กรรม! เชื่ออย่างไรให้ไม่งมงาย


กรรม! เชื่ออย่างไรให้ไม่งมงาย

เราคงได้ยินคำว่ากรรมอยู่บ่อยๆ ทั้งตัดกรรมใหม่ หนทางเลี่ยงกรรม ตัดกรรมหนักตามรังควาน ไขรหัสบุญ เปลี่ยนรหัสกรรม 99 วิธีแก้กรรมด้วยตนเอง ฯลฯ 

วันนี้เราจะพามาทำความเข้าใจเรื่องกรรมให้ถูกต้อง เพื่อเป็นหลักในการพินิจพิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต


ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ "กรรม"

ศาสตราจารย์พิเศษเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต นักวิชาการทางด้านศาสนาพุทธและภาษาบาลี กล่าวว่า หลักกรรมเป็นหลักคำสอนสำคัญในพระพุทธศาสนา แต่น่าประหลาด เรากลับเข้าใจไม่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ จะว่าผิดโดยสิ้นเชิงก็ไม่ใช่ แต่ว่าไม่ถูกต้องสมบูรณ์ ซึ่งความเข้าใจผิดที่ว่านี้คือ

คนไทยส่วนมากเข้าใจว่า กรรมคือผลของความชั่วร้ายที่เราได้กระทำแต่ชาติปางก่อน บันดาลให้เราได้มาเกิด มาเป็น อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เรื่องร้ายๆ และเรื่องใหญ่ๆ เท่านั้นจึงเรียกว่ากรรม เรื่องเล็กน้อยไม่เรียกว่ากรรม ส่วนผลของความดีที่ทำไว้แต่ชาติปางก่อนเราไม่เรียกว่ากรรม กลับเรียก "บุญ" จึงมักมีคำพูดว่า "บุญทำ กรรมแต่ง" หรือ "แล้วแต่บุญแต่กรรม"

ความจริง คือ กรรมมิใช่ผล แต่เป็นเหตุ มิใช่เรื่องที่ล่วงไปแล้ว แต่เป็นเรื่องปัจจุบัน มิใช่เรื่องเลวร้ายอย่างเดียว เรื่องดีๆก็เป็นกรรมด้วย และมิใช่เรื่องใหญ่ๆ อย่างเดียว เรื่องเล็กๆก็เป็นกรรมด้วย

กรรม คือ การกระทำทางกาย วาจา และใจ ที่มีเจตนาเป็นตัวนำ เราตั้งใจทำ พูด คิดสิ่งใด ทั้งในแง่ดีและไม่ดี ก็เรียกว่ากรรม ถ้าเป็นกรรมดีก็เรียกว่า "กุศลกรรม" หรือ "บุญ" ส่วนกรรมไม่ดีก็เรียกว่า "อกุศลกรรม" หรือ "บาป"

 

ตกลงแก้กรรมได้ไหม?

ความเข้าใจผิดอีกอย่างหนึ่งคือชาวพุทธหลายคนมักเชื่อกันว่า กรรมเป็นกฎตายตัวที่แก้ไขไม่ได้ ทางเดียวที่ทำได้คือยอมรับสภาพหรือ "ปลงเสียเถอะ" หรือ "เป็นกรรมของสัตว์" เช่น เกิดมายากจน ก็ยอมรับสภาพว่าเราทำกรรมไม่ดีไว้ มาชาตินี้จึงจน แล้วก็ยอมรับสภาพอยู่อย่างนั้น ไม่คิดแก้ไข พัฒนาให้ดีขึ้น มีแต่ทอดอาลัย งอมืองอเท้า

ความจริงแล้วพระพุทธเจ้าสอนให้ยอมรับความจริง แต่ไม่ให้ยอมรับสภาพ ดังนั้นผู้ที่เข้าใจหลักกรรมถูกต้อง เมื่อรู้ว่าความจริงเป็นเช่นนี้ ย่อมจะต้องพยายามอุตสาหะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก นี่แหละถึงเรียกว่าการแก้กรรม หรือการแก้ไขการกระทำของเรานั่นเอง

นอกจากนี้ พระไพศาล วิสาโล ยังกล่าวว่า กฎแห่งกรรมนั้น พระพุทธเจ้านำมาตรัสสอนเพื่อส่งเสริมให้ผู้คนทำความดีและมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น แต่หากนำกฎแห่งกรรมมาใช้ในทางที่ผิดหรือด้วยความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ก็กลายเป็นการส่งเสริมความเห็นแก่ตัว ไร้น้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ที่ทุกข์ยาก ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างกรรมใหม่ที่ไม่ดี ดังที่มีคนจำนวนไม่น้อยนิ่งดูดายเมื่อเห็นผู้อื่นประสบทุกข์ ( ทั้ง ๆ ที่คนนั้นอาจเป็นพี่น้องของตนด้วยซ้ำ) โดยให้เหตุผลว่า หากไปช่วยเขาจะกลายเป็นการแทรกแซงกรรมของเขา หรือทำให้เจ้ากรรมนายเวรของเขามาเล่นงานฉันแทน ผู้ที่คิดเช่นนี้หารู้ไม่ว่า การเฉยเมยนิ่งดูดายเช่นนั้น แท้ที่จริงก็คือการสร้างกรรมใหม่นั่นเอง และเป็นกรรมที่ไม่ดี อันมีวิบากซึ่งตนต้องรับในอนาคต

ในแง่หนึ่ง เรื่องราวของการตัดกรรม แก้กรรม อาจเป็นเรื่องเหลือเชื่อสำหรับใครหลายคน แต่ในอีกแง่หนึ่ง เรื่องราวเหล่านี้ก็ช่วยเตือนให้เราไม่ประมาทและรีบทำกรรมดีตั้งแต่วันนี้ เดี๋ยวนี้

ดังพระคติธรรมจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่ว่า เหมือนวิ่งหนีผู้ร้ายที่วิ่งไล่ตามมา ถ้ามีกำลังแข็งแรง วิ่งเร็วกว่าผู้ร้าย ก็ยากที่ผู้ร้ายจะไล่ทัน ความแข็งแรงของผู้วิ่งหนีกรรมก็หาใช่อะไรอื่น คือความเข้มแข็งสม่ำเสมอของการทำกรรมดีนั่นเอง



ขอบคุณ : goodlifeupdate


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ดูดวง เลขบัตรประชาชน คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์