ปฏิบัติตนเพื่อหนีนรก ยึดสังโยชน์ 3 ประการเป็นพื้นฐาน สังโยชน์ 3 ประการ

Trader Hunter พบธรรม

ปฏิบัติตนเพื่อหนีนรก หนังสือปฏิบัติตนเพื่อหนีนรกนี้ ยึดสังโยชน์ 3 ประการเป็นพื้นฐาน สังโยชน์ 3 ประการ

1. สักกายทิฏฐิ
2. วิจิกิจฉา
3. สีลัพพตปรามาส
สังโยชน์ 3 ประการนี้ สำหรับข้อที่ 1 คือ สักกายทิฏฐิ ตามแบบท่านอธิบายไว้ในหลักสูตรนักธรรม ชั้นโท เป็นคำอธิบายถึงอารมณ์พระอรหันต์ ถ้าจะปฏิบัติกันตามลำดับแล้ว ต้องใช้อารมณ์ตามลำดับคือ ใช้ อารมณ์ ขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นสูงสุด
อารมณ์ขั้นต้นนั้น ให้ใช้อารมณ์แบบเบาๆ คือ มีความรู้สึกตามธรรมดาว่า ชีวิตนี้ต้องตาย ไม่มี ใครเลยในโลกนี้ที่จะทรงชีวิตได้ตลอดกาลไปคู่กับฟ้าดิน ในที่สุดก็ต้องตายเหมือนกันหมด แต่ท่านให้ใช้อารมณ์ ให้สั้นเข้า คือ มีความรู้สึกไว้เสมอว่า ความตายไม่ใช่จะมาถึงเราในวันพรุ่งนี้ ให้คิดว่า เราอาจจะตายวันนี้ไว้เสมอ จะได้ไม่ประมาทในชีวิต จะได้รีบรวบรัดปฏิบัติความดีไว้ การทำความดีหมายถึง พูดดี ทำดี คิดดี รวม 3 ดีนี้ถ้ามีเป็นปกติประจำวัน เมื่อยังไม่ตาม ยังอยู่เป็นคน ก็เป็นคนดี ถ้าตายเมื่อไร ตายแล้วท่านเรียกว่า เป็นผี ก็เป็น ผีดี คือทิ้งความดีไว้ให้คนที่อยู่ข้างหลังยังบูชา
อารมณ์ขั้นกลาง ท่านให้ทำความรู้สึกเป็นปกติว่า ร่างกายของคนและสัตว์ตลอดจนวัตถุทุกชนิดเป็นของสกปรกทั้งหมด ร่างกายคนและสัตว์ มีสิ่งที่น่ารังเกียจฝังอยู่ก็คือ อุจจาระ ปัสสาวะ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง เป็นต้น ทั้งหมดนี้ไม่มีใครบอกว่าเป็นของ สะอาด แต่ก็มีประจำร่างกายทุกคน ถ้าไม่ค่อยทำความสะอาด เช็ด ล้าง มันก็เกิดอาการสกปรก มีแต่ความมัวหมอง เป็นของที่ไม่พึงปรารถนา เมื่อมีความรู้สึกตามนี้ ก็พยายามทำอารมณ์ให้ทรงตัวจนเกิดความเบื่อหน่ายในร่างกายทั้งหมด ไม่ยึดถือว่าร่างกายใดเป็นที่น่ารักน่าปราถนา
อารมณ์สูงสุด มีความรู้สึกตามนี้ คือมีความรู้สึกว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย และร่างกายไม่มีในเรา มีอาการ วางเฉยในร่างกายทุกประเภทเป็นอารมณ์ของพระอรหันต์
ที่เขียนมานี้ เขียนเพื่อบอกให้รู้ถึงลักษณะของสักกายทิฏฐิเท่านั้น ความมุ่งหมายของหนังสือนี้ ต้องการความรู้สึกเพียงแค่อารมณ์ขั้นต้นเท่านั้น เพราะมีอารมณ์เพียงขั้นต้นทุกคนก็พ้นอบายภูมิแล้ว คือถ้าจะมีการเกิดอีก อย่างช้าก็เป็นมนุษย์อีก 7 ชาติ อารมณ์เข้มแข็งอย่างกลาง เกิดเป็น มนุษย์อีก 3 ชาติ ถ้าอารมณ์เข้มแข็งมาก เกิดเป็นมนุษย์อีกชาติเดียว ต่างก็ไปนิพพานหมด จะมีการเกิดได้เพียงมนุษย์สลับกับเทวดาหรือ พรหมเท่านั้น ไม่มีการลงอบายภูมิ 4 มี นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน 4 ภูมินี้ไม่ลงไปอีก แม้บาปเก่าจะสั่งสมไว้เท่าไรก็ตามที บาปไม่มีโอกาส จะดึงลงอบายภูมิได้ เพราะ บุญคือความดี มีกำลังเข้มแข็งกว่า แต่ต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนทั้ง 3 ข้อของสังโยชน์ ความจริงก็ไม่มีอะไร หนัก ถ้าตั้งใจทำจริงและคอยระวังไม่ให้พลั้งพลาด ใหม่ๆ อารมณ์เก่ายังเกาะใจ ก็อาจจะมีการพลั้งพลาดบ้างเป็นธรรมดา แต่ถ้า ระวังไว้เป็นปกติ ไม่เกิน 3 เดือน อารมณ์ก็ทรงตัว ต่อไปนี้ก็ยิ้มเยาะอบายภูมิได้สบาย บาปหมดหวังที่จะทวงหนี้ เอาไปชดใช้หนี้สิน ในอบายภูมิอีกต่อไป มีทางเดียวคือ เดินทางตรงไปนิพพาน
ปฏิบัติสังโยชน์ 3 ประการครบ
สังโยชน์ 3 ประการนี้มีการปฏิบัติอยู่ 2 ระดับ คือ ระดับอ่อน กับ ระดับเข้มข้น จะพูดถึงการปฏิบัติระดับอ่อนก่อน ระดับอ่อนนี้ พ้นอำนาจบาปแล้วไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะ ไปนรก เป็นต้น อีก ท่านปฏิบัติกันอย่างนี้
1. ตื่นขึ้นเช้ามืด มีความรู้สึกประจำอารมณ์ว่า เราอาจจะตายวันนี้ก็ได้ เราต้องรวบรัดปฏิบัติเฉพาะความดี ทำตนหนีความชั่ว คือ
2. พิจารณาความดีของ พระพุทธเจ้า พระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์ สาวกของพระพุทธเจ้า ด้วยปัญญา พิจารณาดูว่าท่านดีพอที่เราจะยอมรับนับถือไหม ถ้ามีปัญญาพิจารณาแล้วว่าดีพอที่จะยอมรับนับถือได้ ก็ตัดสินใจยอมรับนับถือ ด้วยความจริงใจ และปฏิบัติตามคำแนะนำของท่าน สิ่งใดที่ท่านให้เราละ เราไม่ทำ สิ่งใดที่ท่านแนะนำให้ทำ เราทำตามด้วยความเต็มใจ
หมายเหตุ สำหรับพระสงฆ์นั้น อาตมาจัดให้ยอมรับนับถือเฉพาะพระอริยสงฆ์นั้น ความจริงปกติสงฆ์ก็ยอมรับนับถือได้ ถ้าท่านผู้นั้น ปฏิบัติตนสมควรแก่ผ้ากาสาวพัสตร์ แต่ว่านักบวชท่านใด ปฏิบัติตนไร้แม้แต่ศีลห้าบางข้อ ก็ไม่ควรให้แม้แต่ข้าวบูดกิน เพราะเลวเกินไป เลวกว่า ชาวบ้านที่ท่านทรงความดี ส่วนใหญ่นักบวชพวกนี้ ความเลวจะไหลออกทางปากก่อน ให้สังเกตที่ปากเป็นอันดับแรก เมื่อปากเลว ก็ไม่มี อะไรเหลือ ทั้งนี้เพราะปากหรือกายจะพูดจะทำอะไร ใจเป็นผูสั่ง เมื่อใจเลวแล้ว ปากและกายก็เลวไปด้วย เป็นอันว่าเลวหมดทั้งตัว
สำหรับพระอริยสงฆ์นั้น ท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตรงไปตรงมา ไหว้ได้ทุกเวลา ยอมรับนับถือได้
3. สังโยชน์ข้อที่ 3 พยายามรักษาศีลให้บริสุทธิ์ สำหรับฆราวาส ก็มีศีล 5 เป็นหลักที่จะปฏิบัติ แต่หนังสือนี้ไม่มุ่งเฉพาะสอนพระ สอนเณร เพราะเป็นนักบวชอยู่แล้ว คิดว่าคงมีอารมณ์ความดีตัดสังโยชน์ 3 ได้เป็นอย่างน้อย แต่ถ้าบังเอิญไม่ได้ก็ไม่เกณฑ์ให้ตัด สุดแล้วแต่ ความพอใจของแต่ละท่าน
เรื่องการทรงอารมณ์ในศีก 5 เคยได้รับคำแนะนำจาก สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดอนงคาราม ท่านเคยแนะนำ เมื่อสมัยที่ผู้เขียนยังเป็น นักเทศน์ ท่านเคยถามว่า
"ไปเทศน์ สอนชาวบ้าน มีความรู้สึกว่าชาวบ้านทรงศีล 5 ได้ครบเป็นปกติไหม"
ได้กราบเรียนท่านว่า "เทศน์แนะนำเท่าไรก็ไม่มีผล เคยไปเทศน์แล้วครั้งหนึ่ง ปีต่อไปไปเทศน์อีก พวกท่านเหล่านั้นก็ยังก๊งเหล้ากันตามเคย"
ท่านก็พูดว่า "ที่เป็นอย่างนั้นไม่ใช่ชาวบ้านโง่ ฉันว่านักเทศน์โง่มากกว่า"
ท่านแนะนำต่อไปว่า "คนที่จะให้เขารักษาศึล 5 ครบทุกคนนั้นไม่ได้ ทั้งนี้ต้องสุดแล้วแต่กำลังใจของคน คนฟังเทศน์ทั้งศาลา ต้องมีคนดี มีกำลังใจ เต็มผสมอยู่ นักเทศน์เทศน์แนะนำให้เขาละไม่ได้ ก็แสดงว่านักเทศน์องค์นั้นโง่กว่าคนฟังเทศน์"
ได้กราบเรียนถามท่านว่า "จะแนะนำแบบไหน ให้เขารักษาศีล 5 ครบได้"
ท่านก็แนะนำว่า "จงอย่าหวังว่าเขาจะเชื่อเราทุกคน จงดูพระพุทธเจ้า เวลาท่านไปเทศน์โปรด ท่านมุ่งเจาะเฉพาะคนที่ถึงเวลาบรรลุมรรคผลเท่านั้น ท่านไม่ห่วงคนอื่น เพราะถ้าขืนห่วงคนอื่น ก็จะพากันไม่ได้อะไรทั้งหมด นักเทศน์ก็เหมือนกัน เมื่อไปเทศน์ให้สังเกตคนฟัง ถ้าท่าทางดีพอที่จะแนะนำ ได้ จึงควรแนะนำ ถ้าท่าทางไม่ดี ไม่มีท่าว่าจะเอาจริง ก็จงเทศน์หว่านไปแบบธรรมดาๆ การแนะนำควรใช้วิธี 2 วิธี เพราะความเข้มแข็งของกำลังใจ คนไม่เท่ากัน"
แนะนำคนที่มีกำลังใจเข้มแข็ง
คนที่มีกำลังใจเข้มแข็ง แนะให้ตั้งใจรักษาศีลให้ครบ 5 ข้อ วันละ 3 ชั่วโมง คือตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 9 โมงเช้า ในเวลาเท่านี้ จะอย่างไรก็ตามจะไม่ ยอมละเมิดศีลเด็ดขาด ถ้าเธอปฏิบัติตามนี้ได้ ไม่เกิน 3 เดือน เธอมีหวังรักษาศีล 5 ครบทุกสิกขาบทได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะการระมัดระวัง ศีลทั้ง 5 ข้อวันละ 3 ชั่วโมงนั้น เป็นการทรงฌานในสีลานุสสติวันละ 3 ชั่วโมง เพราะเป็นอนุสสติ ไม่ต้องไปนั่งหลับตาภาวนา เอาใจคอยระวังไม่ ให้พลั้งพลาด เท่านี้ก็เป็นฌานแล้ว
ท่านผู้อ่านโปรดทราบ คำว่า ฌาน นั้น ความหมายจริงๆก็คือ อารมณ์ชิน คือมีอารมณ์ทรงอย่างนั้นเป็นปกติ อย่างพวกเรา ชินกับความทุกข์จนไม่เข้าใจว่ามันเป็นความทุกข์ นั่นก็คือ ความหิว ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ เป็นต้น มีทุกวันจนชิน เลยไม่เข้าใจว่าเป็นทุกข์ เห็นเป็นของธรรมดาไป คำว่า ฌาน ก็เหมือนกัน มีอารมณ์เป็นปกติจนไม่มีอะไรต้องระวัง หรือมีความหนักใจ
แนะผู้มีอารมณ์ใจเข้มแข็งน้อย
คนที่มีอารมณ์เข้มแข็งน้อย หรือที่เรียกว่า มีกำลังใจค่อนข้างอ่อนแอ แต่มีแววที่พอจะทำได้ ให้เลือกปฏิบัติเอาจริงเอาจังเป็นข้อๆ ที่พอจะทำได้ ให้เอาชนะจริงๆ ข้อใดข้อหนึ่งไปเลย เมื่อขนะข้อใดข้อหนึ่งแน่นอนแล้ว ก็ค่อยๆ เลือกเอาข้อที่เห็นว่าง่าย ไม่นานเท่าไรก็ชนะหมดทุกข้อ
สรุปอารมณ์หนีนรก
สรุปแล้ว อารมณ์ หรือการปฏิบัติตหนีนรก จนนรกตามไม่ทันต่อไปทุกชาตินั้น มีอารมณ์โดยย่อดังนี้
1. มีความรู้สึกว่าชีวิตนี้ต้องตายแน่
2. ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า
3. ฆราวาสมีศีล 5 ทรงอารมณ์เป็นปกติ
ทั้ง 3 ประการนี้ เป็นอารมณ์ในขณะที่ปฏิบัติ เมื่ออารมณ์ทรงตัวแล้ว อารมณ์ที่ปักหลักมั่นคงอยู่กับใจจริงๆ ก็เหลือ เพียงสอง ที่ท่านเรียกว่า องค์ ก็คือ
1. ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้ามั่นคงจริง
2. มีศีล 5 บริสุทธิ์ผุดผ่องจริง
เพียงเท่านี้ นรกก็ดี เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เราผ่านได้ ไม่ต้องไปอยู่หรือเกิดในเขตนี้อีกต่อไป ถ้าจะถามว่า บาป กรรมที่ทำแล้วไปอยู่ไหน ก็ต้องตอบว่ายังอยู่ครบ แต่เอื้อมมือมาฉุดกระชากลากลงไม่ถึง เพราะกำลังบุญเพียงเท่านี้ มีกำลังสูงกว่าบาป บาปหมดโอกาสที่จะลงโทษต่อไป
จากหนังสือเรื่อง "หนีนรก" โดย พระราชพรหมยาน วัดจันทาราม (ท่าซุง)

ปฏิบัติตนเพื่อหนีนรก ยึดสังโยชน์ 3 ประการเป็นพื้นฐาน สังโยชน์ 3 ประการ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์