แก่นของการปฎิบัติธรรม

แก่นของการปฎิบัติธรรม

การทำสมาธิ จะนั่งท่าไหนก็ได้ จะลืมตาหรือหลับตาก็ได้

แล้วแต่ความถนัดของแต่ละบุคคล ไม่ใช่ต้องนั่งท่านั้น หันไปทิศนี้ ฯลฯ

หรือการเดินจงกรม ก็คือการก้าวไปอย่างมีสติ

ให้เราสนใจแก่นคือการมีสติขณะที่เดินอยู่ทุกย่างก้าว

เพราะการเดินจงกรม ไม่ได้หมายถึงการเดินเหม่อกลับไปกลับมา

แต่ทุกย่างก้าวจะต้องมีสติสัมปชัญญะกำกับอยู่เสมอ

ถึงอยู่ในอิริยาบถอื่น ก็ต้องมีสติสัมปชัญญะกำกับอยู่เสมอเช่นกัน

ส่วนการสวดมนต์ไหว้พระ ก็ต้องไหว้ให้ถึงใจ

คือระลึกถึงพระรัตนตรัยด้วยความมีสติ มีความสงบเบิกบาน

ไม่ใช่นั่งท่องปาวๆ ไปเฉยๆ แบบเด็กท่องอาขยาน

(ไม่ทราบว่าเด็กเดี๋ยวนี้ยังท่องกันหรือเปล่า)

แล้วการปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้อาศัยลูกฟลุ้ค

เช่นปล่อยตามใจชอบ นึกได้เมื่อไรก็ทำเมื่อนั้น

แต่จำเป็นจะต้องปลูกฉันทะคือความพอใจที่จะมีสติสัมปชัญญะไว้ในใจ

พอมีฉันทะแล้ว วิริยะคือความเพียรก็จะเกิดขึ้น

เราจะขยันเจริญสติสัมปชัญญะโดยอัตโนมัติ

ไม่ใช่รีบมาดูเอาตอนที่กำลังจะได้พบครูบาอาจารย์เท่านั้น

แล้วจิตก็จะเกิดความใส่ใจ เกิดความใคร่ครวญในธรรม

มีความเบิกบานบันเทิงใจในการปฏิบัติธรรมไปได้ตลอดสาย

ไม่รู้สึกฝืดหรือฝืนใจที่จะปฏิบัติ แต่สนุกที่จะปฏิบัติ

พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนเสมอในเรื่องการมีความเพียร

แต่การเพียรนั้น ไม่ใช่เอาแรงเข้าแลกอย่างเดียว

และก็ไม่ได้สู้แบบมวยวัด ไม่รู้เหนือรู้ใต้

แต่ให้มีสติสัมปชัญญะรู้ของจริงในกายในจิตไปอย่างซื่อๆ ตรงๆ

เพราะแก่นของการปฏิบัติอยู่ที่การเจริญสติสัมปชัญญะให้ถูกต้องและต่อเนื่อง

ไม่ได้อยู่ที่รูปแบบ พิธีการ อันเป็นเพียงเปลือกนอก

ของการทำสมาธิ สวดมนต์ เดินจงกรม ฯลฯ

โดยคุณ สันตินันท์


แก่นของการปฎิบัติธรรม

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์