การที่จะอธิบายเรื่อง “ วิชชา “ และ “ อวิชชา “ นั้น

ขอขอบคุณภาพและเนื้อหาจากเพจ Trader Hunter พบธรรม

การที่จะอธิบายเรื่อง “ วิชชา “ และ “ อวิชชา “ นั้น จะต้องมีคำบาลีเข้ามาสอดแทรกอยู่บ้าง แต่ก็จะพยายามอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายและมากที่สุดก็แล้วกัน

คำว่า “ วิชา “ มาจากภาษาบาลีที่เขียนว่า วิชฺชุ หมายถึง ความรู้ที่ได้จากการเล่าเรียน หรือฝึกฝน หรืออาจจะเป็นความรู้ที่ได้มาจากการที่บุคคลหนึ่งถ่ายทอดให้ผู้อื่นก็ได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการเรียนการสอนในห้องเรียนเสมอไป

ส่วนคำว่า “ วิชชา “ ในพระพุทธศาสนา หมายถึง การรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงที่มีอยู่ เป็นความรู้พิเศษ ได้มาจากการฝึกฝนในการทำสมาธิวิปัสสนา ซึ่งวิชชาในบาลีนี้มีทั้งวิชชา ๓ และ วิชชา ๘

วิชชา ๓ ได้แก่

๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ - ญาณเป็นเหตุระลึกขันธ์ที่อาศัยอยู่ในปางก่อน คือ การระลึกชาติได้

๒. จุตูปาตญาณ - ญาณกำหนดรู้จุติ (ตาย) และอุบัติ (เกิด) แห่งสัตว์ทั้งหลาย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทิพพจักขุญาณ หรือตาทิพย์

๓. อาสวักขยญาณ - ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะ (กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน) ทั้งหลาย คือการตรัสรู้

คำว่า “ ญาณ “ ในที่นี้ หมายถึง ความปรีชาหยั่งรู้ หรือกำหนดรู้ที่เกิดจากอำนาจสมาธิวิปัสสนา

เรื่องของวิชชา ๓ นี้ มักปรากฏในตอนที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเล่าลำดับการตรัสรู้ของพระองค์ ตั้งแต่การออกบวช การทรมานตน...จนถึงวันที่ตรัสรู้

ตรัสเล่าปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ว่า “ ...เรานั้น เมื่อจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งอยู่ ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่อญาณเป็นเครื่องตามระลึกถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่แล้วในภพก่อน...คือ ตามระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง เราตามระลึกถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่แล้วในภพก่อนได้หลายประการ...ในปฐมยามแห่งราตรี เราได้บรรลุวิชชาที่หนึ่ง...”

ตรัสเล่าจุตูปาตญาณ ว่า “ ...เรานั้น ครั้นเมื่อจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ผ่องใส...ได้น้อมไปเพื่อญาณในจุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลาย เรานั้นมีจักษุทิพย์ หมดจดวิเศษล่วงจักษุของมนุษย์ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้จุติอยู่ อุบัติอยู่ ผู้เลวทราม ผู้ประณีต...เรารู้ชัดสัตว์ทั้งหลายผู้เข้าถึงตามกรรมว่า สัตว์ทั้งหลายที่ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต กล่าวติเตียนพระอริยเจ้าทั้งหลาย เป็นมิจฉาทิฏฐิ...เบื้องหน้าแต่กายแตกตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก...นี้เป็นวิชชาที่ ๒ ในมัชฌิมยามแห่งราตรี เราได้บรรลุวิชชาที่ ๒ เสียได้...”

อาสวักขยญาณ ทรงตรัสเล่า ว่า “...เราได้รู้ชัดค?วามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาดำเนินถึงความดับทุกข์ ได้รู้ความจริงว่า นี้อาสวะทั้งหลาย นี้เหตุให้อาสวะทั้งหลายเกิดขึ้น นี้ความดับอาสวะทั้งหลาย นี้ปฏิปทาดำเนินถึงความดับอาสวะทั้งหลาย...รู้ชัดว่า ชาติสิ้นสุดแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นเช่นนี้ ไม่มีอีก...วิชชาที่ ๓ เราได้บรรลุในยามสุดท้ายแห่งราตรี กำจัดอวิชชาเสียได้...”

วิชชา ๘ ได้แก่

๑. วิปัสสนาญาณ (ญาณทัสสนะ) - ญาณในวิปัสสนา หรือญาณที่เป็นวิปัสสนา คือ ปัญญาที่พิจารณาเห็นสังขาร นามรูปโดยไตรลักษณ์ (นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แปลง่าย ๆ ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา) มีต่างกันออกไปเป็นชั้น ๆ ต่อเนื่องกัน

๒. มโนมยิทธิ - ฤทธิ์สำเร็จด้วยใจ, ฤทธิ์ทางใจ คือ นิรมิตกายอื่นออกจากกายนี้ได้

๓. อิทธิวิธา หรือ อิทธิวิธิ – ความรู้ที่ทำให้แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้

๔. ทิพพโสต – ญาณที่ทำให้มีหูทิพย์

๕. เจโตปริยญาณ - ความรู้ที่กำหนดใจผู้อื่นได้

๖. ปุพเพนิวาสานุสสติ - ระลึกชาติได้

๗. ทิพพจักขุ – ตาทิพย์

๘. อาสวักขยญาณ – ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ

สำหรับวิชชา ๘ นี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระเจ้าอชาตศัตรู โดยแสดงต่อจากคำบรรยายเรื่องการบรรลุฌานที่ ๔ แล้วมีจิตน้อมไปเพื่อการเกิดวิชชา ๘ นี้

วิปัสสนาญาณ ตรัสอธิบายว่า “ ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ...ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรานี้แล มีรูปประกอบด้วยมหาภูต ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) เกิดจากมารดาบิดา เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยงมีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้ “

มโนมยิทธิ ตรัสอธิบายว่า “ ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ...ย่อมน้อมไปเพื่อนิรมิตรูป อันเกิดแต่ใจ คือนิรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง “

อิทธิวิธิ ตรัสอธิบายว่า “ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคน หลายคนเป็นคนเดียว ทำให้ปรากฏก็ได้ หายไปก็ได้ ทะลุกำแพงภูเขาไปดุจไปในที่ว่าง เดินบนน้ำไม่แตกดุจเดินบนแผ่นดิน เหาะไปในอากาศ...."

ทิพพโสต ตรัสว่า “ เธอย่อมได้ยินเสียงสองชนิด คือ เสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์ ทั้งใกล้และไกล “

เจโตปริยญาณ ตรัสว่า “ เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น บุคคลอื่นด้วยใจ รู้ว่าจิตนั้นมีราคะหรือไม่มี จิตนั้นหลุดพ้นหรือยังไม่หลุดพ้น...”

วิชชาข้อที่ ๖ – ๘ คือ วิชชา ๓ ที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น
ส่วนข้อที่ ๓ – ๘ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อภิญญา ๖

ในตำราวิสุทธิมรรคกล่าวไว้ว่า ผุ้ที่จะมีวิชชา ๘ ได้ จะต้องผ่านการเข้าฌานขั้นต่าง ๆ และต้องมีความชำนาญในกสิน ๘ ซึ่งมีรายละเอียดอีกมาก จึงไม่ขอนำมากล่าวในที่นี้

และเมื่อพูดถึงวิชชาแล้ว ก็ควรจะรู้ไปถึง อวิชชา ด้วย

อวิชชา ภาษาบาลีเขียนว่า อวิชฺชา หมายถึง ความไม่รู้แจ้ง คือไม่รู้ในความเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ โดยถูกต้องแจ่มแจ้ง ไม่ได้หมายถึงความไม่รู้ในศิลปะวิชาการต่าง ๆ หรือความไม่รู้ร้อนรู้หนาว เป็นต้น ซึ่งมีอยู่ ๘ ประการ แต่จะไม่พูดถึงในเชิงบาลี เพราะจะทำให้เข้าใจยาก พูดตามภาษาธรรมดา ๆ อวิชชา ๘ ได้แก่

๑. ไม่รู้จักทุกข์ คือไม่รู้ว่านี้เป็นทุกข์

๒. ไม่รู้จักเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ คือเมื่อรู้ว่ากำลังทุกข์ แต่ไม่รู้ว่าอะไรทำให้เป็นทุกข์

๓. ไม่รู้จักการดับทุกข์

๔. ไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

๕. ไม่รู้จักอดีต

๖. ไม่รู้จักอนาคต

๗. ไม่รู้จักทั้งอดีตทั้งอนาคต

๘. ไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาท คือไม่รู้ธรรมทั้งหลายที่อาศัยกันจึงเกิดมีขึ้นตามหลักอิทัปปัจจยตา หรือความเป็นไปตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย เช่น เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี, เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เป็นต้น

(๔ ข้อแรก คือการไม่รู้อริยสัจ ๔ นั่นเอง)

จะว่าไปแล้ว อวิชชา เป็นสภาวะธรรมของมนุษย์ที่มีมาพร้อมกับการเกิดขึ้นในโลก หรือเป็นธรรมชาติของคนที่ย่อมต้องเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้ โดยเฉพาะความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะยังไม่ได้มีการศึกษา สะสมการปฏิบัติ?ภาวนา

การที่จะดับอวิชชาลงได้นั้น จึงต้องมีวิชชา หรือความรู้แจ้งในธรรมที่พระพุทธองค์ทรงมีเมตตาอบรมสั่งสอนไว้ อันมีสติ และสมาธิเป็นรากฐาน เป็นเครื่องสนับสนุนให้เกิดปัญญา และต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเองเท่านั้น ไม่มีใครสามารถทำให้เราเกิดการรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงที่มีอยู่ได้ นอกจากตัวของเราเอง

ตโต มลามลตรํ อวิชฺชา ปรมํ มลํ
เอตํ มลํ ปหนฺตวาน นิมฺมลา โหถ ภิกฺขโว

บรรดามลทินใหญ่น้อยทั้งหลายย่อมมาจากอวิชชา ซึ่งเป็นมลทินอย่างยิ่ง
ภิกษุทั้งหลายจงละมลทินนี้เสีย และเป็นผู้ไม่มีมลทินเถิด


การที่จะอธิบายเรื่อง “ วิชชา “ และ “ อวิชชา “ นั้น

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์