พระพุทธเจ้าสอนอริยสัจจ์ นี่ครอบคลุมคำสอนทั้งหมดของท่าน

หลวงพ่อปราโมทย์: เรียนธรรมะเรียนง่ายๆนะ เรียนแบบเป็นกันเอง สมัยพุทธกาลนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ก็สอนธรรมะได้ อยู่ที่ไหนก็พูดกันได้ธรรมะ ธรระมจริงๆเป็นเรื่องธรรมดาๆ ไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนอะไร ฆราวาสก็ทำได้นะ ฆราวาสทำให้ถึงมรรคผลนิพพาน ไม่ใช่เรื่องที่ว่าเหลือวิสัยทำไม่ได้ แต่ว่าต้องจริงจังหน่อย แต่จริงจังก็ไม่ได้จริงจังแบบวัวแบบควายนะ เอาแรงเข้าทุ่ม ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าสอนหลักไว้แล้ว เราจะมาทำนอกหลักพระพุทธเจ้าแล้วก็จะบรรลุอะไรอย่างนี้ เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องเรียนเสียก่อนว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร

พระพุทธเจ้าสอนอริยสัจจ์ นี่ครอบคลุมคำสอนทั้งหมดของท่าน อริยสัจจ์มีเรื่องทุกข์ คำว่าทุกข์ก็ไม่ได้แปลว่าความทุกข์ ต้องเรียนนะ ทุกข์ไม่ได้แปลว่าความทุกข์ สิ่งที่เรียกว่าทุกข์คือกายกับใจ ท่านบอกว่า สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา ว่าโดยสรุปขันธ์ ๕ คือตัวทุกข์ ทุกข์ให้ทำอะไร ทุกข์ให้รู้ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราเนี่ย รู้กายรู้ใจลงไปเรื่อยๆ ไม่ได้ทำอย่างอื่นกับกายกับใจนะ หน้าที่คือรู้กายรู้ใจ ถ้าเรารู้กายรู้ใจแจ่มแจ้งเนี่ยถึงจะละอวิชาได้ อวิชาคือความไม่รู้ทุกข์นั่นเอง คือไม่รู้ว่ากายกับใจนี้เป็นตัวทุกข์ เราไปคิดว่ากายกับใจเป็นตัวเรา เป็นตัวดีตัววิเศษ แต่ถ้าเรามาเจริญสติรู้กาย เจริญสติรู้ใจ รู้มากเข้าๆเราจะเห็นเลย ทั้งกายทั้งใจนี้ตัวทุกข์ล้วนๆ พอมันเห็นกายเห็นใจเป็นตัวทุกข์แจ่มแจ้งปุ๊บ สมุทัยจะเป็นอันถูกละอัตโนมัติเลย ฉะนั้นรู้ทุกข์เมื่อไหร่ สมุทัยถูกละเมื่อนั้น จำไว้นะ ไม่ใช่ว่าละสมุทัยเมื่อไหร่ พ้นทุกข์เมื่อนั้นนะ ธรรมะมันคนละระดับกัน
พวกเราเรียนธรรมะมันมีหลายขั้นตอน อย่างคนทั่วๆไปเนี่ย สมุทัย คนทั่วๆไปเห็นว่า ถ้ามีความอยากแล้วไม่สมอยากแล้วจะทุกข์ ถ้าสมอยากแล้วไม่ทุกข์ เนี่ยคนทั่วๆไปเห็นได้แค่นี้ ตื้นมากเลย ถ้ามีความอยากแล้วก็ไม่สมอยากแล้วทุกข์ นักปฏิบัติจะละเอียดขึ้นมาหน่อย เห็นว่าถ้ามีความอยากเมื่อไรก็มีความทุกข์เมื่อนั้น จะสมอยากหรือจะไม่สมอยาก แค่มีความอยากขึ้นมาจิตก็เริ่มดิ้นรน มันจะดิ้นนะ หมุนติ้วๆ ทำงานขึ้นมา เพราะฉะนั้นทันทีที่เกิดความอยากความทุกข์ก็เกิด แล้วก็เลยคิดว่า ถ้าไม่อยากเนี่ยความทุกข์ก็ไม่มี กายกับใจนี้ก็ไม่ทุกข์ ถ้าอยากแล้วจิตใจจะมีความทุกข์ขึ้นมา อย่างนี้ก็เรียกว่ายังไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์จริง ถ้ารู้แจ้งอริยสัจจ์จะรู้เลยว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์ อย่างจิตใจของเราเป็นตัวทุกข์โดยตัวของมันเอง จะมีความอยากหรือจะไม่มีความอยากมันก็ทุกข์โดยตัวของมันเอง
ธรรมะลึกมากนะ แต่เดิมเราไม่เข้าใจธรรมะอย่างนี้ เราก็ดิ้นรนแสวงหาไปเรื่อยๆ ทำอย่างไรจิตใจของเราจะมีความสุขถาวร ทำอย่างไรเราจะดีถาวร ทำอย่างไรจิตจะสงบถาวร เนี่ยเราเที่ยวค้นหา จิตที่ดีถาวร สุขถาวร สงบถาวร ซึ่งมันไม่มีในโลกนี้ มันมีแต่ของไม่เที่ยง มันมีแต่ของเป็นทุกข์ มันมีแต่ของบังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเรา เราจะไปหาอะไรที่บังคับให้ได้ ควบคุมให้ได้ แล้วมีความสุขด้วย เป็นตัวเราด้วย เราไปหาสิ่งซึ่งไม่มี เพราะฉะนั้นการดิ้นรนค้นคว้า ที่ภาวนา ที่ปฎิบัติกันนั้นน่ะ ที่มุ่งเอาความสุข ความสงบ ของจิตของใจนี่นะ ไม่มีทางละอวิชาได้เลย
ท่านอาจารย์มหาบัวท่านวิจารณ์บอกว่า ภาวนาแบบนี้นะ กิเลสหนังไม่ถลอกเลย ไม่ถลอกจริงๆนะ ไม่ใช่แกล้งว่า เพราะอะไร เพราะมันภาวนาตอบสนองกิเลส ภาวนาเพื่อว่าวันหนึ่ง “กู”จะได้มีความสุขถาวร “กู”จะดีถาวร “กู”จะสงบถาวร ไปภาวนาเอาของซึ่งไม่มี เพราะว่าปัญญาเรายังไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์
ถ้ารู้แจ้งอริยสัจจ์นี้นะจะเห็นเลย ทั้งกายทั้งใจตัวทุกข์ล้วนๆ ถ้าเห็นอย่างนี้ มันจะหมดสมุทัย หมดความอยากโดยอัตโนมัติ ตัณหามันจะเป็นอะไร้ ตัณหามันก็แค่ว่า อยากให้กายให้ใจมีสุข อยากให้กายให้ใจพ้นทุกข์ ตัณหามันก็มีอยู่เท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้นเมื่อใดเราเห็นกายเห็นใจนี้ทุกข์ล้วนๆ ไม่ใช่ทุกข์บ้างสุขบ้าง ถ้าเห็นอย่างนี้นะ ตัณหาจะถูกละอัตโนมัติ ไม่เกิดขึ้นมา ทันทีที่ตัณหาไม่เกิด จิตใจก็เข้าถึงสันติสุขในฉับพลันนั้นเลย สันติสุขก็คือนิพพาน หรือก็คือนิโรธนั่นเอง ตัวสันตินั้นแหละ ตัวนิโรธ ตัวนิพพาน เมื่อไรจิตหมดตัณหาจิตก็หมดความดิ้น จิตที่หมดความดิ้นรนก็มองเห็นธรรมะที่ไม่ดิ้นรนคือนิพพานปรากฎอยู่ต่อหน้าต่อตา
ในขณะที่รู้ทุกข์แจ่มแจ้งจนกระทั่งละสมุทัยแจ้งนิโรธ ในขณะนั้นแหละเรียกอริยมรรค เพราะฉะนั้น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เกิดขึ้นในขณะจิตเดียวกัน ไม่ใช่ว่ารู้ทุกข์วันหนึ่ง ละสมุทัยวันหนึ่ง แจ้งนิโรธวันหนึ่ง ไม่ใช่ เกิดในขณะจิตเดียว
สวนสันติธรรม

พระพุทธเจ้าสอนอริยสัจจ์ นี่ครอบคลุมคำสอนทั้งหมดของท่าน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์