตตา ทำให้งานสำเร็จมากกว่า งานได้ผล คนเป็นสุข ในชีวิตของเราจะต้องเจอกับเรื่องที่มากระทบมากมาย อุปสรรคเยอะแยะ สิ่งที่จะช่วยได้คือการปล่อยวาง โดยมีพื้นฐานคือ สติ สมาธิ ปัญญา


ข้อมูลจาก : งานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล 


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์