การทำบุญที่ ท่านพระอาจารย์มั่นฯ สรรเสริญ

การสั่งสอนญาติโยมชาวบ้านหนองผือของท่านพระอาจารย์มั่นในสมัยนั้น ส่วนมากท่านจะเน้นให้ญาติ โยมสมาทานศีลห้าเป็นหลัก ส่วนศีลแปดหรือศีลอุโบสถ ท่านไม่ค่อยจะเน้นหนักเท่าไหร่ท่านกล่าวว่า ศีลห้าเหมาะสมที่สุดสำหรับฆราวาสญาติโยมผู้ครองเรือน ถ้างดเว้น ตลอดไปไม่ได้ก็ขอให้งดเว้นให้ได้
ในวันพระวันศีล สำหรับการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนั้นท่านบอกว่า "สัตว์ที่มีบุญคุณนั้นห้ามเด็ดขาด" นอกจากนั้นท่านกล่าวว่า "จะงดเว้นไม่ได้ดอกหรือ เพียงวันสองวันเท่านั้น การกินในวันรักษาศีลจะกินอะไรก็คงได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น สัตว์ที่ฆ่าเอง แค่นี้ทำไม่ได้หรือ ไม่ตายดอก..."
สำหรับการขอศีลนั้น ท่านไม่นิยมนิยมให้ขอ และท่านก็ไม่เคยให้ศีล (ตอนอยู่หนองผือ) ท่านให้ใช้วิธีรัดงดเว้นเอาเลย ไม่ต้อง ไปขอจากพระซ้ำๆ ซากๆ ผู้ใดมีเจตนาจะรักษาศีลจะเป็นศีลห้า ศีลแปดก็ตาม ให้ตั้งอกตั้งใจเอาเลย แค่นั้นก็เป็นศีลได้แล้ว
และการถวายทานในงานบุญต่าง ๆ ท่านก็ไม่นิยมให้กล่าวคำถวายเช่นกัน ท่านอธิบายว่า "บุญนั้นผู้ถวายได้ถวายได้แล้วสำเร็จแล้วตั้งแต่ตั้งใจ หรือเจตนาในครั้งแรก ตลอดจนนำมาถวายสำเร็จ ไม่จำเป็นต้องกล่าวอะไรอีก เพียงแต่ตั้งเจตนาดีเป็นกุศลหวังผลคือความสุข การพ้นจากทุกข์ทั้งปวงเท่านี้ก็พอแล้วนั่นมันเป็นพิธีการหรือกฏเกณฑ์อย่างหนึ่งของเขา ไม่ต้องเอาอะไรทุกขั้นทุกตอนดอก"
ครั้งนั้นมีศรัทธาญาติโยมจากสกลนคร เขาเป็นคนเชื้อสายจีน มีชื่อว่า เจ๊กไฮ แซ่อะไรนั้นเขาไม่ได้บอกไว้ เขามีความลื่อมใส ศรัทธาในองค์ท่านพระอาจารย์มั่นมาก ขอเป็นเจ้าภาพกฐินในปีนั้น เมื่อถึงเวลากำหนดกรานกฐินแล้ว จึงได้ตระเตรียมเดินทางมาพัก นอนค้างคืนที่บ้านหนองผือหนึ่งคืน โดยพักบ้านของทายกวัดคนหนึ่ง เพื่อจะได้จัดเตรียมอาหารคาวหวานสำหรับไปจังหันตอนเช้าด้วย
พอเช้าขึ้นพวกเขาจึงพากันนำเครื่องกฐินพร้อมกับเครื่องไทยทานอาหารต่างๆ เหล่านั้นไปที่วัด เมื่อถึงวัดล้างเท้าที่หัวบันไดแล้วพากัน ขึ้นบนศาลาวางเครื่องของ คุกเข่ากราบพระประธาน แล้วจึงรวบรวมสิ่งของ เครื่องผ้ากฐิน พร้อมทั้งของอันเป็นบริวารต่างๆ วางไว้ที่หน้าพระประธานในศาลา
ส่วนเจ๊กไฮ ผู้เป็นหัวหน้านำผ้ากฐินมานั้น เมื่อวางจัดผ้ากฐินพร้อมทั้งของอันเป็นบริวารต่างๆ เรียบร้อยแล้ว นั่งสักครู่ เห็นว่ายังไม่มีอะไร จึงพากันกราบพระประธาน (เจ๊กไฮ ก็กราบเหมือนกัน ท่าทางเหมือนคนจีนทั่วไปเขากราบนั่นแหละ)
แล้วเขาก็ลงจากศาลาไปเดินเลาะเลียบชมวัดวาอารามเฉยอย่างสบายอารมณ์ จนกระทั่งพระเณรกลับจากบิณฑบาตรแล้ว ขึ้นบนศาลาเตรียมจัด แจงอาหารลงบาตรจนเสร็จสรรพเรียบร้อยทุกองค์ ท่านพระอาจารย์มั่นจึงให้เรียกเจ๊กไฮมาเพื่อจะได้อนุโมทนารับพร ต่อไป แต่เจ๊กไฮ ก็ไม่มารับพรด้วย มีคนถามเขาว่า "ทำไมไม่รับพรด้วย" เขาบอกว่า "อั๊วได้บุญแล้ว ไม่ต้องรับพรก็ได้ การกล่าวคำถวายก็ไม่ต้องว่า เพราะอั๊วได้บุญตั้งแต่อั๊วตั้งใจจะทำบุญทีแรกแล้ว ฉะนั้นอั๊วจึงไม่ต้องรับพรและคำกล่าวถวายใดๆ เลย"
ภายหลังฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นได้พลิกวิธีคำว่าผ้ากฐินมาเป็นผ้าบังสุกุลแทน ท่านจึงพิจารณากองผ้ากฐิน เป็นผ้าบังสุกุล เสร็จแล้วท่านได้เทศน์ฉลองยกย่องผ้าบังสุกุลของเจ๊กไฮเป็นการใหญ่เลย ท่านกล่าวถึงผ้ากฐินนั้นได้รับอานิสงส์น้อยเพียง แค่ ๔ เดือนเท่านั้นไม่เหมือนกับผ้าบังสุกุลซึ่งได้อานิสงส์ตลอดไป คือ ผู้ใช้สามารถใช้ได้ตลอดไม่มีกำหนดเขตใช้จนขาดหรือใช้ไม่ได้จึงจะทำอย่างอื่นต่อไป และสุดท้ายท่านกล่าวอีกว่า
"ใครทำบุญก็ไม่เหมือนเจ๊กไฮทำบุญ เจ๊กไฮทำบุญได้บุญมากที่สุด พรเขาก็ไม่ต้องรับ คำถวายก็ไม่ต้องว่าเขาได้บุญตั้งแต่เขาออกจากบ้านมา บุญเขาเต็มอยู่แล้ว ไม่ตกหล่นสูญหายไปไหน บุญเป็นนามธรรมอยู่ที่ใจ อย่างนี้จึงเรียกว่า ทำบุญได้บุญแท้.."
ทุกคนที่ไปกฐินในครั้งนี้ต่างก็มีความปลาบปลื้มปีติในธรรมะ ที่ท่านกล่าวออกมาซึ่งล้วนแต่มีเหตุผลที่แปลกใหม่ ยังไม่เคย ได้ยินได้ฟังมาจากที่อื่นเลย โดยเฉพาะกับเจ๊กไฮผู้เป็นเจ้าภาพยิ่งมีความปลื้มปีติมากกว่าเพื่อน เพราะสิ่งที่เขาได้ทำไปแล้วนั้นเป็นสิ่งที่ ถูกต้องเป็นที่พออกพอใจของครูบาอาจารย์ที่เขาเคารพเลื่อมใส จึงเป็นที่ตรึงตราใจของเขาไปจนตลอดสิ้นชีวิตและได้เป็นเรื่องเล่าขาน กันมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

ที่มา Trader Hunter พบธรรม

การทำบุญที่ ท่านพระอาจารย์มั่นฯ สรรเสริญ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์